xs
xsm
sm
md
lg

กาชาดประกาศห้าม”เกย์”เซ็กซ์สำส่อนบริจาคเลือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภากาชาดไทยรื้อเกณฑ์รับบริจาคเลือดใหม่ ประกาศไม่รับเลือดจากผู้มีพฤติกรรมสำส่อนทุกเพศ รวมถึงกลุ่มรักเพศเดียวกัน ส่วนอายุผู้ให้เปลี่ยนจาก 18-60 ปี เป็น 17-70 ปี เผยผู้ที่มีอายุ 17 ต้องมีใบรับรองจากผู้ปกครอง ส่วน60 ปีขึ้นไปต้องมีใบรับรองแพทย์ พร้อมเปลี่ยนแบบสอบถามเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ มั่นใจไม่มีผู้คัดค้าน ระบุพบเลือดผู้บริจาคร้อยละ 40 ใช้ไม่ได้
วานนี้(29 พ.ค.) พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า คณะอนุกรรมการวิชาการในคณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทยได้ปรับเปลี่ยนแบบสอบถามในการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตใหม่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยศูนย์บริการโลหิตฯส่วนกลางได้เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นกระดาษเอสี่ จากเดิมที่มีขนาดเพียงครึ่งเดียว รวมทั้งเรื่องของอายุผู้บริจาคและมาตรการคัดกรองพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของทุกเพศ รวมถึงกลุ่มรักเพศเดียวกันด้วย ทั้งนี้จะเริ่มพร้อมกันภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ สภากาชาดฯได้ปรับเปลี่ยนแบบสอบถามของผู้บริจาคโลหิตให้มีความครอบคลุมมากขึ้น โดยเพิ่มเติมคำถามของพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ในข้อ 12 เป็น 4 ข้อย่อย โดยมิได้เฉพาะเจาะจงบุคคลหรืออาชีพใด ซึ่งหากผู้บริจาคโลหิตไม่แน่ใจ หรือสงสัยว่าอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือคู่นอนของตัวเองมีพฤติกรรมเสี่ยงก็จำเป็นต้องงดการรับบริจาคโลหิตอย่างถาวร และไม่แนะนำให้ปกปิดข้อมูล เพราะการบริจาคโลหิตเป็นการทำบุญกุศล ซึ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้รับโลหิตด้วย ไม่ใช่โยนให้เป็นหน้าที่ของสภากาชาดฯเพียงอย่างเดียว
“กลุ่มรักเพศเดียวกันที่ไม่เห็นด้วยกับแบบสอบถามที่ห้ามผู้รักเพศเดียวกันบริจาคโลหิต ตอนนี้เริ่มเข้าใจแล้ว โดยไม่ต้องนำแบบสอบถามที่ปรับปรุงใหม่นี้ไปให้ตรวจดูอีก เพราะแบบสอบถามฉบับนี้ครอบคลุมห้ามทุกกลุ่ม ทุกเพศทุกวัย ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศโดยไม่ป้องกันให้ควรงดการบริจาคโลหิตแต่ไม่ได้เจาะจงเพศหนึ่งเพศใด ซึ่งเราโยนความรับผิดชอบนี้กลับไปที่ทุกเพศ เพราะไม่ว่าจะเป็นชายรักชาย หรือแม้แต่ชายรักหญิงที่มีคู่นอนหลายคู่ก็ต้องแนะนำว่าไม่ควรบริจาค เพราะถ้าสำส่อนโลหิตก็มีโอกาสติดเชื้อ ดังนั้นถ้าอยากบริจาคโลหิตก็ชักชวนผู้อื่นมาบริจาคก็ถือว่าเป็นการทำบุญเช่นกัน”พญ.สร้อยสอางค์ กล่าว
พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังได้ปรับเปลี่ยนในส่วนเกณฑ์อายุของผู้บริจาค คือ ให้ผู้บริจาคโลหิตได้ 17-70 ปี จากเดิม 18-60 ปี แต่หากผู้มีอายุ17ปีแต่ไม่ถึง 18ปี จะต้องมีใบรับรองจากผู้ปกครอง เช่นเดียวกับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะต้องใบรับรองจากแพทย์ว่าสามารถบริจาคโลหิตได้
นอกจากนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่คัดกรองผู้บริจาคโลหิตได้สอบถามประวัติการเดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ด้วย เพราะหากเดินทางกลับมาภายใน 15 วัน แนะนำว่าให้งดบริจาคโลหิตก่อน เพื่อดูอาการป่วย แต่โรคดังกล่าวเป็นโรคระบาดที่มาเร็วไปเร็วอาการไม่ค้างอยู่ในผู้ป่วยนาน จึงไม่จำเป็นต้องระบุข้อคัดกรองในแบบสอบถามแต่อย่างใด
พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สภากาชาดไทยได้ตั้งเป้าในปี 2558 ให้จัดหาผู้บริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ 100% เนื่องจากปัจจุบันจำนวนผู้สมัครใจมาบริจาคอยู่ประมาณ 93% ที่เหลือจะเป็นกรณีที่สถานพยาบาลไม่สามารถหาโลหิตได้ทัน จึงจำเป็นต้องมีการซื้อขาย โดยให้ค่าตอบแทนกับผู้ที่จะมาบริจาคให้ ซึ่งยอดในขณะนี้มีประมาณ 0.2% ส่วนการจัดหาผู้บริจาคโลหิตจากญาติของผู้ป่วยเองมีประมาณ 7-10 % ทั้งนี้จะต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่า ในกรณีที่เป็นญาตินั้นเป็นญาติจริงหรือแอบมีการซื้อขายโลหิต โดยให้ค่าตอบแทนกับผู้มาบริจาค ซึ่งเป้าหมายของสภาฯคือการที่ไม่ต้องซื้อโลหิต รวมถึงการประกาศฉุกเฉินระดมผู้บริจาคโลหิตใดๆเลย แต่ต้องการให้มีผู้บริจาคโลหิตในคลังเลือดเพียงพอ และอยู่ในตู้แช่ของสถานพยาบาลอย่างพร้อมใช้งาน
อนึ่งแบบสอบถามผู้บริจาคโลหิตที่เพิ่มเติม อาทิ ข้อ 12 พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ 12.1 ท่านมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่ของท่านหรือไม่ 12.2 ท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน (เฉพาะเพศชาย) 12.3 คู่ของท่านมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น 12.4 คู่ของท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน(ตอบเฉพาะเพศหญิงที่มีคู่เป็นชาย)
ด้านนาวาโทหญิง พญ.อุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่สภากาชาดจัดให้มีโครงการดูแลผู้บริจาคโลหิต 4 โครงการ คือ 1.โครงการการดูแลผู้บริจาคโลกหิตด้วยการดำเนินโครงการคัดกรองผู้บริจาคโลหิตที่ใช้ยา ระหว่างปี 2547 -2550 พบว่า สาเหตุสำคัญที่ไม่สามารถบริจาคโลหิตมาจากการใช้ยาร้อยละ 10 เนื่องจากไม่ทราบว่าต้องมีการงดยาบางประเภทก่อนที่จะมาบริจาคโลหิตหรือหายจากโรคหรือสาเหตุที่ต้องใช้ยาอย่างน้อย 3-7 วัน เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาสิว และยาแอสไพริน เป็นเต้น
2.โครงการการป้องกันและลดการเป็นลมระหว่างหรือหลังบริจาคโลหิต โดยได้ให้ผู้บริจาคโลหิตดื่มน้ำก่อนการบริจาคโลหิต 30 นาที ประมาณ 3-4 แก้ว หรือเท่ากับปริมาณโลหิตที่บริจาค 450 ซี.ซี. เพราะจะช่วย จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น เลือดไหลเวียนดี ป้องกันภาวะการขาดน้ำซึ่งเป็นสาเหตุของการเป็นลม ซึ่งภายหลังการดำเนินการเช่นนี้ พบว่า อัตราการเป็นลมหลังบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตฯ ระหว่าง ส.ค.2550-มิ.ย.2551 ลดลงจาก ร้อยละ 0.25 เหลือ ร้อยละ 0.16 และที่หน่วยรับบริจาคเคลื่อนที่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงระหว่างเดือนก.ค.2550 – มิ.ย. 2551 ลดลงจาก ร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 0.16
3.โครงการลดการสูญเสียพลาสมาขาวขุ่น พบว่าโลหิตที่ได้รับบริจาค เมื่อนำไปปั่นแยกส่วนประกอบของโลหิต มักจะพบว่าพลาสมาหรือ น้ำเหลือง มีสีที่ผิดปกติเช่น สีขาวขุ่น สีเขียว และสีดำ ไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยได้ ซึ่งพลาสมาขาวขุ่น พบในปริมาณมากที่สุด จึงทำการศึกษาจากผู้บริจาคโลหิตที่มีพลาสมามีสีขาวขุ่น พบว่าร้อยละ 98 ไม่ทราบว่าต้องงดอาหารที่มีไขมันสูงก่อนมาบริจาคโลหิต ทำให้ร่างกายดูดซึมอาหารและไขมันเข้าสู่กระแสเลือด จึงมีไขมันอยู่ในโลหิตปริมาณมาก ผู้บริจาคโลหิตควรงดการทานอาหารที่มีไขมันสูงก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 6 ชั่วโมง สามารถลดปริมาณการเกิดพลาสมาขุ่นขาวได้
4.โครงการ การป้องกันภาวะโลหิตจาง พบว่า สาเหตุที่ผู้ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้ อันดับ 1 หรือ ร้อยละ 40 ของผู้บริจาคโลหิต คือ ความเข้มข้นของโลหิต ไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากเกิดภาวะโลหิตจาง จากการสูญเสียธาตุเหล็ก ดังนั้น ผู้บริจาคโลหิตต้องให้ความสำคัญกับการรับประทานธาตุเหล็ก ในรูปของเม็ดยา ภายหลังจากการบริจาคโลหิตทุกครั้ง เพื่อรักษาภาวะความสมดุลของร่างกายให้สามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน เพื่อให้โลหิตมีความเข้มข้นพอที่จะสามารถบริจาคโลหิตได้อย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น