xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติไทย-มาเลย์ตอกมูดี้ส์ถ้าส่งสัญญาณผิดฉุดธนาคารทำงานลำบาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ธนาคารกลางไทย-มาเลเซียหารือร่วมกันประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและระบบการเงินในปัจจุบัน ตอกมูดี้ส์ฯ ส่งสัญญาณผิดอาจส่งผลให้สถาบันการเงินทำงานอย่างมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ฟุ้งระบบการเงินและการธนาคารมีความมั่นคงสามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคเศรษฐกิจเพียงพอ พร้อมทั้งจับมือระดับทวิภาคีศึกษาแนวทางใหม่ด้านธุรกรรมของสถาบันการเงินร่วมกัน

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พร้อมด้วยนางเซติ อัคตาร์ อาซิซ ผู้ว่าการธนาคารมาเลเซีย ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมทวิภาคีประจำปีระหว่างผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางทั้งสองประเทศ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยในการประชุมครั้งนี้ เพื่อประเมินและทบทวนสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินในปัจจุบัน รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ประสบการณ์ การดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆเพื่อดูแลผลกระทบของวิกฤตการเงินโลก และการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศทั้งสองและภูมิภาคเอเชีย

นางธาริษา กล่าวภายหลังจากการหารือร่วมกัน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ธนาคารกลางทั้งสองประเทศต่างมีความเห็นตรงกันว่า แนวทางที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการประเมินความสามารถของรัฐบาลที่จะให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินนั้นอาจเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องต่อสาธารณชน และทำให้สถาบันการเงินดำเนินงานอย่างมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

โดยก่อนหน้านี้ นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.ออกมาโต้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ไทย 9 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอีก 2 แห่งว่า ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือว่า การทบทวนเครดิตดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของภาคสถาบันการเงิน

เพราะปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคง แต่เกิดจากการเปลี่ยนวิธีการจัดอันดับของมูดี้ส์ที่ให้น้ำหนักภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินในยามที่จำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า AAA และที่ผ่านมามีประเทศที่ถูกประเมินด้วยเหตุผลนี้มีอยู่ 2-3 ประเทศ จึงไม่มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น

โดยระบุอีกว่า หากมูดี้ส์ตั้งคำถามว่าการเข้าไปช่วยเหลือภาครัฐต่อสถาบันการเงินไทยน้อยเมื่อหนี้พุ่งสูงขึ้น ถือว่าไม่ใช่ประเด็น เพราะขณะนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถดำเนินงานได้อย่างปกติ ด้านฐานะเองก็ความแข็งแกร่ง คือ มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึง 14.9% ณ สิ้นเดือนมี.ค.แม้เศรษฐกิจชะลอตัวมาก ซึ่งติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน แต่ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ไม่ได้เร่งสูงนัก และสภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสัดส่วนการพึ่งพาเงินกู้จากจากต่างประเทศยังน้อย และหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)อยู่ในระดับต่ำ จึงไม่จำเป็นภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ในระบบแต่อย่างใด

“ขณะนี้ในภาวะปัจจุบันเป็นเรื่องปกติที่นานาประเทศมีการใช้จ่ายมากและกู้ยืมเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสูงตาม ซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้อาจน้อยลงไป แต่ขณะนี้การเป็นหนี้ของรัฐบาลไทยไม่ได้สูง จึงไม่เกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม หากมูดี้ส์ฯ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม แบงก์ชาติยินดีจะให้เพราะเราอยากเห็นการตัดสินใจที่ดีภายใต้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหตุผลที่ดี”

อย่างไรก็ตาม ธปท.คาดว่ามูดี้ส์จะใช้เวลาในการสรุปผลของข้อมูลต่างๆ ประมาณ 2-3 อาทิตย์ หากถ้าท้ายสุดแล้ว มูดี้ส์ฯ มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจริง ธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลกระทบแค่จำกัดเท่านั้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีการระดมทุนภายในประเทศเป็นสำคัญ ส่วนการพึ่งพาเงินกู้นอกต่างประเทศมีน้อยมาก

ทั้งนี้ สถาบันการเงินในระบบจำนวน 11 แห่งดังกล่าว ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย กรุงไทย ไทยพาณิชย์ ทหารไทย นครหลวงไทย สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) และธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์ ขณะเดียวกันมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีก 2 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ในส่วนของระบบการเงินและการธนาคารของทั้งสองประเทศในขณะนี้มีความมั่นคงและแข็งแกร่ง สามารถที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างเพียงพอ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบการเงินมีความแข็งแกร่ง และสามารถรองรับผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ และดำเนินงานได้ตามปกติ คือ สถาบันการเงินต้องมีฐานะการเงินที่มั่นคง มีเงินกองทุนที่เพียงพอ มีการบริหารจัดการความเสี่ยงและธรรมาภิบาลที่ดี

นอกจากนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางทั้งมาเลเซียและไทยเห็นร่วมกันว่าควรเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเงินในระดับทวิภาคีและการร่วมกันศึกษาแนวทางใหม่ๆ ด้านธุรกรรมของสถาบันการเงินให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าของประเทศไทยและประเทศมาเลเซียให้ดียิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น