xs
xsm
sm
md
lg

2 อำนาจ 2 ระบบ

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

สภาวะเป็นจริงทางการเมืองของประเทศไทยวันนี้ คือสภาวะของการดำรงอยู่ของ “2 อำนาจ 2 ระบบ”

2 อำนาจ ก็คือ

1. อำนาจเก่า เป็นอำนาจกำหนด ทำให้การเมืองประเทศไทยเป็นอยู่และดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันก็คืออำนาจทุน ในรูปของทุนสามานย์ กำกับการขับเคลื่อนของการเมืองในระบบรัฐสภา โดยการแย่งชิงที่นั่งในรัฐสภาระหว่างพรรคการเมืองของกลุ่มทุน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไปครอบครองอำนาจรัฐ บริหารประเทศ จัดสรรงบประมาณและวางแผนพัฒนา ใช้ปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ ของความเป็นรัฐชาติที่เรียกว่าประเทศไทย บันดาลให้บังเกิดผลไปตามแนวนโยบายที่ตั้งไว้

อำนาจนี้ได้สืบทอดต่อเนื่องกันมาแล้วหลายสิบปีแล้ว ผลปรากฏว่า โดยรวมแล้วไม่ได้สร้างประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็นแก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทย ตรงกันข้าม กลับสร้างประโยชน์ โภคผลสารพัดแก่บรรดานักการเมืองสังกัดกลุ่มทุน เป็นที่เอือมระอาอย่างยิ่งและยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ประชาชนชาวไทย รวมทั้งเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ไปทั่วสังคมโลก

2. อำนาจใหม่ ที่จะก้าวขึ้นเป็นอำนาจกำหนดในอนาคตแทนที่อำนาจเก่า อำนาจนี้เป็นสิ่งเกิดใหม่ตามปัจจัยเงื่อนไขทั้งในและนอกประเทศ สะท้อนลักษณะของยุคสมัยและสภาพเป็นจริงของประเทศไทย สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันก็คืออำนาจของขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

อำนาจนี้เป็นผลพวงพัฒนาการการเมืองภาคประชาชนของประเทศไทยที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่พุทธทศวรรษ 2510 โดยเฉพาะภายหลังการเคลื่อนไหวมวลชนขับไล่ 3 ทรราชในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 โดยมีจุดมุ่งหมายว่า เมื่อประชาชนชาวไทยสามารถโค่นล้มอำนาจเผด็จการทหารลงได้แล้ว ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจจะสามารถควบคุมการใช้อำนาจของคณะผู้บริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้งในระบบรัฐสภา

เหตุการณ์ “6 ตุลาฯ 19” และ “พฤษภาฯ ทมิฬ 2535 ได้ปลุกประชาชนชาวไทยตระหนักชัดถึงความดื้อรั้นของอำนาจเผด็จการทรราช มีความมุ่งมั่นยิ่งขึ้นในการแสวงหาช่องทางเสริมสร้างอำนาจประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้สามารถกำหนดการขับเคลื่อนทางการเมืองในระบบรัฐสภา ดำเนินไปในทางสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

ทว่า การเมืองเลือกตั้งที่กลุ่มทุนสามานย์ผูกขาด ได้ลากเอาการเมืองในระบบรัฐสภาของประเทศไทยดำดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็ว กลายสภาพเป็นเครื่องมือทำมาหากินของบรรดา “พ่อค้าการเมือง” เด่นชัดขึ้นทุกที โดยเฉพาะในช่วงที่ระบอบทักษิณครอบครองอำนาจ การเมืองในระบบรัฐสภากลายเป็นเพียง “เครื่องหมายการค้า” ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น

อาจกล่าวได้ว่า ระบอบทักษิณคือตัวจุดพลุระเบิดทิ้งความอดทนอดกลั้นของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ทำให้ดวงไฟแห่งเทียนปัญญาลุกโชน โชติช่วง เป็นดวงไฟใหญ่ หล่อหลอมดวงใจชาวไทยให้เป็นหนึ่ง นาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” องค์กรแกนนำของขบวนการการเมืองภาคประชาชนในปัจจุบัน มุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ด้วยการล้างการเมืองเก่าและสร้างการเมืองใหม่ ให้อำนาจประชาชนซึ่งเป็นอำนาจใหม่ เป็นอำนาจกำหนดพัฒนาการการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ดำเนินไปในทิศทางที่จะยังประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน

วันนี้อำนาจใหม่ได้ฟูมฟักตนเองจนเข้มแข็งใหญ่โต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการต่อสู้อย่างยืดเยื้อยาวนาน 193 วัน (ระหว่างวันที่ 25 พ.ค. - 2 ธ.ค.2551) ขบวนการการเมืองภาคประชาชนภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้กลายเป็นอำนาจการเมืองใหม่ ที่พร้อมจะรวมพลังคนไทยทั้งชาติเข้าด้วยกัน เคลื่อนไหวต่อสู้ทั้งในและนอกระบบรัฐสภา ล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่

2 ระบบ ก็คือ

1. ระบบรัฐสภาในอุ้งมือของกลุ่มทุนสามานย์ (ประกอบด้วยกลุ่มทุนการเมืองทั้งในและนอกระบอบทักษิณ โดยในบางกลุ่มมีขุนทหารบางคนเข้าไปผสมโรงด้วย เน้นการเลือกตั้ง ถือเอาการเลือกตั้งเป็นทั้งหมดของการเมืองในระบบรัฐสภา ผู้มีทุนมากก็ได้ชนะ จัดตั้งรัฐบาล กอบโกยโกงกินทุกรูปแบบ เพื่อรักษาฐานอำนาจของตนสืบไป

ในระหว่างครองอำนาจ พรรครัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาล จะคอยแก่งแย่งตำแหน่งผลประโยชน์กัน มีการตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กันได้เป็นพักๆ ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว แปรสภาพประเทศไทยเป็น “สมบัติผลัดกันชม” (บางคนเรียกว่า “สมบัติผลัดกันโกง”) เมื่อใดที่ตกลงกันไม่ได้ ก็จะยุบสภาเลือกตั้งกันใหม่ นัยว่า “คืนอำนาจแก่ประชาชน” เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตอันเกิดจากการแก่งแย่งและตกลงกันไม่ได้ พร้อมกับฉวยโอกาสโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตย ไม่น้อยหน้าประเทศอื่น

2. ระบบประชาธิปไตยมวลชน (ขอเรียกเช่นนี้ก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ดีกว่านี้) ที่กำลังก่อกำเนิดขึ้นในขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นแกนนำ

ระบบดังกล่าว ได้สะท้อนออกถึงอำนาจกำหนดของอำนาจประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม และมีความสมบูรณ์ในตัว แสดงออกทางด้านการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ โดยแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะยึดถือเอามติของมวลชนเป็นที่ตั้งเสมอ เช่น มติของสภาพันธมิตรฯ ในการเรื่องการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ เมื่อได้มติชัดเจนแล้ว ก็ได้นำเอามติดังกล่าวไปขอฉันทามติจากที่ชุมนุมใหญ่ของชาวพันธมิตรฯ อีกที เพื่อตอกย้ำถึงอำนาจกำหนดของมวลชน

นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของระบบอำนาจแบบใหม่ ที่อำนาจมวลชน “เบื้องล่าง” สามารถกำหนดการใช้อำนาจของแกนนำ “เบื้องบน”อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น