xs
xsm
sm
md
lg

สมานฉันท์คือการมีวินัย

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

รัฐบาลเป็นองค์ประกอบหนึ่งของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารประเทศให้เกิดความมั่งมีศรีสุข ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งมวล รวมถึงการนำพาประชาชนให้มีใจร่วมกันทำให้วิสัยทัศน์ของรัฐบาล บรรลุเป้าประสงค์ การสร้างพลังนี้จะไม่เกิดขึ้นหากประชาชนในชาติเกิดความแตกแยกที่รุนแรง และควบคุมไม่ได้กลายเป็นสังคมอนาธิปไตยไร้บรรทัดฐาน ไร้ความคิดในเรื่องอุดมการณ์ชาติ ไม่สนใจนโยบายรัฐบาลที่ตั้งใจให้เกิดความมั่งมีศรีสุข และประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แต่ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองเกิดความแตกแยก ทำให้รัฐบาลนี้ต้องสร้างความสมานฉันท์เกิดขึ้นให้ได้

ประเทศไทยประสบภาวะแตกแยกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จนนำพาสู่ความหายนะ เสียอิสรภาพ แต่ก็เกิดความสมานฉันท์รวมใจกันกอบกู้ชาติบ้านเมือง พ้นจากความเป็นทาสของผู้ชนะ เช่น การกู้ชาติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในปี 2127 ขณะนั้นคนไทยส่วนใหญ่เกรงกลัวพม่าภายใต้เศวตฉัตรของพระเจ้าบุเรงนอง หรือกรณีที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขณะยังเป็นสามัญชนดำรงยศเป็นพระยาตาก นำทหารไทย และอาสาสมัครทหารจีนร่วม 1,000 คน ตีฝ่าวงล้อมค่ายพม่าที่วัดพิชัยในปี 2310 และใช้เวลาเพียง 7 เดือนกอบกู้อิสรภาพและมีชัยชนะต่อกองทัพโจรพม่าได้อย่างสมบูรณ์แบบ

คนไทยทั้งชาติแสดงและถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการแสดงน้ำหนึ่งใจเดียวกันช่วยพัฒนาชาติไทยให้ทันสมัย และลดมิจฉาทิฐิความโลภที่จะดำรงข้าทาสไว้ ต่อต้านพระราโชบาย และพระเมตตาธรรมที่ทรงประกาศเลิกทาสอันเป็นการขัดผลประโยชน์กับชนชั้นปกครองมากมาย เพราะทาสคือ แรงงานได้เปล่าที่สามารถตกทอดจากพ่อซึ่งเป็นทาส ลูกเป็นทาส และหลานเหลนก็ตกเป็นทาสด้วย

จะเป็นด้วยพระเมตตาบารมี ความเข้าใจสำนึกในเรื่องอิสรภาพของคน การเสียสละของนายทุน หรือนายหน้าค้าทาสแต่ทุกฝ่ายยอมรับหลัก “ความเสมอภาคของมนุษย์” เพราะว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเสียสละผลประโยชน์ของพระองค์เพราะด้วยพระราชอำนาจแล้ว พระองค์สามารถซื้อทาสได้จำนวนมหาศาล และทาสตกทอดอีกนับทวีคูณ เมื่อทรงเป็นตัวอย่างของ “การเสียสละ” จึงทำให้เจ้านายที่มีทาสนับร้อย นับพัน ก็ทรงยอมเสียสละตาม รวมทั้งบรรดาขุนนางทั้งหลายก็ลดความโลภแรงงานคน จึงพออนุมานว่าเกิดความสมานฉันท์ขึ้นในแผ่นดินไทย

ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิด และอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ แต่มีบันทึกหนึ่งของศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร หนึ่งในคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ผู้ชันสูตรพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ได้เขียนหนังสือเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต” อันเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่า “พระองค์มิได้ทรงปลงพระชนม์เอง”

ท่านบันทึกว่า “ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ประเทศไทยได้สูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างเนื่องจากกรณีนี้ หนึ่ง ประชาชนคนไทยทั้งชาติสูญเสียพระมหากษัตริย์อันทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐ สอง เสียความสามัคคีทำให้ประชาชนมีความเห็นแตกแยกกันเป็นหมู่เหล่า ไม่ยอมร่วมมือกันในการทะนุบำรุงชาติให้เจริญ สาม ประชาชนสูญเสียกำลังใจ และเกียรติของตนที่แม้แต่องค์พระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ก็ไม่สามารถแวดล้อมให้พระองค์ท่านพ้นภัยอันตรายได้ สี่ เศรษฐกิจของชาติเสียหายไม่สามารถประเมินค่าได้

สิ่งที่ประชาชนคนไทยได้มาก็คือ หนึ่ง ได้องค์พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่อันประเสริฐมาแทน สอง ประชาชนมีความเชื่อถือเพิ่มขึ้นในการดำเนินการความยุติธรรมของศาลของประเทศ สาม ในแง่วิชาการเป็นสาเหตุให้เกิดการตื่นตัวในการที่จะศึกษาหาความรู้ในวิชานิติเวชศาสตร์ให้ลึกซึ้งกว้างขวางขึ้น และทำให้องค์การสถิตยุติธรรมประเทศไทยเกิดเลื่อมใสในกิจการของวิชานี้ยิ่งกว่าเดิม แม้แต่ชาวต่างประเทศที่มาร่วมเป็นพยานก็เลื่อมใสในทางวิชาการของประเทศไทย

และมีปรากฏการณ์หนึ่งเสมือนเป็นสงครามสารสนเทศปะทุขึ้นแล้วในขณะนั้นคือ มีนักเขียนชาวอังกฤษชื่อ นายเรเน่ กรูเกอร์ (Rayne Kruger) ได้เขียนวิเคราะห์กรณีสวรรคตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 8 ในเชิงการเมือง และหยิบยกหลักฐานบางอย่างอันเป็นเรื่องส่วนพระองค์ที่คนหลายคนพยายามที่จะทำให้เป็นเรื่องการเมืองในหนังสือเรื่อง The Devil’s Discus ที่มีความผิดพลาดเรื่องข้อมูลหรือเรื่องราวที่ไม่มีมูลความจริงมากมาย ทั้งๆ ที่ผู้เขียนพยายามที่จะแสดงตนว่ารู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี และข้อวิเคราะห์บ่งชี้ความผิดพลาดอยู่ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 หนังสือเรื่อง The Devil’s Discus ตีพิมพ์ในอังกฤษไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี แม้กระทั่งนายเรเน่ กรูเกอร์ ก็ไม่สามารถที่จะวิจารณ์ข้อวิเคราะห์ของกลุ่มแพทย์ไทยสาขาต่างๆ จำนวน 17 คน แพทย์และผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษ 3 คน เป็นแพทย์ 2 คน และเป็นเจ้าหน้าที่ฉาย X-ray 1 คน และแพทย์อเมริกัน 1 คนซึ่งที่ประชุมกรรมการแพทย์มีมติว่า “เป็นการลอบปลงพระชนม์” อันดับแรกใน 3 ทางเลือก คือ ทรงปลงพระชนม์เองและเป็นอุบัติเหตุเพราะมีเหตุผลทางวิชานิติศาสตร์ การทดลอง และวิชาการแพทย์หลายแขนงที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องระบบประสาท ระบบการสั่งการ และระบบกล้ามเนื้อ สำหรับการทดสอบนั้นมีการใช้ศพคนตาย 7 ศพ นำมาทดลองยิงด้วยปืนขนาดและชนิดเดียวกันเป็นหลักฐานอ้างอิง

ผลจากการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาของแพทย์ผู้ชำนาญ ที่ทำให้ทั้งสามศาลใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี ซึ่งสรุปว่า “ในหลวง รัชกาลที่ 8 มิได้ทรงปลงพระชนม์เอง” นั้นเกิดขึ้นจาก “วินัยแพทย์” โดยแท้ เพราะภารกิจนี้เป็นมหาภารกิจของแพทย์ที่เกี่ยวข้องทุกคน เป็นภารกิจที่อยู่เหนือความเป็นเพื่อน เป็นอาจารย์ เป็นศิษย์กันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหนือความกลัวตาย

วินัย คือ อะไร วินัย คือ ระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับสำหรับควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ของคนในสังคมให้เรียบร้อย ดีงามเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้อยู่ร่วมกันด้วยความสุขสบาย ไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน วินัยช่วยให้คนในสังคมห่างไกลจากความชั่วทั้งหลาย วินัยมี 2 ชนิด วินัยทางโลก วินัยทางธรรม ซึ่งสามัญชนอย่างเราจะต้องยึดอาคาริยะวินัยอันเป็นวินัยสำหรับผู้ครองเรือน หัวใจก็คือ การไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่นทั้งกาย วาจา ใจ

การไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งกาย วาจา ใจนั้นเป็นการลดความขัดแย้ง ความขัดแย้งที่สร้างปัญหาในชีวิตมนุษย์มากที่สุดได้แก่ ความขัดแย้งส่วนตัว (Intrapersonal Conflict) กับความขัดแย้งทางการเมือง (Political Conflict) โดยรวมความขัดแย้งจำแนกได้ประมาณ 20 ประเภท ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังเกิดความขัดแย้งของกลุ่มหรือ Group Conflict ก็คือ ความแตกต่างกันที่ขัดแย้งกัน เพราะมีบรรทัดฐานความคิดทางสังคมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางการเมือง

เมื่อการเมืองหมายถึงขบวนการ วิธีการ และหลักการซึ่งบุคคลหรือกลุ่มบุคคลปรารถนาที่จะให้สังคมมีการตัดสินใจตกลงใจเพื่อได้ประโยชน์หรือผลประโยชน์ฝ่ายตน จึงต้องได้มาซึ่งอำนาจรัฐซึ่งประชาชนเป็นส่วนสำคัญของอำนาจรัฐ ทำให้ประชาชนเป็นตัวแปรสำคัญในการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงมีการแย่งประชาชนกันลักษณะต่างๆ

ประชาชนในเชิงสังคมวิทยาแล้วมีความต้องการแตกต่างกัน มากน้อยแตกต่างกัน จน คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) กล่าวไว้ใน “Paris Manuscript” ปี 1844 ว่า “มนุษย์คือสัตว์โลกที่มีแต่ความต้องการ” แต่ในทางพุทธศาสนาโดยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า “มนุษย์อยู่ภายใต้ความต้องการนั้นอยู่ในรูปของกิเลส 10 ประการ” ซึ่งมีความลึกซึ้งกว่าเพราะในภาวะความโลภ โกรธ และหลงทำให้มนุษย์เบียดเบียนกันและกัน ทั้งกาย วาจา ใจ

แต่ที่สำคัญความขัดแย้งส่วนตัวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของปัจเจกบุคคล ซึ่งห้ามไม่ได้เว้นแต่ว่าบุคคลนั้นยึดถือวินัยเป็นสำคัญ เช่น ทหารอาจจะมีความพอใจหรือไม่พอใจกลุ่มคนทั้งสองสีหรือหลายสี แต่อุดมการณ์ชาติ ภาวะภายใต้คำสาบาน ภาวะภายใต้กฎหมายอาญาทหาร และภาวะภายใต้วินัยทหาร จึงมีกรอบในการประพฤติปฏิบัติเป็นหมู่เหล่าเพื่อผลประโยชน์ของชาติ

โดยนัยของสามัญชนปกติแล้ว ย่อมไม่ต้องการให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน เพราะมนุษย์เกิดมาภายใต้จิตสำนึกของเมตตาธรรม จึงมักจะห้ามปรามคู่กรณีที่ใช้กำลังทำร้ายกัน ยกเว้นแต่เป็นพวกซาดิสต์หรือคู่กรณีมีความเคียดแค้นฝังลึกมาก จนอยู่เหนือความเจ็บปวด เหนือความหายนะของกันและกัน เกินกว่าการห้ามปรามก็ต้องปล่อยให้ทำร้ายกันจนมีฝ่ายหนึ่งยอมแพ้ และเมื่อทั้งสองฝ่ายมองเห็นความบาดเจ็บเสียหายก็จะเกิดจิตสำนึกเพราะมันเป็นความเจ็บปวดทั้งกายและใจ จนในที่สุดก็ลืมความเคียดแค้นนั้นสนิท

ประเด็นที่ยกขึ้นมากล่าวนี้ จะเห็นได้จากคู่แค้นเอาเป็นเอาตายกันยามเมื่อคืนดีกันก็จะรักกัน หรือยอมรับผลประโยชน์ที่ได้รับร่วมกัน เช่น กรณีสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ค.ศ. 1860-1865 บ้านเมืองพินาศฉิบหาย ผู้คนล้มตายนับล้าน และเกิดโศกนาฏกรรมนับแสนนับล้านกรณี จนบัดนี้สงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่คนอเมริกันเข็ดขยาดแทบที่จะไม่อยากคิด ไม่อยากศึกษา และไม่อยากวิจารณ์ถึงมันเลย

ดังนั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะต้องมีวินัย ประธานสภาทั้งสองสภาจะต้องมีวินัย ประธานคณะศาลต่างๆ จะต้องมีวินัย ข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะต้องมีวินัย ทหารต้องยึดมั่นในคำสาบาน นั่นหมายถึง การละเว้นความชั่ว กล้าวิเคราะห์ความชั่ว กล้าทำโทษคนทำชั่ว และคนทำผิดกฎหมายระเบียบข้อบังคับ และที่สำคัญคือ ต้องจัดการกับคนชั่วอย่างเด็ดขาด แม้คนคนนั้นจะมีอำนาจเงินมาก มีบารมีเชิงชั่วมากก็ตาม หรือคนที่เป็นตัวอย่างของความไร้ความชอบธรรม แต่สำคัญที่สุดรัฐบาลนี้ต้องเล่นการเมืองอย่างมีวินัย โดยไร้ผลประโยชน์ของตนและพวก และต้องจัดการกับทักษิณโดยปราศจากความเกรงกลัวใดๆ ทั้งสิ้น มีความผิดใดก็เอาผิดตามนั้น และเมื่อสังคมการเมืองมีวินัย ความสมานฉันท์ของชนในชาติก็เกิดขึ้น

                                                nidd.riddhagni@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น