รายงาน
เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดนราธิวาส เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงตรวจเยี่ยมรับฟังปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ สำนักงานอบต.โคกเคียน บ้านโคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ในโอกาสนี้พวกเขาได้สะท้อนรูปธรรมความเดือดร้อน 5 ประเด็นใหญ่ คือ ไม่สามารถทำประมงได้ตลอดปี, จับสัตว์น้ำได้น้อยลง น้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้น, ปัญหาวาตภัยและคลื่นซัดชายฝั่งบ้านเรือนเสียหาย, ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และเครื่องมือประมงชำรุดจากแนวปะการังเทียมในทะเล
ประเด็นความฝืดเคืองหาปูปลาได้น้อยลง ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะทรัพยากรในท้องทะเลเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญในการดำรงอยู่ของชุมชนประมงพื้นบ้าน ผืนน้ำที่หาอยู่หากินของชาวประมงพื้นบ้านเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตฐานรากจุนเจือชุมชนมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพวกเขาจึงเพียรพยายามร่วมกันแสวงหาหนทางฟื้นท้องทะเลให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง พร้อมกับจัดตั้งกองทุนประมงพื้นบ้านเป็นทุนหมุนเวียน
มูหัมมัดสะแปอิน หะยีเซ็ง หรือ แบอิน ประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้านทอน ชุมชนบ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส หนึ่งใน 17 หมู่บ้านประมงริมทะเลในอำเภอเมือง นราธิวาส เล่าว่า ชุมชนบ้านทอนมีกันอยู่ 2,000 กว่าครอบครัว ประชากรประมาณ 6,000 คน ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นพี่น้องมุสลิม เป็นหมู่บ้านชาวประมงที่อาศัยอยู่กันมานับร้อยปี เมื่อก่อนเพียงแต่เดินไปหน้าบ้านไม่กี่ก้าว เราก็จะได้อาหารเพียงพอต่อปากท้องของครอบครัว หรือบางทีอาจได้แจกจ่ายเพื่อนบ้าน เป็นเพราะสมัยก่อนไม่มีเครื่องมือประมงที่ทันสมัยมีเพียงเครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นใช้เองในชุมชน
แต่มาระยะหลังประมาณ 35 ปี อาชีพการทำประมงก็เริ่มฝืดเคือง เมื่อมีเรืออวนรุน อวนลาก นำเครื่องมือที่ทำลายล้างสูงลักลอบเข้ามาจับสัตว์น้ำในเขตประมงพื้นบ้าน ทำให้ปะการังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำถูกททลาย จ นเกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อการดำรงวิถีชีวิตของสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปู ปลา นานาชนิดได้ลดน้อยถอยลง ทำให้ชาวประมงจึงมีหนี้สินดิ้นไม่หลุดมาหลายสิบปี บางครอบครัวต้องออกไปหางานทำยังต่างถิ่น ไปเป็นคนงานล้างจานในร้านอาหาร คนงานสวนยางพารา เป็นลูกเรือประมงในมาเลเชีย การละทิ้งอาชีพดั้งเดิมไปใช้ชีวิตเป็นแรงงานในต่างถิ่น เพื่อรับค่าตอบแทนรายเดือน เพราะเขาไม่มีทางเลือก
แบอิน เล่าต่อว่า การที่จะหลุดพ้นจากหนี้สินได้ก็ด้วยการรวมกลุ่มกันต่อสู้ เพราะเราจะพึ่งพิงรัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ จึงต้องแก้ปัญหาโดยการรวมตัวกันของคนในชุมชน โดยมีการรวมกลุ่มกันในราวปี 2539 จำนวน 4-5 คน ทำความเข้าใจกับคนในชุมชนในเรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล การทำซังแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น วางแนวเขตอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล รวมทั้งให้องค์กรและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง สุดท้ายคนบ้านทอนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกทั้งชุมชนไม่เว้นแม้ครอบครัวที่ไม่ใช่ชาวประมง ร่วมกันทำกิจกรรม รณรงค์ แก้ปัญหาของชาวประมงอย่างต่อเนื่อง
“ชุมชนเห็นว่าถ้าทรัพยากรถูกจัดการอย่างเป็นธรรม ไม่มีเครื่องมือทำลายล้าง การทำประมงแบบพื้นบ้านก็จะไม่ยากจน และสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีได้”
การรวมกลุ่มประมงพื้นบ้านเพื่อแก้ปัญหาและสร้างภาคีประสานการทำงานกับเจ้าหน้าที่ทำงานฟื้นฟูทะเลและทรัพยากรชายฝั่งที่กำลังเสื่อมโทรมด้วยวิธีการจัดชุดลาดตระเวนปราบปรามเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย การจัดตั้งเขตอนุรักษ์ การพัฒนาคุณภาพชีวิต กระทั่งปี 2543 กลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านทอนได้มีการพบปะกันของแกนนำชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี แกนนำเหล่านั้นตกลงขยายผลด้วยการจัดตั้งเป็น “เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน” ขึ้นมา และเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน 14 จังหวัดภาคใต้ ในเวลาต่อมาเพื่อสร้างกระบวนการการเรียนรู้ในระดับพื้นที่สู่ระดับเครือข่าย ระดับภาค เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ
ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาสู่ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านแห่งนี้มีความรุนแรงขึ้นทุกวันซึ่ง นายฮาซัน มามะ เลขานุการเครือข่ายประมงพื้นบ้านบ้านทอน ให้ความเห็นว่า ปัญหาที่ถาโถมมาสู่ชุมชนกลับกลายเป็นสิ่งจูงใจชักชวนให้ชาวชุมชนได้มาร่วมกันคิด ร่วมวางแผน ร่วมเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเพื่อเป็นการลดภาระของชาวประมงในพื้นที่ จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนออมทรัพย์สำหรับชาวประมง เพื่อให้ชาวประมงในพื้นที่ยืมเงินไปเป็นทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ย และไม่จำกัดเวลา ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 56 ครัวเรือนที่มากู้กับกองทุน เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในครัวเรือน นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้ชาวประมงหันมาประกอบอาชีพเสริมแทนการออกเรือ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในเบื้องต้นอีกทางหนึ่งด้วย
ชุมชนยังร่วมกันจดทะเบียนเรือ เพื่อเป็นหลักฐานและฐานข้อมูลในชุมชน การพยายามให้ชาวบ้านเล็งเห็นความสำคัญ เพราะต้องการให้เป็นเกราะป้องกันหากเกิดเรืออับปางขึ้น ชาวบ้านจะเรียกร้องความเสียหายได้ และมีการตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือหาปลา ค่าน้ำมัน
นายฮาซัน เล่าต่ออีกว่า ในช่วงปี 2550 มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้ามาทำงานร่วมกันกับชาวบ้านมาช่วยเรื่องการจัดขบวน การจัดเก็บข้อมูล และสนับสนุนทุนหมุนเวียนชุมชนละ 100,000 บาท จำนวน 81 ชุมชนในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดปัตตานี ทำให้ชาวบ้านมีขวัญและกำลังใจ ที่จะสร้างความยั่งยืนของกองทุนอยู่ที่การพัฒนากองทุนให้เติบโตเลี้ยงตนเองได้ จะทำให้เกิดความต่อเนื่องจะเกิดความยั่งยืนในการแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
ด้านนายอุสะมาน ชาวประมงพื้นบ้านบ้านทอน ที่กำลังกลับมาจากออกทะเลเล่าว่า วันนี้ได้ปลาน้อยมากเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ วัน อาจเป็นเพราะช่วงนี้ลูกเคยลดจำนวนลง ปลาจึงไม่ค่อยเข้ามากินอาหาร แต่ปลาจำนวนเท่านี้เมื่อนำไปขายแล้วสามารถซื้อข้าวเลี้ยงครอบครัวได้ 3-4 วัน ส่วนอาหารก็หามาจากท้องทะเล
นายอุสะมาน เป็นคนหนึ่งที่ได้อาศัยกองทุนประมงพื้นบ้านเช่นกัน เงินที่กู้มาจะนำไปซื้ออุปกรณ์หาปลา เช่น อวน ตราเบ็ด ซ่อมเรือ ซื้อข้าวสาร ฯลฯ ส่วนเวลาส่งคืนเงินจะไม่มีดอกเบี้ย และไม่มีกำหนดระยะเวลา นับว่ากองทุนฯ เป็นการต่อชีวิตให้กับครอบครัวได้มาก
แม้ทุกวันนี้การทำประมงพื้นบ้าน จะไม่ร่ำรวยแต่การได้อยู่บ้านได้อยู่กับครอบครัว ให้ความสบายใจมากกว่า เช้าก็ออกทะเลเย็นก็กลับ ชีวิตอยู่กับทะเล เป็นวิถีที่มีความสุขของชาวชุมชนประมงพื้นบ้านตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง