xs
xsm
sm
md
lg

โอเปกมุ่งพยุงน้ำมันให้สูงกว่า$100

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/รอยเตอร์ –ราคาน้ำมันที่ทำท่าไหลลงจนต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในสัปดาห์หน้านี้ ทำให้องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ตัดสินใจแบบเซอร์ไพรซ์ที่จะลดกำลังการผลิตลง เพื่อพยุงราคาน้ำมันเอาไว้ แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศผู้บริโภคทำท่าจะเข้าสู่วิกฤต

“ดูเหมือนว่าพวกเขาตั้งใจจะป้องกันมิให้ราคาตกไปต่ำกว่า 100 ดอลลาร์” ไมค์ วิทเนอร์ นักวิเคราะห์ของโซซิเอเต้ เจเนราล กล่าวหลังจากโอเปกประกาศการตัดสินใจออกมาในวันพุธ(11)

ราคาน้ำมันดิบโลกได้พุ่งขึ้นแตะระดับ 147 ดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคมอันเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากนั้นก็ดิ่งลงมามากกว่า 30% จนต่ำกว่าระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯอันเป็นแนวต้านทางจิตวิทยาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา(10) และเป็นการลงต่ำกว่า100 ดอลลาร์ครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่พอดีกับที่กลุ่มโอเปกกำลังประชุมระดับรัฐมนตรีที่กรุงเวียนนา

“สถานการณ์ราคาในตลาดร่วงลงอย่างน่ากลัว แต่ผมก็คาดว่าตอนนี้จะดีขึ้นบ้าง” อับดุลเลาะห์ อัล บาดรี เลขาธิการโอเปคกล่าวเมื่อวันพุธ หลังจากสมาชิกทั้ง 13 ประเทศเห็นพ้องกันที่จะลดกำลังการผลิตที่เกินมา 520,000 บาร์เรลต่อวันลง

ทางทำเนียบขาวได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของโอเปกอยางยิ่ง ดานา เพอริโน โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่า “เราอยากจะเห็นน้ำมันในตลาดมีมากขึ้น ไม่ใช่ลดลง”

อันที่จริง สมาชิกโอเปกแต่ละรายยังคงรักษาโควตาการผลิตอย่างเป็นทางการของตนเองเอาไว้ แต่ด้วยวิธีคำนวณอันซับซ้อน โดยเฉพาะเมื่ออินโดนีเซียขอระงับการเป็นสมาชิก ดังนั้น เวลานี้เพดานการผลิตโดยรวมของโอเปกจึงอยู่ที่ 28.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 29.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่พวกเขาต่างให้คำมั่นด้วยว่า จะรักษาโควตาไม่มีการผลิตเกินเหมือนที่ผ่านมา

ชาคิบ เคลิล รัฐมนตรีพลังงานของแอลจีเรีย ซึ่งนั่งในเก้าอี้ประธานของโอเปกในขณะนี้กล่าวว่า สมาชิกผลิตเกินโควตาที่ได้รับมาถึง 520,000 บาร์เรลต่อวัน

“การตัดสินใจครั้งนี้มีนัยสำคัญมาก และทำให้ตลาดประหลาดใจมากด้วย” วิทเนอร์กล่าวถึงการตัดสินใจของโอเปก เพราะก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์คาดว่าจะไม่ลดกำลังการผลิต

อาลี อัลนูไอมิ รัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในกลุ่มโอเปกกล่าวก่อนหน้าการประชุมว่าตลาดน้ำมันตอนนี้ “สมดุลดีอยู่แล้ว” ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเก็งกันว่าจะไม่มีลดกำลังการผลิตแน่นอน ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนทางการริยาดได้เพิ่มกำลังการผลิตฝ่ายเดียว 500,000 บาร์เรลต่อวันเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ทางสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ(ไออีเอ)รายงานว่าในเดือนสิงหาคมซาอุดิอาเรเบียผลิตน้ำมันทั้งหมด 9.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งที่ได้รับโควตาอยู่ที่ 8.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน

การตัดสินใจเมื่อวันพุธจึงนับเป็นชัยชนะของสมาชิกโอเปกสายเหยี่ยว ซึ่งผู้นำเวลานี้คือ อิหร่านและเวเนซุเอลา โดยพวกเขาเรียกร้องให้ลดเพดานการผลิต และให้ประเทศสมาชิกผลิตตามโควตาที่ได้รับอย่างเคร่งครัด

ทั้งสองประเทศได้รับการหนุนหลังโดยสมาชิกอื่น ๆอย่างเช่น แอลจีเรียและลิเบีย เพราะไม่ต้องการเห็นราคาน้ำมันตกลงต่ำกว่าระดับ 100 ดอลลาร์ “ทั้งด้วยเหตุผลทางงบประมาณและทางการเมือง”

นักวิเคราะห์มองว่าซาอุดีอาระเบียและประเทศในอ่าวเปอร์เชียอื่น ๆ ต้องการให้น้ำมันอยู่ในระดับ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็พอ

เดวิด เคิร์ช นักวิเคราะห์จากพีเอฟซี เอ็นเนอร์ยี ในวอชิงตันกล่าวว่า เพราะประเทศเหล่านี้จะไม่พบกับปัญหาด้านงบประมาณ กระทั่งราคาน้ำมันลงมาอยู่ในระดับ 70 ดอลลาร์

นอกจากนี้ประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ก็ยังพยายามจะไม่ทำให้ประเทศตะวันตกซึ่งเป็นลูกค้าใหญ่ ต้องประสบกับปัญหายากลำบากเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจกำลัคงชะลอตัว

แต่พวกสายเหยี่ยวยกเหตุผลโต้แย้งว่า หากปล่อยให้มีปริมาณน้ำมันออกสู่ตลาดอย่างเกินความต้องการใช้ ขณะที่สภาพเศรษฐกิจโลกกำลังย่ำแย่ ในช่วงต่อไปราคาน้ำมันอาจจะดิ่งลงเหวที่ไร้ก้น

กล่าวกันว่าโอเปกถูกหลอกหลอนจาก “ปีศาจแห่งจาการ์ตา” กล่าวคือ หลังจากตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตในการหารือที่อินโดนีเซียในเดือนพฤศจิกายนปี 1997 เมื่อเกิดวิกฤตการเงินขึ้นในเอเชีย ปรากฏว่าเวลาต่อมาเศรษฐกิจโลกกลับหดตัว และราคาน้ำมันหล่นลงจาก 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหลือเพียง 8 ดอลลาร์ในช่วงต้นปี 1999

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังคงเห็นว่าการลดกำลังการผลิตของโอเปกครั้งนี้ อาจไม่สามารถทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นได้ในเร็ววัน การเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันอย่างที่โอเปกหวังก็เกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อมีการลดกำลังการผลิตจนทำให้ปริมาณน้ำมันที่เก็บตามคลังเก็บต่างๆ ลดลงอย่างมาก และคาดว่าสถานการณ์นี้จะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งเดือนข้างหน้า

สำหรับราคาน้ำมันดิบตอนปิดวันพุธ(11) น้ำมันชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ ลดลง 68 เซ็นต์ อยู่ที่ 102.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ของลอนดอน ลดลง 1.37 ดอลลาร์ เหลือ 98.97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
กำลังโหลดความคิดเห็น