xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธงวันนี้GMยื่นล้มละลายแน่นอน ‘ไครสเลอร์’ศาลจะให้ล้างไพ่เริ่มใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – นัดชี้ชะตาอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันวันนี้ (1) โดยมีแนวโน้มว่าจีเอ็มจะยื่นขอล้มละลาย ส่วนไครสเลอร์คาดว่าจะได้ไฟเขียวจากศาลให้ขายกิจการให้กลุ่มนักลงทุนที่นำโดยเฟียตจากอิตาลี
อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เคยยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ ประสบวิบากกรรมจากภาวะตลาดซบและวิกฤตเศรษฐกิจโลก กระทั่งคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ต้องเข้าแทรกแซงครั้งใหญ่ป้องกันไม่ให้เจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และไครสเลอร์ล่มสลาย อันจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่เข้าสู่ภาวะถดถอยยิ่งช้ำหนัก โดยแผนอุ้มของวอชิงตันอาจหมายถึงการเข้าถือหุ้นจีเอ็มถึง 72.5%
ด้วยระยะเวลาที่อาจจะเหลืออยู่ไม่กี่ชั่วโมงสำหรับจีเอ็ม พวกผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทรถยนต์ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯแห่งนี้ ในจำนวนรวมกันเกิน 50% ของหนี้หุ้นกู้ 27,200 ล้านดอลลาร์ของจีเอ็ม ก็ได้ออกเสียงในวันเสาร์(30) สนับสนุนแผนการปรับโครงสร้างบริษัท ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์
นิวยอร์กไทมส์บอกด้วยว่า ในบรรดาผู้สนับสนุนเหล่านี้ รวมถึงคณะกรรมการของนักลงทุนรายใหญ่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งครอบครองหุ้นกู้ของจีเอ็มเอาไว้ในราว 20% ด้วย
จวบจนกระทั่งถึงตอนเช้าวานนี้(31) ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการโหวตของพวกผู้ถือหุ้นกู้ ที่ทางจีเอ็มขีดเส้นตายเอาไว้ว่าต้องออกเสียงภายในคืนวันเสาร์
ตามแผนการที่จีเอ็มเสนอล่าสุด หากผู้ถือหุ้นกู้ยอมรับการแปลงหุ้นกู้ให้เป็นหุ้นสามัญของจีเอ็มใหม่หลังการปรับโครงสร้าง นอกจากพวกเขาจะได้หุ้นจีเอ็มใหม่เป็นจำนวน 10% แล้ว ยังจะได้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มอีก 15% ในราคาต่ำ ทั้งนี้ภายหลังจีเอ็มใหม่ผ่านกระบวนการคุ้มครองจากศาลล้มละลาย
ในทางกลับกัน เจ้าหน้าที่ในคณะรัฐบาลโอบามาชี้ว่า หากผู้ถือหุ้นกู้ไม่ยอมรับแผนการนี้ และเลือกการเผชิญหน้าเรียกร้องให้จีเอ็มชำระหนี้ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลล้มละลาย ก็มีหวังจะไม่ได้อะไรติดมือกลับบ้านหรือได้แค่น้อยมาก
การปรับโครงสร้างของจีเอ็มในศาลล้มละลาย โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนั้น ดูเหมือนเป็นเรื่องที่แน่นอนแล้ว ก่อนถึงเส้นตายวันจันทร์ (1) ที่ทำเนียบขาวกำหนดให้จีเอ็มต้องส่งแผนปรับโครงสร้างที่จะทำให้บริษัทอยู่รอดต่อไปได้ หรือไม่ก็ยื่นล้มละลาย
ขณะเดียวกัน เป็นที่คาดว่าศาลล้มละลายในนิวยอร์กจะอนุมัติข้อตกลงระหว่างไครสเลอร์กับเฟียตในวันจันทร์เช่นกัน
บริษัทรถอันดับ 3 ของเมืองลุงแซมแห่งนี้ประกาศล้มละลายและพยายามดึงเฟียตร่วมแผนที่ถือเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยให้บริษัทรอดพ้นจากการถูกชำระบัญชีนำทรัพย์สินออกมาขายทอดตลาด
พัฒนาการของไครสเลอร์อาจเป็นตัวอย่างสำหรับการปรับโครงสร้างจีเอ็ม ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นค่ายรถอันดับ 1 ของโลก แต่ตอนนี้จะต้องขายแบรนด์บางส่วนและยุบตัวแทนจำหน่ายจำนวนมาก
เจ้าหน้าที่ในคณรัฐบาลโอบามาเผยว่า กรอบเวลา 60-80 วันจะดีกว่าสำหรับจีเอ็ม ไม่ใช่แค่ระยะเวลาสั้นๆ แบบไครสเลอร์ที่เพิ่งขอล้มละลายเมื่อวันที่ 31 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากจีเอ็มมีขนาดใหญ่กว่าไครสเลอร์ถึงสามเท่า

การยื่นล้มละลายของจีเอ็มอาจทำได้เร็วขึ้น จากข้อตกลงเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ได้ข้อสรุปว่า แม็กนา ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากแคนาดาและผู้สนับสนุนจากรัสเซีย จะเข้าเทกโอเวอร์กิจการของจีเอ็มในยุโรป ที่มีโอเปิลเป็นแบรนด์สำคัญที่สุด
นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ที่ตกลงรับประกันเงินกู้และให้เงินกู้ฉุกเฉินนับพันล้านดอลลาร์เพื่อให้โอเปิลอยู่รอด ยอมรับว่าการเจรจาเกี่ยวกับอนาคตของจีเอ็มในยุโรปค่อนข้างยุ่งยากในบางจุด และในช่วงหนึ่งของกระบวนการเจรจากัน รัฐมนตรีคลังเมืองเบียร์ เพียร์ สไตน์บรูก ถึงขั้นประณามเทคนิคการเจรจาของสหรัฐฯ ว่าน่าละอาย
กระนั้น แม้มีสิ่งที่ผู้นำเยอรมันเรียกว่า ‘การจัดการผิดพลาดครั้งใหญ่’ ของผู้บริหารจีเอ็ม แต่สายตรงจากโอบามาทำให้ข้อตกลงลุล่วงในที่สุด
สำหรับไครสเลอร์นั้น บริษัทใหม่จะแจ้งเกิดภายในไม่กี่วันหลังการอนุมัติสถานะล้มละลาย โดยกระทรวงคลังสหรัฐฯ ได้นำเงิน 6,900 ล้านดอลลาร์จากกองทุนสาธารณะอัดฉีดให้นิว คาร์โค หรือบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ที่จะเข้าซื้อ ‘สินทรัพย์ดี’ ของไครสเลอร์
แต่หากผู้พิพากษาอาร์เธอร์ กอนซาเลซ ไม่อนุมัติแผนของไครสเลอร์ นั่นหมายถึงอนาคตที่มืดมน โดยสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือเฟียตจะหันหลังให้ และปล่อยให้ไครสเลอร์ถูกชำระบัญชีโดยมีการปลดพนักงานจำนวนมาก
ส่วนกรณีที่กอนซาเลซอนุมัติแผน ก็อาจมีการยื่นอุทธรณ์ ทำให้ขั้นตอนต้องล่าช้าออกไป โดยเฟียตยื่นคำขาดไว้แล้วว่าจะถอนตัวหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในกลางเดือนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น