ปล่อยเต่าหนัก 100 กิโลกรัม อายุกว่า 50 ปี คืนสู่ทะเลภูเก็ตแล้ว หลังเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือดูแลเหตุถูกใบพัดเรือฟันได้รับบาดเจ็บ ขณะที่สถานการณ์สัตว์ทะเลหายากมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (25 ก.ค) ที่บริเวณทะเลหน้าสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนภูเก็ต นายวิชาญ ทวิชัย อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานการปล่อยเต่าทะเลอายุกว่า 50 ปี น้ำหนักกว่า 100 กรัม คืนสู่ท้องทะเล โดยมีนายวรรณเกียรติ ทับทิมแสดง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต นายไพฑูรย์ แพนชัยภูมิ ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งที่ 5 (จ.ภูเก็ต) และนักเรียนโรงเรียนจริยธรรมบ้านบางคณฑีกว่า 50 คน เข้าร่วมพิธี
นายวิชาญ กล่าวว่า สำหรับการปล่อยเต่าตัวดังกล่าวคืนสู่ทะเลครั้งนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (จ.ภูเก็ต) ได้ช่วยเหลือเต่าตนุ เพศผู้ น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม อายุกว่า 50 ปี ซึ่งเป็นเต่าที่มีอายุมากที่สุดเท่าที่เคยพบมา ที่ถูกใบพัดเรือชาวประมงหรือถูกชาวประมงทำร้าย จนกระดองด้านซ้ายแตก และเจ้าหน้าที่นำมารักษาจนกระทั่งหายเป็นปกติแล้ว จึงนำเต่าตัวดังกล่าวปล่อยกลับคืนสู่ทะเล โดยในการปล่อยครั้งนี้มีการฝังชิปที่ตัวเต่าด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าเต่าตัวนี้หลังจากการปล่อยไปแล้วจะสามารถช่วยเหลือตัวเอง หรือถูกทำร้ายอีกหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดตามดูอย่างใกล้ชิด
นายวิชาญ กล่าวอีกว่า สถานการณ์สัตว์ทะเลหายากขณะนี้ มีจำนวนน้อยลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้จำนวนของสัตว์ทะเลเหล่านั้นลดน้อยลง ส่วนใหญ่จะเกิดมาจากน้ำมือมนุษย์ มีการล่า เพื่อจำหน่าย ติดอวน ล่าในเขตที่มีการคุ้มครอง และระบบนิเวศน์ ก็มีส่วนที่ทำให้จำนวนของสัตว์ทะเลเหล่านี้ลดลงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นอยากให้ทุกคนหันมาหวงแหนทรัพยากรทางธรรมชาติมากขึ้น เพื่อการท่องเที่ยวภูเก็ตจะได้ยั่งยืนต่อไป
ขณะที่นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต กล่าวว่า พื้นที่ที่มีการล่าสัตว์ทะเลหายากในขณะนี้ที่ยังมีการแอบลักลอบค้า จับสัตว์เพื่อจำหน่ายมากที่สุดคือบริเวณหน้าเกาะราชา ต.ตราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต บริเวณอ่าวพังงา หน้าเกาะพีพี หน้าเกาะมูสัง เป็นต้น ส่วนใหญ่กลุ่มที่ยังมีการล่าสัตว์เหล่านี้ นั้นกลุ่มชาวไทยใหม่จะมีการลักลอบการจับมากที่สุด ซึ่งในเรื่องดังกล่าว ทางเจ้าหน้าทีก็ได้มีการติดตามจับกุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะมีการจับกุมแล้ว เจ้าหน้าที่ยังช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกแก่กลุ่มคนเป้าหมายอีกด้วย จากสถิติพบว่ากลุ่มผู้ล่าสัตว์เหล่านี้จากจำนวน 28 ลำ เหลือเพียง 3 ลำ และสถิติการล่าลดลงเรื่อยๆ