xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ มอ.อัดปชป. ไม่ใส่ใจแก้ปัญหาไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักรัฐศาสตร์หญิงเหล็ก มอ.ปัตตานีวิภาครัฐบาล ปชป.สะท้อนการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้ ชี้ชัดไฟใต้ระลอกใหม่ที่คุโชนมาแล้วกว่า 5 ปียังมืดมนหาหนทางออก อัด ปชป.ไม่แตกต่างจากรัฐบาลอื่นที่ห่วงแต่แก้เสถียรภาพตัวเองเพื่อให้ครองอำนาจได้ยาวที่สุด โดยละเลยไม่ใส่ใจเท่าที่ควรกับปัญหาไฟใต้ แม้จะสร้างภาพดันตั้ง "สบ.ชต." แต่ก็ไม่เปิดให้ ส.ส.และคนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม เผยกาลเวลาพิสูจน์ชัดแล้ว ปชป.ยังอยู่ในวังวนการเมืองน้ำเน่าแบบเก่าที่ไม่นำไปสู่การคลี่คลายวิกฤตไฟใต้ ยันการที่คนใต้ตอบรับพรรคการเมืองของ พธม.ภายใต้กรอบคิดการเมืองใหม่จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

คล้อยหลังจากที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก นำคณะลุยตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับโปรยยาหอมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตไฟใต้ระลอกใหม่มานานกว่า 5 ปีด้วยโครวงการพัฒนาต่างๆ ที่ต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาทนั้น "ASTVผู้จัดการ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ซึ่งถือเป็นนักวิชาการที่เฝ้าจับตามมองวิกฤตไฟใต้และความเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

**ชี้ 5 ปีวิกฤตไฟใต้ยังไร้ทางออก
ผศ.ชิดชนก เปิดเผยว่า 5 ปีที่ผ่านมาของการเกิดเหตุความไม่สงบ ยิ่งมีความสับสนถึงต้นตอผู้บงการก่อเหตุ ตลอดจนเป้าประสงค์ที่แท้จริง ซึ่งเดิมทีเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบที่มีขบวนการที่เข้มแข็งเชื่อมโยงกับกลุ่มภายนอก แต่เมื่อมีการจับกุมผู้กระทำผิดก็ยังสาวไม่ถึงผู้บงการ กลับพบมีความเกี่ยวโยงกับนักการเมืองท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลและปัญหายาเสพติด อีกทั้งการก่อเหตุมีพัฒนาการขึ้นตามลำดับ โดยที่รัฐเป็นฝ่ายตาม การก่อเหตุจึงประสบความสำเร็จ สามารถชิงพื้นที่สื่อ สร้างความปั่นป่วน ทำลายทรัพย์สินและชีวิตของทั้งภาครัฐและประชาชน

"ประชาชนมีความคาดหวังและจับตาการทำงานของรัฐบาลชุดนี้มากกว่ารัฐบาลชุดอื่นๆ ในเรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา แต่ ณ วันนี้ดูเหมือนปัญหานี้จะถูกจัดวางความสำคัญรองจากการแก้ปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลและปัญหาเศรษฐกิจ จนรัฐบาลไม่มีเวลาศึกษาข้อมูลและลงพื้นที่เพื่อศึกษาและทำงานในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง"

ผศ.ชิดชนก กล่าวว่า แม้ปัจจุบันเหตุการณ์จะน้อยลง ด้วยฝ่ายความมั่นคงได้รับนโยบายควบคุมสถานการณ์เข้มข้นขึ้น แต่แนวโน้มการเกิดเหตุก็ยังมีต่อเนื่องและยังมีข้อสังเกตว่าเป็นเพราะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกอบกับกำลังมีการเสริมกำลังตำรวจและทหารจำนวนมากหรือไม่ ที่เป็นอำนาจรัฐกดทับเหตุการณ์อยู่ แล้วถ้ายกเลิกสิ่งเหล่านี้เหตุการณ์จะรุนแรงขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีท่าทีไม่ชัดเจนต่อทิศทางการเข้าแก้ปัญหาความไม่สงบ โดยเฉพาะการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่กระทรวงการต่างประเทศว่า สถานการณ์ทางจังหวัดชายแดนใต้จะต้องคลี่คลายลงและก็คงไม่จำเป็นต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ตลอดจนอาจไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตลอดต่อไป เป็นการส่งสัญญาณต่อประชาชนในพื้นที่ว่าเมื่อพรรคประชาธิปัตย์แกนนำจัดตั้งเป็นรัฐบาลแล้วอาจจะต้องยกเลิกสิ่งเหล่านี้ไป

"แต่สุดท้ายก็มีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาแล้วถึง 2 ครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย.52 ตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกัน ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า ประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนและเสียความน่าเชื่อถือต่อสาธารณชน"

ผศ.ชิดชนก กล่าวต่อว่า หากฟังความเห็นของประชาชนแล้วจะพบว่าส่วนหนึ่งเห็นด้วยที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้ เพราะกระทบต่อภาพลักษณ์และวิถีชีวิตของประชาชน เช่น การถูกเชิญตัวมาสอบสวนทั้งที่ไม่ได้กระทำผิด แม้รัฐจะประกาศว่าถ้าไม่ผิดก็ปล่อยตัวได้ แต่เมื่อถูกเชิญไปสอบสวนก็จะเป็นภาพลบและทำให้สังคมมองบุคคลนั้นเสียหายไปแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้หลายๆ ครั้งก็จะเป็นด้านลบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐในการให้ความร่วมมือได้เช่นกัน

อีกทั้งหากพิจารณาให้ดีจะพบว่า ความร่วมมือของประชาชนต่อภาครัฐแม้จะมีมากขึ้นในห้วง 1-2 ปีมานี้ แต่ก็จะเห็นได้ชัดว่ามาจากภาวะความจำยอมเสียมากกว่า เพราะสถานการณ์ที่ตึงเครียดที่ผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก พี่น้องประชาชนจึงเกิดความเบื่อหน่ายในขณะเดียวกันผู้ที่ให้ความร่วมมือก็มักจะตกเป็นเหยื่อถูกทำร้าย หรือเกิดความหวาดกลัวที่จะเปิดเผยตัวตน

"ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สู้ให้ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านดีกว่า เพราะประชาชนยังให้อภัยได้บ้างว่าเป็นฝ่ายค้านแล้วทำอะไรไม่ได้มาก หลายๆ อย่างที่ประชาธิปัตย์ได้สัญญากับประชาชนผ่านกระบวนการร่างนโยบายหาเสียงในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วกลับไม่คำนึงถึงสิ่งที่สัญญากับประชาชนไว้เลย และไม่ได้ให้ประชาชนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานใดๆ เลย"

**อัด ปชป.ห่วงแต่ต่ออายุรัฐบาล
ผศ.ชิดชนก กล่าวด้วยว่า แนวทางหนึ่งที่รัฐบาลประชาธิปัตย์พยายามผลักดันให้สำเร็จภายในระยะเวลาของการบริหารบ้านเมืองในสมัยนี้คือ การตั้งโครงสร้างสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สบ.ชต.) ขึ้นมาใหม่ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้ภายใต้ชื่อ คณะรัฐมนตรีภาคใต้ สบ.ชต. เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งได้ผ่านการกลั่นกรองทางกฎหมายแล้ว และรอเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในสมัยหน้าเพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

โดยโครงสร้างนี้ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สถานการณ์จะสงบลงได้ แต่จะช่วยให้การทำงานของ ศอ.บต.ให้เข้มแข็งมากขึ้น เพราะมีงบประมาณเป็นของตัวเอง ตลอดจนมีข้าราชการอยู่ในสังกัด ลดการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลบ่อยๆ ซึ่งขาดความต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามก็ยังมีความน่าเป็นห่วงว่าหากโครงสร้างนี้ไม่สามารถผลักดันให้สำเร็จลุล่วงได้ในรัฐบาลชุดนี้ ก็มีสิทธิ์ที่ สบ.ชต.จะถูกยกเลิกแน่นอน ทำให้บุคลากรโดยเฉพาะของ ศอ.บต. ไม่มั่นใจในอนาคตของตนเองว่าจะเป็นอย่างไร อาจจะไม่เต็มร้อยในการตัดสินใจทำโครงการใดๆ และมีผลต่อการพัฒนาในพื้นที่

อีกทั้งการทำงานภายในของประชาธิปัตย์เองก็มีปัญหาที่ไม่เปิดโอกาสให้ ส.ส.ในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพราะว่ารัฐบาลบริหารแบบลอยตัว โดยไม่เอา ส.ส.ในพื้นที่ไปเกี่ยวข้อง หรือประชาชนที่สนับสนุนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ทำให้รู้สึกว่าเป็นอีกจุดหนึ่งที่ประชาชนหมดใจจะให้ความร่วมมือ เพราะให้ความสำคัญกับคนที่ใกล้ชิดกับศูนย์อำนาจของพรรคเท่านั้น นี่คือจุดที่ผิดพลาดใหญ่หลวง ที่หากประชาธิปัตย์แก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ให้ดีกว่ารัฐบาลที่แล้ว สิ่งนี้จะเป็นจุดอ่อนที่ถูกโจมตี เพราะนี่เป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์เอง

"คนส่วนใหญ่ที่เฝ้ามองว่าเมื่อก่อนในสมัยประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านได้โจมตีรัฐบาลชุดก่อนๆ มาก่อนในเรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ แต่เมื่อประชาธิปัตย์ได้มาเป็นรัฐบาลเสียเองแล้วกลับไม่ได้ทำอะไรให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอันที่สร้างความแตกต่างไปจากเดิม ก็แสดงว่าประชาธิปัตย์ยอมจำนนแล้วว่า ข้าราชการของรัฐในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ได้ทำงานได้ดีส่วนหนึ่ง จึงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงข้าราชการชุดเดิมเหล่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะประชาธิปัตย์ก็ไม่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น กล่าวคือเมื่อได้เป็นรัฐบาลก็จะให้ความสนใจต่อเสถียรภาพของรัฐบาลให้อยู่ได้ยาวที่สุด มากกว่าที่จะสนใจเสถียรภาพของประชาชนที่กำลังประสบวิกฤตปัญหาอยู่ จึงต้องทบทวนการวางตัวบุคคล เพราะโอกาสที่จะได้ ส.ส.ชายแดนใต้มีโอกาสสูงมากถ้าคนในพรรคมีส่วนร่วม และประชาชนก็ไม่ได้สนใจว่า ส.ส.ในพื้นที่จะได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่โดยต้องการเพียงแต่ใครก็ได้ที่ทุ่มเทดูแลแก้ปัญหาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้อย่างชัดเจน"

**หนุน"นิติวิทยาศาสตร์"ช่วยคลี่คลาย
ผศ.ชิดชนก ชี้ว่า การทำงานในพื้นที่ก็ยังมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นบ้าง เช่น เมื่อปี 47 เจ้าหน้าที่ใช้วิธีอุ้มตัวสายข่าวไปสืบสวน เรียกว่า Clean up แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ตลอดจนการซ้อมผู้ต้องหา ซึ่งได้มีการลงโทษอย่างไปแล้วเข้มงวดเช่นกัน แม้ว่ายังไม่อาจควบคุมผู้ปฏิบัติได้ทั้งหมด แต่เป็นวิธีการที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำแล้วและมีการลงโทษทางวินัยอย่างเข้มงวดด้วย

"ตอนที่ไปจับผู้ต้องสงสัยมาสอบสวน ไม่ได้กระทำแบบเงียบๆ ไปด้วยเฮลิคอปเตอร์และสนธิกำลังปิดล้อมเพื่อตรวจค้นทั้งหมู่บ้าน แต่เพื่อนำตัวประชาชนไปสอบสวนแล้วพบว่าไม่เกี่ยวข้อง เมื่อประชาชนถูกปล่อยตัวกลับเข้าหมู่บ้านก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้สังคมทราบว่า เขาคือผู้บริสุทธิ์ แต่กลับปล่อยให้เขามีความอับอายต่อสังคม แถมเพื่อนบ้านอาจจะเกิดความเข้าใจผิดได้ด้วย ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งปรับปรุงคือ หน่วยงานด้านการข่าว เพราะงานสืบสวนที่ไม่แม่นยำจะนำไปสู่การทำลายยุทธศาสตร์ของความมั่นใจของประชาชนต่อรัฐ โดยเฉพาะการปิดล้อมหมู่บ้านแล้วควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบสวนโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ได้สร้างความเข้าใจผิดต่อผู้คนในสังคมให้เกิดความอับอาย และยังกระทบต่อเรื่องของศักดิ์ศรีและจิตใจ โดยที่การเยียวยาชดเชยด้วยทรัพย์สินมิอาจทนแทนกันได้

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการดำเนินงานของระบบนิติวิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทต่อการแก้วิกฤตปัญหาไฟใต้มาก ได้ทำให้สามารถลดการจับกุมผู้ต้องหาผิดตัว ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการให้ข้อมูลผิดๆ จากคนในพื้นที่ การถูกใส่ร้ายป้ายสีซึ่งมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะที่มาจากเรื่องการเมืองท้องถิ่น ซึ่งถ้าสนับสนุนงานด้านนี้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจว่า การตรวจดีเอ็นเอเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ วิกฤตปัญหาไฟใต้ก็จะคลี่คลายได้เรื่อยๆ" ผศ.ชิดชนก กล่าว

**เชื่อไฟใต้ช่วยจุดไฟคนใต้
รับ"พรรคการเมืองใหม่"

ผศ.ชิดชนก ให้ทัศนะต่อกรณีที่จะมีการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ด้วยว่า พรรคการเมืองใหม่ภายใต้กรอบคิดของการเมืองใหม่ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดขึ้น เช่นเดียวที่ประชาชนพิจารณาตัวบุคคลว่าทำงานให้ประชาชนได้และเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพราะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของโดยพรรคการเมืองใดและหมดเวลาที่พรรคการเมืองจะดูถูกประชาชนด้วยการส่งคนที่มีสายสัมพันธ์ในพรรคลงสมัคร ส.ส. โดยไม่ฟังเสียงของประชาชนที่ไม่ยอมรับ เพราะไม่มีผลงานให้ได้ทำงานอีกแล้ว

สำหรับพรรคพันธมิตรฯนั้นได้เกิดขึ้นจากการลงมติของประชาชนที่เป็นมวลชนพันธมิตรฯ ซึ่งก็มีพี่น้องประชาชนในภาคใต้อยู่ในนั้นจำนวนมาก โดยเฉพาะชนชั้นกลาง เพราะต้องการการต่อสู้ที่แสดงออกถึงประชาธิปไตยที่แท้จริง และต้องการต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่นคือ ระบอบทักษิณ หรือการเมืองในระบบแบบเก่าๆ ถือเป็นอีกแต้มต่อ เพราะแม้มีรัฐประหาร แต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มิหนำซ้ำตัวบุคคลของ คมช.ยังสนับสนุนพรรคการเมืองด้วย ความไม่ศักดิ์สิทธิ์ ความไม่น่าเชื่อถือของกลุ่มทหารนี้เอง ทำให้คนไม่ยอมรับและไม่ต้องการให้กลับมาอีกแล้ว

ผศ.ชิดชนก กล่าวว่า แม้ภาคใต้จะเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ แต่การทำงานที่ผ่านมาได้พิสูจน์ผลงานอยู่แล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ทำให้ภาคใต้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องปัญหาความไม่สงบ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนทุกคนจับตามอง แถมที่ผ่านมาเคยเชื่อกันว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าใจปัญหานี้ดี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรให้เกิดขึ้น

"การเกิดพรรคพันธมิตรฯนับว่ามีฐานเสียงสนับสนุนที่มากมาย แม้ฐานเสียงจะซ้อนทับกับของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ความสดใหม่ รวมถึงความเบื่อหน่ายของระบบพรรคการเมืองแบบเก่าๆ ของพี่น้องประชาชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สิ่งนี้จะส่งผลให้ภาคประชาชนเติบโตเกินกว่าที่จะเลือก ส.ส.ที่พรรคการเมืองยัดเยียดมาลงสมัครได้อีกแล้ว อันจะทำให้มีผลต่อการเลือกตั้งในครั้งหน้าอย่างแน่นอน" นักรัฐศาสตร์รั้ว มอ.ปัตตานีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น