xs
xsm
sm
md
lg

เด็กผู้หญิงเก่งเลขพอกับเด็กผู้ชาย งานวิจัยชี้ขอเพียงโอกาสเท่าเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยชี้เด็กผู้หญิงเก่งเลขพอๆ กับเด็กผู้ชาย หากได้รับโอกาสและการส่งเสริมในระดับเดียวกัน
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารโปรซีดดิ้งส์ ออฟ เดอะ เนชันแนล อะคาเดมี ออฟ ไซนส์ ตรงกันข้ามกับการศึกษาก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าเด็กผู้หญิงทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้ดีเท่ากับเด็กผู้ชายเฉพาะคะแนนในระดับปานกลางเท่านั้น
ผลการศึกษาล่าสุดยังขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับความเห็นของลาร์รี ซัมเมอร์ส เมื่อปี 2005 ขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดว่า ความแตกต่างทางชีวภาพเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่าเหตุใดจึงมีศาสตราจารย์สาขาคณิตศาสตร์ที่เป็นผู้หญิงเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น
“เราสรุปว่าความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นเหตุผลหลักที่อธิบายว่าเหตุใดจึงมีผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ในประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ไม่ใช่การขาดความสามารถที่มีมาตั้งแต่เกิดหรือความถนัดตามธรรมชาติแต่อย่างใด” เจเน็ต ไฮด์ และเจเน็ต เมิร์ตซ์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐฯ ระบุในรายงาน
ไฮด์และเมิร์ตซ์วิเคราะห์สถิติโดยเปรียบเทียบคะแนนคณิตศาสตร์และการแข่งขันในดัชนีช่องว่างทางเพศของเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ประจำปี 2007 ซึ่งมีการจัดอันดับประเทศต่างๆ ตามโอกาสทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การศึกษา การเมืองและสถานะสุขภาพ
ผลปรากฏว่าสหรัฐฯ อยู่อันดับ 31 จาก 128 ชาติในดัชนีของดับเบิลยูอีเอฟ
“เราตั้งคำถามว่าผู้หญิงทำคะแนนในระดับปานกลาง ระดับสูงคือ 95% ขึ้นไป และระดับสูงสุดซึ่งหมายถึงคนเก่งประเภทหนึ่งในล้านได้ดีแค่ไหนเมื่อเทียบกับผู้ชาย
“ประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศเป็นประเทศที่สัดส่วนเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ได้ใกล้เคียงกันมากที่สุด” เมิร์ซแจงและว่า ไม่มีใครคัดค้านเรื่องที่ว่าเด็กผู้หญิงทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ในระดับปานกลางได้ดีพอๆ กับเด็กผู้ชาย แต่ที่ระดับสูงสุด ความแตกต่างยังคงปรากฏอยู่ และผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าเป็นเรื่องของทฤษฎีความแปรปรวนสูงของเพศชาย ซึ่งหมายถึงการที่เด็กผู้ชายโดยรวมมีแนวโน้มทำคะแนนได้ทั้งดีกว่าและแย่กว่าเด็กผู้หญิงมาก
เมิร์ซเสริมว่า การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีและความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะไม่ใช่ว่าทุกประเทศทั่วโลกมีเด็กผู้หญิงที่มีทักณะคณิตศาสตร์ระดับหัวกะทิน้อยกว่าเด็กผู้ชาย
หากความแตกต่างมาจากเหตุผลด้านชีววิทยา เมิร์ซยืนยันว่าปรากฏการณ์นี้จะต้องเกิดขึ้นในทุกที่
“การวิเคราะห์ข้อมูลจากนักเรียนอายุ 15 ปีที่เข้าร่วมโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติในปี 2003 พบว่ามีเด็กหญิงที่ทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้เกิน 97% มากพอๆ กับเด็กชายในไอซ์แลนด์ ไทย และสหราชอาณาจักร
การทดสอบระหว่างประเทศของอีกหลายสถาบันได้ผลในแนวทางเดียวกัน ซึ่งรวมถึงคณิตศาสตร์โอลิมปิก
“ถ้าเด็กผู้หญิงไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม หรือถ้ารู้ว่าเรียนวิชาใดแล้วจะไม่สามารถนำไปใช้สมัครงานได้ พวกเธอก็จะหันไปสนใจวิชาอื่น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว” เมิร์ซสำทับ
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์นี้กำลังเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ ตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ ที่มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่เป็นผู้หญิงเพียง 14% ในปี 1970 แต่ตัวเลขเพิ่มเป็น 49% ในปี 2006 ขณะที่ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ สัดส่วนผู้หญิงที่จบด็อกเตอร์มีเพียง 8% ในปี 1970 และเพิ่มเป็น 32% เมื่อสามปีที่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น