xs
xsm
sm
md
lg

เต่าทะเลน่าห่วงสูญพันธุ์จากแนวโน้มวางไข่น้อยลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต – เผยสถานการณ์เต่าทะเลอันดามันอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงสูญพันธุ์ พบแนวโน้มเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่น้อยลง

นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการประมงประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กล่าวถึงสถานการณ์เต่าทะเลในฝั่งทะเลอันดามัน ว่า สถานการณ์เต่าทะเลในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันค่อนข้างน่าเป็นห่วงมาก พบว่าแนวโน้มการขึ้นมาวางไข่ของเต่าลดน้อยลง ซึ่งจากสถิติการวางไข่ของเต่าทะเลในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีการวางไข่คงที่ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 150 รังต่อปี แต่ในภาพรวมทั่วประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 400-500 รังต่อปี

ชนิดของเต่าทะเลที่เหลือและขึ้นมาวางไข่อยู่ขณะนี้ พบเต่าตนุขึ้นมาวางไข่มากที่สุด รองลงมาเป็นเต่ากระ ส่วนเต่ามะเฟืองกับเต่าหญ้า ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากมีการขึ้นมาวางไข่เพียง 5 รังต่อปี ทั้งนี้จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงได้มีการจัดทำโครงการติดไมโครชิปให้กับเต่าทะเล เพื่อติดตามการเคลื่อนไหว รวมถึงการรณรงค์ให้มีการปล่อยลูกเต่าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะจะทำให้อัตรารอดมีสูงกว่าการปล่อยลูกเต่าขนาดเล็ก

นายก้องเกียรติยังได้กล่าวถึงการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเลในส่วนของจังหวัดภูเก็ตว่า ปัจจุบันพบเต่าขึ้นมาวางไข่น้อยมาก เนื่องจากพื้นที่ชายหาดซึ่งเคยใช้เป็นที่วางไข่ของเต่า ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการวางไข่บริเวณชายหาด เนื่องจากสันทรายมีความกว้างค่อนข้างมากแคบลง ทำให้ไข่บางส่วนถูกคลื่นซัดลงทะเลไป โดยในเรื่องนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลรายละเอียด รวมถึงปัญหาการก่อสร้างที่ใกล้กับชายหาดที่เคยเป็นแหล่งวางไข่ ซึ่งควรจะต้องมีความเข้มงวดในการอนุญาตและการเว้นระยะห่างจากชายหาดตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนแนวทางในการอนุรักษ์เต่าทะเล นายก้องเกียรติกล่าวว่า การปล่อยเต่าในช่วงเทศกาลต่างๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งการรณรงค์เพื่อปลุกจิตสำนึกในการร่วมกันอนุรักษ์ แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การสร้างความร่วมมือตั้งแต่ระดับชุมชน ช่วยกันดูแลพื้นที่ในเขต 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง เพื่อดูแลพ่อแม่พันธุ์หรือลูกเต่า ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันไม่ให้เต่าที่ปลายทางถูกจับไปกิน รวมถึงภัยอื่นๆ ที่ยังมีอยู่ แม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองเต่าทะเล แต่ต้องเข้าใจว่าเต่าทะเลต้องอาศัยหญ้าทะเล

ดังนั้น ควรจะมีกฎหมายที่คุ้มครองทั้งตัวเต่าและหญ้าทะเล ในขณะนี้จึงพยายามที่จะดำเนินโครงการสร้างพื้นที่คุ้มครองสำหรับเต่าทะเลและสิ่งแวดล้อมบริเวณที่เต่าทะเลอาศัยอยู่ เช่น บริเวณท้ายเหมือง ซึ่งเป็นแหล่งที่เต่าทะเลสามารถขึ้นมาวางไข่ได้

จากข้อมูลที่ศึกษาพบว่า เต่าทะเลจะอยู่ในเขตประมาณ 5-6 กิโลเมตร จึงพยายามที่รณรงค์การขยายออกไปอีก 5 กิโลเมตร เพื่อคุ้มครองเต่าทะเลในบริเวณที่สำคัญ เช่น เกาะสิมิลัน หาดท้ายเหมือง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น