xs
xsm
sm
md
lg

ไตรมาส1บจ.กำไรวูบ7หมื่นล.วิกฤตศก.ฉุด143บริษัทขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - วิกฤตเศรษฐกิจทำพิษบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำไรงวดไตรมาสแรกปีนี้ลดวูบ! 7 หมื่นล้านบาทหรือ48% เหลือเพียง 80,278 ล้านบาท จาก1.5 แสนล้านในช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดขายรวมเหลือ 1,352,767 ล้านบาทลดลง24% ขาดทุน 143 บริษัท กลุ่มทรัพยากร-กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มบริการ เป็น3กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสูงสุด โดยมี THAI ขึ้นเบอร์หนึ่งกำไรสุทธิสูงสุด ด้าน"ประเสริฐ"จี้รัฐช่วยบจ.ขนาดเล็ก

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประจำไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2552 ว่าบริษัทจดทะเบียน 468 บริษัท จาก 496 บริษัท (รวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์) มีกำไรสุทธิรวม 80,278 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน72,104 ล้านบาท หรือ48% จาก 152,382 ล้านบาทโดยมีบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 325 บริษัท และขาดทุนสุทธิ 143 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 69 ต่อ 31 ในขณะที่ยอดขายรวมเท่ากับ 1,352,767 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน24%

"ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไตรมาส 1 ปี 2552 รวม 80,278 ล้านบาท เป็นกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากถึง196% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ที่ขาดทุนสุทธิ 83,623 ล้านบาท เนื่องจากการบริหารต้นทุนขายที่มีประสิทธิภาพ" นางภัทรียากล่าว

สำหรับบริษัทในกลุ่ม SET100 มีกำไรสุทธิ 77,773 ล้านบาท ลดลง42% จากงวดเดียวกันของปีก่อนยอดขายลดลง 26% ขณะที่ต้นทุนขายลดลง 28% ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก18% เป็น20% ส่วนบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 มีกำไรสุทธิเท่ากับ 83,091 ล้านบาท ลดลง 32% ยอดขายลดลง 27% ขณะที่ต้นทุนขายลดลงถึง 31% ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 18% เป็น 21%

ส่วนบริษัทที่มีมูลค่ากำไรสุทธิรวมสูงสุด 5 อันดับแรกคือ บมจ. การบินไทย (THAI) บมจ. ปตท. (PTT) บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) และ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)
ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) [ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่าย อาจถูกเพิกถอน (Non-Compliance: NC) และบริษัทในกลุ่มที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด(Non-PerformingGroup: NPG)] จำนวน 449 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 80,571 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน48% โดยผลการดำเนินงานเรียงตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุดดังนี้

1.กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วย หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่ มีกำไรสุทธิ 32,355ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 39% แต่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่มีขาดทุนสุทธิ 63,715 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 151%

2.กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วย หมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิ 23,311 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 18% ทั้งนี้ แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่มีกำไรสุทธิ 11,348 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น105%

3.กลุ่มบริการ ประกอบด้วย หมวดการแพทย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดบริการเฉพาะกิจ หมวดพาณิชย์ และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ มีกำไรสุทธิ 13,049 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 26% แต่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ที่มี กำไรสุทธิ 1,020 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,179%

4.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วยหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดวัสดุก่อสร้างและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรสุทธิ 12,625 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 28% ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ซึ่งมีผลการดำเนินงานขาดทุน 3,686 ล้านบาท จะมีผลการดำเนินงานดีขึ้นคิดเป็น 443%

5.กลุ่มเทคโนโลยีประกอบด้วยหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีกำไรสุทธิ 7,717 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 54% แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ที่มีขาดทุนสุทธิ 4,462 ล้านบาท จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 253%

6. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร มีกำไรสุทธิ 4,385 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 5% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 293%

7. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วยหมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงานหมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดแฟชั่น มีกำไรสุทธิ 390 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 79%ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมีกำไรสุทธิลดลง 46%

8.กลุ่มวัตถุดิบสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วยหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ และหมวดยานยนต์ ขาดทุนสุทธิ 13,261 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 195% ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 กลุ่มวัตถุดิบสินค้าอุตสาหกรรมทุกหมวดมีผลการดำเนินงานดีขึ้นโดยมีขาดทุนสุทธิลดลง50%ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 26,615 ล้านบาท

ด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า จากผลประกอบการไตรมาส1ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าปรับตัวลดลงไปจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง แม้กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเลบี้ยลงมา ก็ไม่สามารถช่วยให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นได้มากนัก ทำได้เพียงประคับประครองให้กำไรในปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อนเท่านั้น อย่างไรก็ตามจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สิ่งที่สำคัญคือ บจ.ต้องบริหารเงินสดให้ดี ลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งพิจารณาการลงทุนใหม่ๆอย่างรอบคอบ ลดความจำเป็นเรื่องต่างๆ เพื่อความอยู่รอด

"เรากังวลในเรื่องการขาดสภาพคล่องทางการเงินของบรฃิษัทขนาดใหญ่และเล็ก แต่บริษัทขนาดใหญ่การหาเงินระดมทุนจากแหล่งหรือช่องทางอื่นเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่บริษัทขนาดเล็ก น่าเป็นห่วง เพราะแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากกลัวปัญหาในเรื่องหนีเสีย จนทำให้ต้องตั้งสำรองมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนและให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ"
กำลังโหลดความคิดเห็น