xs
xsm
sm
md
lg

เผด็จการไม่มีวันหมด หากไม่ปลดล็อกพรรค

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

วันนี้ผมนึกถึงคำโบราณที่ว่า ‘คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย’

ผมนึกถึงตัวเองกับศาสตราจารย์ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ว่า จนแก่ตาย เพื่อนทั้งสองก็คงจะไม่มีปัญญา หรือความสามารถพอที่จะอธิบาย (พูด+เขียน+สอน+อภิปราย) ให้หมา เทวดา และคนในสังคมไทยเข้าใจได้ว่า กฎหมายที่บังคับให้ตั้งพรรคการเมืองและบังคับให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองนั้น เป็นการสร้างและรักษาเผด็จการไว้ให้ยืนยงในประเทศไทย

ทั้งนี้ เพราะความคิดเรื่องความดีของการให้ ส.ส.สังกัดพรรคได้กลายเป็นความเชื่อหรือความรู้ที่หยั่งรากหรืออีกนัยหนึ่งเป็นกรอบความคิดหลัก-กรอบความคิดเดิมหรือ old paradigm ประจำสังคมไทยไปเสียแล้ว

กรอบความคิดเดิมนี้ เดิมทีก็เป็นของใหม่ แต่เป็นที่ถูกใจของชนชั้นปกครองที่ขึ้นมาครองอำนาจตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา ตอนนั้นพอเริ่มต้นก็ถูกอภิมหาอำนาจใหม่ไร้ประสบการณ์การเมืองโลก หลอกให้เกรงกลัวคอมมิวนิสต์จนขี้ขึ้นขมอง

นอกจากตามก้นอเมริกันแล้ว เผด็จการก็รังเกียจและรำคาญผู้แทนราษฎรที่เป็นชนชั้นต่ำกว่า ว่าจะพากันมาเพ่นพ่านกดดันและรีดไถ จึงจำต้องหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้าด้วยการจับมาเข้าคอกเสีย

สื่อและนักวิชาการส่วนใหญ่ซึ่งผอมโซและหิวโหย ก็พากันเลียตีนเผด็จการ ทำหน้าที่ตอกย้ำกรอบความคิด ด้วยการสรรหาข้อมูลสถิติและทฤษฎีต่างๆ นานามาเพื่อแลกกับอามิสสินจ้างและฐานันดร

กรอบความคิดเรื่องผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคจึงกลายเป็นศาสนาของการเมืองไทย ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงว่า ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกเชื่อหรือกระทำเช่นนั้นเลย

การบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคเท่ากับการทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานทางการเมือง ความเป็นจริงของสังคมไทย ทำให้การเมืองตกอยู่ใต้อำนาจผูกขาดของเผด็จการและนายทุน

รัฐธรรมนูญทุกฉบับเข้าล็อกเผด็จการหมด ไม่เว้นแม้แต่ฉบับ 2517 ที่ผมมีส่วนเป็นกรรมการร่าง ฉบับ 2540 ยิ่งร้ายหนัก เพราะเปิดโอกาสให้ทุนผูกขาดได้เบ็ดเสร็จทั้งอำนาจรัฐสภาและอำนาจราชการ

ก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ผมเป็นอาจารย์หัวแข็งของอธิการบดี สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกา

พอได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี อาจารย์สัญญากลับขอร้องให้ผมไปช่วย ผมได้ทำความเข้าใจกับท่านนายกฯ ว่า ผมจะไม่ขอตำแหน่ง ไม่ไปงานบ้าน งานวันเกิด และขอแต่งกายอย่างสุภาพตามภูมิอากาศเหมือนคนไทยทั่วไป สมัยนั้นยังไม่มีเสื้อพระราชทาน และพล.ท.เปรม ติณสูลานนท์ยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก

อาจารย์สัญญาแต่งตั้งผมเป็นกรรมการประสานงานของนายกรัฐมนตรีกับ ครม.กองทัพ กระทรวงและกลุ่มต่างๆ จนเพียบ รวมทั้งให้ทำงานการเมืองของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งสุภาพบุรุษ พลโทชูศักดิ์ วัฒนรณชัย เลขาธิการตัวจริงไม่ยอมทำ เพราะถือมารยาทว่าท่านสืบทอดตำแหน่งมาจากรัฐบาลจอมพลถนอม คอลัมนิสต์ชื่อพญาไม้ เลยด่าว่าผมแส่ทุกเรื่อง ทั้งๆ ที่งานอะไรนายกฯ ไม่สั่ง ผมจะไม่ทำและไม่ริเริ่ม

งานที่ผมผิดหวังที่สุดคืองานร่างรัฐธรรมนูญ ที่นายกฯ อยากให้เสร็จเร็วๆ เป็นประชาธิปไตยและป้องกันปฏิวัติรัฐประหารได้

ดร.อมร จันทรสมบรณ์ เป็นหนึ่งในสามทหารเสือจากกฤษฎีกาที่มาร่วมเป็นกรรมการร่าง มีดร.สมภพ โหตระกิตย์ เลขาธิการ และดร.อักขราทร จุฬารัตน์ ทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการ ส่วนมีชัย ฤชุพันธุ์ ในตอนนั้นเป็นอนุกรรมการและทำหน้าที่ติดตามดร.สมภพ หน้าที่หลังนี้ทำให้มีชัยเติบใหญ่ขึ้นมาในทางการเมือง

คณะกรรมการร่างนอกจากผมและดร.อมร เฉพาะผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็มี ดร.อักขราทร จุฬารัตน์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช รศ.พงศ์เพ็ญ ศกุนตภัย พ่อตานายกฯ อภิสิทธิ์ เอนก สิทธิประศาสน์ สรรเสริญ ไกรจิตติ และหนึ่งเดียวคือ สุมาลี วีระไวทยะ คอลัมนิสต์และนักเคลื่อนไหวสตรี

ส่วนผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ได้แก่ประธานคณะคือ ศ.ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายมนูญ บริสุทธิ์ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พลเอกสุรกิจ มัยลาภ นายโอสถ โกศิน ศ.ดร.สมภพ โหตระกิตย์ เสวตร เปี่ยมพงษ์สานต์ และไพศาล กุมาลย์วิสัย เป็นต้น

เราร่างรัฐธรรมนูญเสร็จภายใน 4 เดือน และส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ความผิดหวังของผมทวีขึ้นหลายเท่าเมื่อสภานิติบัญญัติซึ่งผมเป็นสมาชิกอยู่ด้วยผ่านร่างที่ดร.ธวัช มกรพงศ์ ยกมือค้านอยู่คนเดียว ผมอยู่ข้างดร.ธวัช แต่ในฐานะผู้ร่างเสียงข้างน้อย ผมทำได้แค่งดออกเสียง

ผมบอกไม่ถูกว่ารู้สึกละอายหรือสมเพชที่มีคนชมรัฐธรรมนูญ 2517 ว่าเป็นฉบับที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด ผมไม่อาจคุยได้อย่าง ศ.ดร.บวรศักดิ์ ว่าฉบับที่ท่านร่าง (2540 ) เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี 1 ใน 10 ของโลก

รัฐธรรมนูญ 2517 มีลักษณะเผด็จการและมีปัญหาหลายประการ คือ

1. การติดยึดกรอบความคิดเดิม คือ กระบวนการร่างอย่างฝรั่งเศสซึ่งยาวรุงรังและใช้ภาษาคลุมเครือ

2. สงวนอำนาจไว้ให้รัฐ โดยอ้างไว้ในถ้อยคำว่า ‘ทั้งนี้ตามแต่บทบัญญัติของกฎหมาย’ แท้จริงรัฐธรรมนูญจะต้องสงวนอำนาจไว้ให้ราษฎร รัฐบาลมีอำนาจเพียงตามที่มอบหมาย นอกจากนั้นจะต้องขออนุมัติจากราษฎร (สภา)

3. สิทธิทางการเมืองของคนไทยไม่เท่าเทียมกัน เช่น สิทธิเลือกตั้งของคนไทยที่เป็นลูกคนต่างด้าว ซึ่งมีหน้าที่ทุกอย่างเท่ากับพลเมืองคนอื่น

4. สิทธิพื้นฐานทางการเมืองถูกจำกัดโดยการบังคับสังกัดพรรค พรรคต้องส่งผู้สมัครเกินครึ่ง และเขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้แทนได้ 3 คน

ฯลฯ

โดยเฉพาะในข้อ 4 ทั้งดร.อมรและผมเห็นว่าเป็นต้นชี้ตายปลายชี้เป็น ทำให้การเมืองไทยด้อยพัฒนา เพราะส.ส.ต้องตกเป็นทาสนายทุนพรรค แต่กรรมการร่างและสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนอื่นกลับเห็นตรงกันข้าม เพราะเขากลัวคอมมิวนิสต์และกลัวผู้แทนขายตัว

แต่ตราบใดที่ยังมีบทบัญญัตินี้ในกฎหมายเลือกตั้งหรือรัฐธรรมนูญ เมืองไทยไม่มีวันเป็นประชาธิปไตยได้ จะต้องวนเวียนอยู่ในวัฏจักรน้ำเน่า และวงจรอุบาทว์สลับกันไปมา หาวันจบมิได้

ในสมัยคมช.และรัฐบาลสุรยุทธ์ ดร.อมร ได้พยายามทุกอย่างทั้งการเขียน พูดในที่ประชุม ชี้ภัยให้ผู้นำรัฐบาลและคมช.ได้สำนึกว่า หากปล่อยให้มีเลือกตั้งโดยรักษากรอบความคิดเดิมไว้ บ้านเมืองก็จะเกิดกลียุคและสงครามกลางเมือง ผมก็เช่นกัน และหลายๆ ครั้งก็ร่วมกัน แต่เหลว

ดร.อมรเขียนและพูดอย่างเป็นนักวิชาการเต็มตัว มีการเสนอทฤษฎี หลักการ สถิติ ข้อมูลและเอกสารอ้างอิงอย่างลึกซึ้งน่าเชื่อถือ ลองเปิดดู google.co.th พิมพ์ชื่อนามสกุลดร.อมร ภาษาไทย ก็จะมีรายชื่อบทความ ความเห็น และปาฐกถาในเรื่องเดียวกันนี้ถึง 6 หมื่นรายการ

เหตุที่เมืองไทยติดยึดกรอบความคิดเดิมนี้ ดร.อมรเชื่อว่าเพราะ 1. ผู้ร่าง ผู้ใช้ และผู้ตีความรัฐธรรมนูญไม่มีความรู้มีแต่อวิชชา สังคมไทยโดยเฉพาะครูสอนกฎหมาย หลักสูตรกฎหมาย และนักรัฐศาสตร์ความรู้ยังอ่อน สถานะทางวิชาการกฎหมายและรัฐศาสตร์เมืองไทยยังล้าหลัง และ 2. เมืองไทยขาดผู้นำ และขาดรัฐบุรุษที่มีสติปัญญากล้าหาญและเสียสละอย่างเดอร์โกลของฝรั่งเศสและวูดโรว วิลสัน ของอเมริกา ผมเคยขอร้องพล.อ.เปรม พล.อ.ชาติชาย พล.อ.สุจินดา และนายอานันท์ ปันยารชุนให้เป็นผู้นำสร้างประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาแล้ว ทุกคนปัดให้สภา

ดร.อมรได้ไปแสดงปาฐกถาในมหาวิทยาลัยที่ วปอ. ที่ศาลปกครองสูงสุด ในที่ประชุมอธิการบดี ฯลฯ ครั้งล่าสุดคือ การบรรยายวันที่ 18 เมษายน 2552 และบทความเรื่อง ‘คนไทยจะหาทางออกทางการเมืองได้อย่างไร ‘วันที่ 10 พฤษภาคม 2552

ดร.อมร ได้เปรียบเทียบกับการบรรยายรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์ ว่า มีสาระที่แตกต่างกับความเห็นของท่านนายกรัฐมนตรีในทางตรงกันข้าม

ดร.อมรได้ยกตัวอย่างกระบวนการร่างและการปฏิรูปของนายกฯ อภิสิทธิ์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจากการถามประชาชน ตั้งสถาบันเป็นกลาง ตั้งกรรมการร่วมของสภา ทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ดร.อมรนำเสนอ

ดร.อมร มิได้ยกตัวอย่างที่นายกฯ อภิสิทธิ์เขียนไว้ใน’การเมืองไทยหลังรัฐประหาร’ ที่ยืนยัน กรอบความคิดเดิมเรื่องการบังคับสังกัดพรรคและกำหนด 90 วัน เพราะนายกฯ อภิสิทธิ์ก็ยังเชื่อว่า ถ้าจะไปถึงขั้นเปิดอิสระ จะทำให้สภาการเป็นตลาด ส.ส.

ผมจะยังไม่ฝากความหวังไว้แม้แต่กับการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ผมเองเขียนเรื่องนี้ไว้มากแล้ว และจะเขียนโดยละเอียดสไตล์ดร.อมรอีกสักครั้งหนึ่ง

แล้วผมจึงจะสรุปว่าจะต้องพูดกับดร.อมรหรือไม่ว่า

‘ไว้ชาติหน้าบ่ายๆ ก็แล้วกันนะ สองคนเรา’
กำลังโหลดความคิดเห็น