xs
xsm
sm
md
lg

โอเปกคาดโลกจะใช้น้ำมันเพิ่ม ยอมคงเพดานผลิตไม่หั่นลดลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – การตัดสินใจของที่ประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปก)เมื่อวันพฤหัสบดี(28) ที่จะคงเพดานการผลิตน้ำมันดิบไว้ในระดับเดิม ทั้งที่ปัจจุบันปริมาณสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดนี้อยู่ในสภาพล้นตลาดโลก เป็นการสะท้อนถึงความมั่นใจของโอเปก ที่เชื่อว่าอุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันจะทะยานสูงขึ้นในช่วงต่อไปของปีนี้ ทั้งนี้ตามความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ ทางด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกวานนี้(29) ปรากฏว่าทะยานทะลุหลัก 66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นการสร้างสถิติใหม่ราคาสูงสุดในรอบ 6 เดือน
จากตัวเลขซึ่งเป็นที่เปิดเผยกัน ปัจจุบันปริมาณน้ำมันสำรองในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ เทียบเท่ากับความต้องการใช้น้ำมันเป็นเวลาถึง 2 เดือน บางประเทศถึงกับต้องใช้เรือบรรทุกน้ำมันที่ลอยลำอยู่ในทะเล เป็นคลังเก็บน้ำมันสำรองส่วนเกินซึ่งไม่มีที่เก็บหลายล้านบาร์เรล
สถานการณ์ดังกล่าว โดยปกติแล้วจะเป็นแรงกดดันให้ราคาน้ำมันในตลาดลดต่ำลง แต่ในความเป็นจริงราคาน้ำมันดิบในตลาดกลับทะยานขึ้นเหนือระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาเรลมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว ดังนั้นกลุ่มโอเปกจึงตัดสินใจคงระดับเพดานการผลิตไว้ที่ระดับเดิม ด้วยความมั่นใจว่าความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จะดูดซับปริมาณน้ำมันส่วนเกินในตลาดให้หมดไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้
เดวิด เคิร์ช นักวิเคราะห์จาก พีเอฟซี เอนเนอร์ยี ให้ทัศนะว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของโอเปกเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโลกทรุดตัวรอบนี้ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว และกำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ การตัดสินใจของที่ประชุมโอเปกเมื่อวันพฤหัสบดี จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมองโลกในแง่ดี มองว่ามีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว แทนที่จะมองว่าน้ำเหลือเพียงครึ่งแก้วเหมือนเช่นในการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม
นักวิเคราะห์หลายคนแสดงความแปลกใจในตรรกะของ อับดุลเลาะห์ ซาเลม เอล-บาดรี เลขาธิการโอเปก และ อาลี อัลนูอัยมี รัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย ในการแสดงความเห็นสนับสนุนความเชื่อเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ไม่นานมานี้เอง สมาชิกโอเปกส่วนใหญ่เชื่อกันว่า การปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เพื่อชะลอการอ่อนตัวของราคาน้ำมัน อาจเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ผ่านไปเพียงไม่กี่วันสถานการณ์กลับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
ถ้อยแถลงเชิงบวกของโอเปก สะท้อนความรู้สึกในแง่ดีจากทั่วทุกมุมโลกอย่างชัดเจน ทั้งนี้หลังจากมีตัวเลขบ่งชี้ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวอเมริกันเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ดัชนีการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐก็เริ่มกระเตื้องขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ยังคงจมปลักอยู่กับภาวะถดถอยอย่างรุนแรง ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ถ้าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นจริง ก็จะเป็นการฟื้นตัวที่เชื่องช้ามาก
เดือนพฤษภาคมนี้ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ ไออีเอ ได้ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในตลาดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน โดยคาดการณ์ด้วยว่า ความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้จะตกลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา
นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่ราคาน้ำมันจะดิ่งลงอย่างรุนแรงอีกครั้ง หากไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนในระบบเศรษฐกิจพัฒนาแล้วในระยะเวลาอันใกล้นี้ ความเชื่อมั่นที่เพิ่งกระเตื้องขึ้นจะค่อย ๆ จางหายไป ขณะที่ปริมาณน้ำมันสำรองจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีก
โดยปกติแล้ว ความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 และที่ 4 ของปี เนื่องจากมีการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการทำความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ แต่อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นก็จะไม่เพียงพอที่จะดูดซับน้ำมันส่วนเกินไปได้ทั้งหมด
นักวิเคราะห์ของ แคปปิตอล อีโคโนมิคส์ ให้ทัศนะว่า ราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 60-65 ดอลลาร์ต่อบาเรลในขณะนี้ถือได้ว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่จะพลิกกลับเป็นขาลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ขณะที่นักวิเคราะห์ของ เจบีซี เอนเนอร์ยี ในกรุงเวียนนา เชื่อว่าโอเปกจะต้องปรับลดปริมาณการผลิตอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน ซึ่งจะเป็นการปรับลดที่ทำได้ยากเนื่องจากสมาชิกโอเปกส่วนใหญ่จะไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลง.
พิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานแล้ว ตลาดน้ำมันในขณะนี้กล่าวได้ว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อดูจากตัวเลขปริมาณน้ำมันสำรองทั้งที่อยู่ในคลังสำรองบนชายฝั่งและในคลังสำรองชั่วคราวกลางทะเล เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้โอเปกตัดสินใจคงปริมาณการผลิตไว้ในระดับเดิม น่าจะเป็นเพราะสมาชิกส่วนใหญ่พึงพอใจกับระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับระดับต่ำสุดเมื่อเดือนธันวาคม
จอห์น ฮอลล์ นักวิเคราะห์ ของบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนกล่าวว่า คำถามที่ทุกคนกำลังพยายามหาคำตอบอยู่ในขณะนี้ก็คือ ราคาน้ำมันในตลาดปรับตัวสูงขึ้นเพราะปัจจัยพื้นฐาน หรือเพราะความเชื่อมั่นของนักลงทุนกันแน่ เพราะถ้าดูตามหลักอุปสงค์-อุปทานแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะสนับสนุนการพุ่งสูงขึ้นอย่างพรวดพราดของราคาน้ำมันในขณะนี้
สำหรับราคาน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ ซึ่งซื้อขายกันผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้ไต่ขึ้นไป 1 ดอลลาร์ อยู่ที่ 66.08 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อเวลา 11.22 น.จีเอ็มทีวานนี้ (ตรงกับ 18.22 น.เวลาเมืองไทย) นับเป็นระดับสูงสุดตคั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น