xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวพันธมิตรฯ ตั้งครม. : การกุข่าวเพื่อหาข่าว

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ท่านผู้อ่านที่เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งไม่ได้เป็น แต่มีจิตใจเป็นกลาง มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ได้อ่านข่าวหน้า 2 ของหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ภายใต้หัวข้อข่าว “เมาท์การเมืองใหม่” ที่เขียนถึงกระแสการเมืองใหม่ที่กลุ่มพันธมิตรฯ คิดจะทำ โดยให้รายละเอียดในทำนองว่า สุดท้ายแล้วก็ต้องการเข้าสู่อำนาจด้วยความต้องการเป็นรัฐบาล และแถมคิดสูตรตั้ง ครม.ให้เบ็ดเสร็จ ชนิดพันธมิตรฯ ในระดับแกนนำเฉกเช่น นายสนธิ ลิ้มทองกุล อ่านแล้วงงเหมือนไก่ตาแตกว่า ข่าวนี้มาจากไหน และผู้เขียนข่าวนำเสนอให้ประชาชนอ่านเช่นนี้ได้อย่างไร

ทั้งนี้ ถ้ามองข้อเขียนที่ว่าในเชิงตรรกะแล้ว จะพบความแปลกประหลาดชนิดที่ว่า แค่คิดก็ขัดแย้งในทฤษฎีตรรกะที่ว่า เป็นไปไม่ได้ในความเป็นไปได้ (possibility in Empossibility) หรือพูดด้วยภาษาชาวบ้านก็คือ แค่ใช้สามัญสำนึกและข้อมูลพื้นๆ ก็รู้แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่นายคำนูณ สิทธิสมาน เป็น รมว.ยุติธรรม ซึ่งในขณะนี้ดำรงตำแหน่ง ส.ว.และตามข้อกฎหมายแล้วจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการตั้งพรรคการเมืองไม่ได้

และยิ่งถ้าบอกว่าจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ต่อให้คิดลาออกจาก ส.ว.หลังจากที่ผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาว่าพรรคพันธมิตรฯ ได้เสียงข้างมากและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นายคำนูณ สิทธิสมาน ก็ไม่มีโอกาสได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ตามที่ผู้เขียนข่าวนี้คิด และที่ไม่ได้เป็นไม่ใช่เพราะผู้บริหารพรรคพันธมิตรฯ ไม่อยากให้เป็นหรือเพราะไม่มีความสามารถ แต่เพราะข้อกฎหมายระบุให้ผู้เคยเป็น ส.ว.ต้องเว้นระยะ 2 ปีหลังจากพ้นตำแหน่ง ส.ว.จึงจะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

เพียงตัวอย่างเดียวที่ยกมาก็มองเห็นได้ชัดว่า ผู้เขียนเขียนเรื่องนี้โดยขาดโยนิโสมนสิการ หรือถ้าไม่ขาดก็มีเจตนาให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว พันธมิตรฯ ก็มีความอยากได้ใคร่มีทางการเมืองไม่แตกต่างไปจากการเมืองเก่าๆ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จึงไม่น่าจะเรียกตัวเองว่า การเมืองใหม่ อะไรทำนองนี้

ไม่ว่าผู้เขียนจะเขียนเรื่องนี้โดยขาดโยนิโสมนสิการ หรือมีแต่มีเจตนาอื่นแอบแฝงดังกล่าวแล้ว

ข้อเขียนที่ว่านี้ ถ้ามองในแง่ของคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็จัดอยู่ในประเภททุพภาษิต อันได้แก่ คำพูดที่มีโทษ และผู้รู้ติเตียนได้ ซึ่งมีลักษณะ 5 ประการดังต่อไปนี้

1. วาจาที่กล่าวไม่ถูกต้องตามกาล

2. วาจาที่กล่าวด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ

3. วาจาที่กล่าวด้วยถ้อยคำหยาบคาย

4. วาจาที่กล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์

5. วาจาที่กล่าวไม่ประกอบด้วยเมตตา

จริงอยู่ ถ้าลงลึกในรายละเอียดของเนื้อหา และถ้อยคำที่ใช้จะไม่มีลักษณะครบองค์ 5 แต่ก็จัดอยู่ในข้อ 1, 2 และ 4 อย่างชัดเจน ซึ่งก็ถือได้ว่าเพียงพอแล้ว ที่จะบอกว่าข้อเขียนนี้เป็นวาทะอันเป็นลักษณะของทุพภาษิต

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าข้อเขียนนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีกระแสว่ากลุ่มพันธมิตรฯ กำลังจะประชุมกันในวันที่ 24-25 พฤษภาคม ที่เพิ่งจะผ่านมาเพียงไม่กี่วัน จะต้องมีนัยอื่นไปไม่ได้นอกจากว่าจะมุ่งเผยแพร่แนวคิดที่ว่า การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ที่แท้แล้วก็มีลักษณะเหมือนการเมืองเก่า อันเป็นการชิงออกข่าวตัดหน้ามิให้กลุ่มคนที่ยังไม่เป็นพันธมิตรฯ หรือเป็นแล้วแต่กำลังอยู่ในช่วงที่ตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการตั้งพรรคมีความคล้อยตามแล้วจบลงด้วยการไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียวคือ การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ โดยเนื้อแท้แล้วก็คือ เนื้อหาเก่าภายใต้ชื่อใหม่นั่นเอง

และถ้าข้อสันนิษฐานที่ว่านี้ถูกต้อง ก็ถือได้ว่าข้อเขียนนี้ไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มพันธมิตรฯ

ในขณะที่ข้อเขียนเกี่ยวกับ ครม.พันธมิตรฯ ลงพิมพ์เผยแพร่แนวคิดเรื่องการตั้งพรรคของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังไม่มีข้อยุติว่าจะตั้งหรือไม่ตั้ง แต่จะรอฟังตัวแทนกลุ่มจากจังหวัดต่างๆ ที่จะประชุมกันในวันที่ 24 พ.ค.

ดังนั้น ข่าวการตั้ง ครม.ของกลุ่มพันธมิตรฯ จึงไม่ต่างไปจากการตั้งชื่อบุตร และวางแนวทางให้กับบุตรที่พ่อกับแม่ยังไม่พบรัก และมีกำหนดวันแต่งงาน อันถือได้ว่าข่าวนี้เกิดจากความเพ้อฝันที่แฝงไว้ด้วยเจตนาร้าย หรือไม่ก็เกิดจากเก็บตกจากแหล่งข่าวที่ต้องการโยนหินถามทางว่าถ้ามีการตั้งพรรคแล้วจะให้ใครดำรงตำแหน่งอะไร โดยกุข่าวขึ้นมาเพื่อหาข่าวจากแกนนำพันธมิตรฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากแกนนำคนสำคัญ จะด้วยเจตนาเพียงเพื่ออยากรู้ตามวิสัยของคนชอบซอกแซก หรือด้วยต้องการเห็นตัวเองหรือคนที่ตนเองนับถือ และอยากให้อยู่ในกระแสการเมืองใหม่ที่พันธมิตรฯ ตั้งขึ้นก็มีความเป็นไปได้

ส่วนว่าจะเป็นฝีมือของพรรคการเมืองเก่าซึ่งมีอยู่ในขณะนี้ และถ้าพรรคพันธมิตรฯ ตั้งขึ้นแล้วจะทำให้ได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่นั้น ก็ไม่ควรมองข้าม

แต่ถ้ามองให้ลงลึกและรอบด้านแล้ว ในขณะที่พรรคยังไม่จัดตั้ง ทั้งแนวนโยบายรวมถึงตัวบุคลากรของพรรคยังไม่ชัดเจน คิดว่าพรรคการเมืองที่มีอายุยาวนาน และเป็นสถาบันการเมืองไม่น่าจะหวั่นไหวกับเรื่องนี้มากนัก เพราะถ้าหวั่นไหวก็ไม่ต่างอะไรกับการหาร่มมากางกันฝนโดยที่ไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าฝนจะตก

โดยสรุปแล้ว ในทัศนะผู้เขียนเห็นว่าข้อเขียนนี้น่าจะเกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุ คือ

1. ผู้เขียนต้องการกุข่าวเพื่อหาข่าวโดยการสอบถามคนที่เกี่ยวข้องให้ปฏิเสธตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวหน้าพรรค ว่าถ้าคนที่ปรากฏตามข้อเขียนไม่ตรงกับความเป็นจริง แล้วใครควรจะเป็น

2. ผู้เขียนมีแหล่งข่าว และแหล่งข่าวที่ว่านี้กุข่าวเพื่อต้องการให้ตัวเองหรือคนที่ตัวเองต้องการให้อยู่ในกระแสการเมืองใหม่ และเมื่อมีการแก้ข่าวว่าไม่จริงก็จะเป็นการตรวจสอบว่าที่เสนอไปนั้นมีโอกาสจะอยู่ในกระแสได้หรือไม่

ทั้ง 2 ข้อมีโอกาสเป็นไปในข้อ 1 หรือข้อ 2 รวมกันแล้วเกิดเป็นข้อเขียนที่ว่านี้

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดจากข้อใดข้อหนึ่งหรือ 2 ข้อรวมกัน ข้อเขียนนี้เข้าข่ายเป็นทุพภาษิตอย่างน้อยในลักษณะคือไม่ถูกต้องตามกาล เป็นข่าวไม่จริง และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่านที่บริโภคข่าวสารแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น