xs
xsm
sm
md
lg

กระตุ้นศก.ไม่กระเตื้อง คนหันพึ่งโรงจำนำเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,133 ราย เพื่อติดตามผลของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน เพื่อเพิ่มรายได้และกำลังซื้อให้กับผู้มีรายได้น้อย พบว่าโครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ได้มีการรับเช็คไปแล้ว 93% จากวงเงินงบประมาณ 18,970 ล้านบาท ขณะที่โครงการจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุ คนละ 500 บาท ต่อเดือน ช่วยเพิ่มโอกาสให้มีผู้ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น 40% และได้จ่ายเงินไปแล้ว 15% จากวงเงิน 9,000 ล้านบาท
ขณะที่โครงการจ่ายเงินให้กับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ได้จ่ายเงินไปแล้ว 26.6% จากวงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจระบุว่าพึงพอใจกับมาตรการของรัฐบาล โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่ต้องการนำเงินที่ได้ไปเก็บออมเต็มทั้งจำนวน
นอกจากนี้ ยังได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างจากการใช้ประโยชน์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 63.6 % ได้ใช้ประโยชน์จากโครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน ส่วนใหญ่ใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาฟรี ส่วนที่ใช้รถเมล์ และรถไฟฟรี มีประมาณ10% ส่วนที่ซื้อสินค้าราคาถูก มีประมาณ 15.8% ขณะที่โครงการเรียนฟรี 15 ปี พบว่าจากกลุ่มสำรวจที่ได้รับสิทธิ์จำนวน 1,087 ราย ได้รับเงินแล้ว 866 ราย โดยบางส่วนโรงเรียนจะจ่ายให้เมื่อเปิดเทอม
อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งหมดยังมีข้อจำกัดทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง เช่น น้ำไ ฟ ไม่ครอบคลุมผู้อยู่หอพัก บ้านเช่า ขณะที่ผู้ใช้บริการรถไฟรี รถเมล์ฟรี และการจำหน่ายสินค้าราคาถูก ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองเป็นต้น
ส่วนผลการสำรวจของมาตรการทางอ้อม เพื่อช่วยสร้างงานและพัฒนาศักยภาพ พบว่าส่วนใหญ่พอใจกับโครงการชุมชนพอเพียง เพราะตรงกับความต้องการของประชาชน ขณะที่โครงการต้นกล้าอาชีพนั้น มีจำนวนน้อยที่ได้รับการฝึกอบรม โดยอาจมาจากระบบการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง และขาดความคล่องตัวในการเข้าสู่ระบบ
นอกจากนี้ ผลจากที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก ทำให้ประชาชนขาดสภาพคล่องจนต้องหันพึ่งโรงรับจำนำเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการพึ่งพาเงินทุนนอกระบบ โดยเฉพาะในช่วงใกล้เปิดเทอม ที่บรรดาผู้ที่มีอาชีพรับจ้าง พ่อบ้านแม่บ้าน พ่อค้าแม่ค้า ข้าราชการ และนักศึกษา จะนำของมีค่าเข้าไปใช้บริการ ซึ่งพบว่ามูลค่าทรัพย์สินที่จำนำมีมากถึง 106,700 ล้านบาท โดยทองคำ เป็นสิ่งของที่มีการนำมาจำนำมากที่สุด รองลงมาคือ เครื่องประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์จำนำที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการขาดสภาพคล่องของครัวเรือน โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยกู้ จึงทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนลำบาก และแม้ว่าจะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้น จากการเติบโตของสินเชื่อเงินสด แต่โรงรับจำนำยังมีการเติบโตค่อนข้างสูง เพราะขั้นตอนอนุมัติไม่ยุ่งยาก และมีดอกเบี้ยไม่แพงไม่ต้องใช้เอกสาร ไม่มีค่าธรรมเนียมในการกู้ และบางครั้งยังต่อรองได้
อย่างไรก็ตามในส่วนของโรงรับจำนำของรัฐ ได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด โดยลดดอกเบี้ยสำหรับสิ่งของที่นำมาจำนำเพื่อการศึกษา และลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยลดดอกเบี้ยจาก 12-15% ต่อปี เป็น 6-10% ต่อปี และมีต้นทุนในการกู้ยืมต่ำกว่าสินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อเงินสดที่มีดอกเบี้ยประมาณ 20% ต่อปี ล่าสุดพบว่ามีโรงรับจำนำทั้งของรัฐ และเอกชนทั่วประเทศรวม 549 แห่ง แยกเป็นในกทม. 257 แห่ง และต่างจังหวัด 292 แห่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น