xs
xsm
sm
md
lg

พรรคพันธมิตรฯ

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

มีข่าวว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะตั้งพรรคการเมือง ผมหวังว่าพรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นนี้ คงมีอะไรที่แตกต่างไปจากพรรคการเมืองทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบันบ้าง

พรรคการเมืองปัจจุบันส่วนใหญ่มีลักษณะดังนี้

1. จัดตั้งขึ้นโดยบุคคลเพียงคนเดียว และเป็นพรรคส่วนตัวเพื่อการเลือกตั้ง จะมีพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่เกิดจากกลุ่มคนไม่ใช่บุคคลคนหนึ่งคนใด

2. การเงินของพรรคมาจากบุคคลคนเดียว หรือคนจำนวนน้อย

3. กำลังสนับสนุนของพรรคอยู่กับ ส.ส.ซึ่งมีหัวคะแนนจำนวนหนึ่ง มิได้มีฐานจากประชาชน และไม่มีสาขาพรรคที่เข้มแข็ง

4. พรรคไม่มีกลไกอื่นที่ทำงานเพื่อให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน และขาดองค์กรทางวิชาการและการวิจัย จึงไม่มีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือไปจากการเลือกตั้ง

5. พรรคขาดกลไก และกระบวนการพัฒนาผู้นำ

หากพรรคพันธมิตรฯ เกิดขึ้น ก็จะเป็นพรรคที่แตกต่างไปจากพรรคอื่น ตรงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง และมีการรวมตัวกัน ทำกิจกรรมร่วมกันมาก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นพรรคการเมือง กล่าวคือ พรรคเกิดมาจากการพัฒนาของกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองร่วมกัน พรรคพันธมิตรฯ มีลักษณะดังนี้

1. จัดตั้งขึ้นโดยความเห็นพ้องต้องกันของสมาชิก และเป็นพรรคที่มีผู้นำรวมหมู่คือ แกนนำ

2. แกนนำมีความคุ้นเคย และมีการยอมรับบทบาทของแต่ละคน เพราะมีประสบการณ์ร่วมกันในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

3. ทั้งแกนนำ และสมาชิกมีประสบการณ์ทางการเมืองร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดภราดรภาพ

4. เป็นพรรคที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกที่เป็นฐาน มีสาขาที่ได้ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องหลังการเคลื่อนไหวชุมนุม

5. มีความผูกพันสูง เพราะเคยประสบกับภยันตรายร่วมกัน และมีความสำนึกทางจริยธรรม และความชอบธรรมสูง

6. มีการระดมทุน และการสนับสนุนจากสมาชิกอย่างกว้างขวาง

7. มี “ประวัติศาสตร์” ของการต่อสู้ที่สามารถอ้างอิง และนำมาปลุกจิตสำนึกได้

8. มีแกนนำที่มีความสามารถหลายด้าน และมีการสร้างแกนนำรุ่นต่อๆ ไป

9. มีสื่อทั้งหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ที่เป็นของตนเอง

เมื่อพิจารณาลักษณะทั้ง 9 ด้านนี้แล้ว พรรคพันธมิตรฯ ก็เกิดจากพื้นฐานที่แข็งแกร่งได้ ได้เปรียบพรรคการเมืองอื่น และน่าจะมีความยั่งยืนได้

การเกิดขึ้นของพรรคพันธมิตรฯ น่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่สำคัญ คือ พรรคพันธมิตรฯ จะนำนโยบายใหม่ๆ ไปใช้ และจะเป็นพรรคที่ยึดถือหลักการมากกว่า “ความสะดวกทางการเมือง” ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับประชาชน จะไม่จำกัดอยู่เฉพาะระยะที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง แต่จะมีการถามความเห็นของประชาชนผ่านทางสื่อ และการจัดกิจกรรมทางการเมืองอยู่เสมอ พรรคจะมีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษาทางการเมือง และหากได้รับเลือกตั้งก็จะมีสิทธิได้รับเงินสนับสนุนการทำกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น

ในปัจจุบันการเมืองไทยถูกครอบงำโดยนักการเมืองจำนวนน้อยที่มีพฤติกรรมแบบเดิม พรรคพันธมิตรฯ ประกอบด้วยบุคคลที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป้าหมายหลักของพรรคพันธมิตรฯ จึงมิใช่การได้อำนาจเพื่อจะเป็นรัฐบาล หากเป็นการขยายบทบาทเข้าไปมีพื้นที่ใหม่อยู่ในระบบการเมือง เพื่อเสนอทางเลือกใหม่ให้แก่การเมืองไทย

ในระยะแรก พรรคพันธมิตรฯ อาจได้ที่นั่งในสภาฯ ไม่มากนัก และคงเน้นพื้นที่ที่เป็นเขต 1 ในจังหวัดต่างๆ เป้าหมายระยะ 5 ปีของพรรคพันธมิตรฯ น่าจะเป็นการสร้างพรรคขนาดกลาง (30-50 คน) ที่มีคุณภาพ การกำหนดเป้าหมายเช่นนี้ ทำให้พรรคมีจุดเน้นที่ไม่ต้องใช้เงินทุนมากนัก และไม่จำเป็นที่จะต้องส่งผู้สมัครให้ครบทุกจังหวัด แต่พรรคขนาดกลางก็จะเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง ทั้งในการจัดตั้งรัฐบาล และการทำงานในระบบรัฐสภา

พรรคประชาธิปัตย์คงอยากได้พรรคใหม่นี้เป็นพันธมิตรฯ เพื่อลดอำนาจต่อรองของพรรคอื่นๆ ลง และพรรคพันธมิตรฯ ก็มีบุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถ ตลอดจนความซื่อสัตย์สุจริตมากกว่าพรรคอื่นๆ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน

พรรคพันธมิตรฯ มีเวลาไม่มากนักในการเตรียมตัว หากจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีไม่เกินปลายปีนี้ การจัดกิจกรรมทางการเมืองที่ผ่านมาคงเป็นการประเมินกำลังได้ว่าควรเน้นพื้นที่ใดในจังหวัดใด ขณะนี้ควรระดมทุนจากผู้สนับสนุนได้แล้ว และควรเน้นการบริจาครายละ 10-20 ล้านบาท แทนที่จะหาเงินจากนายทุนใหญ่ๆ นอกเหนือไปจากการบริจาคของสมาชิกที่ทำกันอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น