xs
xsm
sm
md
lg

กองสำรองเลี้ยงชีพส่อวิกฤตเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจี้ก.คลังรอบ2 เร่งไฟเขียวช่วยนายจ้าง-ลูกจ้างงดจ่ายเงินสมทบชั่วคราว หลังแนวโน้มปัญหาอาจทวีความรุนแรงขึ้น จากตัวเลขผลกระทบแล้วกว่า 5.58 พันล้านบาท เป็นลูกจ้าง 2,239 รายและนายจ้างกว่า 229 ราย ศูนย์วิจัยกสิรไทย คาดกองทุนสำรองฯปี 52 อ่วม โตต่ำสุดในรอบ 7 ปีทั้งจากภาวะการลงทุนหดตัว และปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการลด-เลิกจ่ายเงินสมทบของนายจ้าง

นางสาวอารยา ธีระโกเมน ประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม) เปิดเผยว่า หลังจากวิกฤติการณ์ทางการเงินสหรัฐได้ส่งผลลุกลามต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น ได้ส่งผลกระทบทั้งต่อภาคการเงินและภาคการผลิตของประเทศ เป็นเหตุให้นายจ้างหลายรายต้องลดกำลังการผลิตแต่ยังต้องแบกรับภาระต้นทุนในระดับสูง และต้องหาทางลดต้นทุนเพื่อความอยู่รอด
"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนับเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งที่นายจ้างได้พยายามลดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราการนำส่งเงินสมทบลง โดยบางส่วนได้ลดอัตราการนำส่งเงินสมทบจนถึงอัตราต่ำสุดแล้วยังมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถรักษาสถานะของบริษัทไว้ได้ และถึงขั้นอาจหยุดนำส่งเงินและแสดงความประสงค์ที่จะเลิกกองทุนก็มี ซึงจากข้อมูลถึงตอนนี้มีนายจ้างยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปแล้วกว่า 36 รายคิดเป็นมูลค่าสุทธิที่ลดลงกว่า 137,455,775 ล้านบาท และกระทบต่อลูกจ้างกว่า 2,239 เลยทีเดียว"นายอารยากล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 มีจำนวนนายจ้างที่แสดงความประสงค์จะขอหยุดส่งเงินเข้ากองทุนเป็นการชั่วคราวสูงถึง 229 นายจ้าง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 5,580 ล้านบาท และทำให้มีลูกจ้างที่อาจได้รับผลกระทบมากถึงจำนวนกว่า 50,606 คนด้วยกัน ทั้งในส่วนธุรกิจผลิตและขายส่ง ผลิตและแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ขนส่ง ค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
สำหรับจำนวนนายจ้างที่แสดงความประสงค์จะขอหยุดส่งเงินเข้ากองทุนเป็นการชั่วคราวดังกล่าว นับเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนหน้า ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ที่มีจำนวน 150 นายจ้าง
มูลค่าสินสุทธิของกองทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,462 ล้านบาท และจำนวนลูกจ้างที่อาจได้รับผลกระทบ 23,256 คน
นางสาวอารยา กล่าวอีกว่า ภายหลังที่สมาคมฯ พิจารณาจากข้อมูลจำนวนนายจ้างที่ประสบปัญหาเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อสมาชิกกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินทุนดังกล่าวเป็นเงินออมเพื่อการเกษียณอายุ ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของผู้ออมในวัยชรา ลดปัญหาการพึ่งพิงผู้อื่น และแบ่งเบาภาระของรัฐบาล
"การที่นายจ้างไม่สามารถนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนจนถึงขั้นต้องปิดกองทุนจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเงินออมเพื่อการเกษียณอายุของสมาชิกกองทุน อีกทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินออมที่ควรได้รับเมื่อเกษียณอายุก็จะหมดไปด้วย"
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างที่ประสบปัญหาดังกล่าวสมาคมจึงได้นำส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง พิจารณาอนุมัติให้นายจ้างที่ประสบปัญหาด้านการเงินหยุดนำส่งเงินเป็นการชั่วคราวอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จะขึ้นอยู่กับผลการพิจารณาของกระทรวงการคลังหลังจากนี้ต่อไปว่าจะมีการตัดสินใจอย่างไร
นอกจากนี้ สมาคมได้รวบรวมข้อมูลนายจ้างที่แสดงความประสงค์จะขอหยุดนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราวในต่างประเทศ พบว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการหยุดนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างที่ประสบปัญหาจากสภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน โดย ณ วันที่ 30 เมษายน 2552 บริษัทที่ได้มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา 225 บริษัท อาทิ General Motor, Ford Chrysler, Motorola, FedEx, 7-Eleven, Coca Cola Bottling Co. Consolidated, Starbucks ฯลฯ ได้มีการหยุดนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 401 (k) Plan หรือลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเป็นการชั่วคราวแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ระบุว่าจะหยุดนำส่งเงินในปี 2009 และอาจต่อเนื่องไปถึงปี 2010 ได้จนกว่าสถานะทางการเงินของนายจ้างจะดีขึ้น
**เอ็นเอวีโตต่ำสุดในรอบ7ปี**
ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดแนวโน้มของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีนี้่ว่า นอกเหนือจากความเสี่ยงจากการลงทุนซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนหรืออัตราผลตอบแทนของ NAV ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย ยังอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของจำนวนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปี 2552 มีโอกาสต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและและความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งนำมาสู่ปัญหาความผันผวนและการชะลอตัวของกระแสรายรับในภาคธุรกิจ ได้ส่งผลให้ในช่วงต้นปี 2552 นายจ้างที่เคยจ่ายเงินสมทบเกินอัตราขั้นต่ำที่ 2% บางส่วนเริ่มขอปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากขึ้นเพื่อเป็นการปรับลดต้นทุนของบริษัท ขณะที่ ล่าสุด กลุ่มนายจ้างก็ได้ปรึกษาถึงความเป็นไปได้ในการขอหยุดนำส่งเงินเข้ากองทุนเป็นการชั่วคราวไปยัง กลต. และกระทรวงการคลัง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ก็ยังไม่ได้ผ่อนผันในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2552 ที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คาดว่าอาจมีนายจ้างพิจารณาทางเลือกในการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของ NAV กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้
สำหรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อผลตอบแทนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปี 2552 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเตรียมรับมือ ไม่ว่าจะเป็น สมาชิกหรือลูกจ้าง โดยอาจใช้สิทธิ์ในการทำข้อตกลงกับบลจ.สำหรับการขอขยายระยะเวลาการคงเงินกองทุนฯออกไปอีกโดยอาจมากกว่า 1 ปี เพื่อรอถอนเงินในจังหวะเวลาที่ภาวะการลงทุนเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตลอดจนอาจผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ขณะเดียวกัน สำหรับภาครัฐนั้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีบทบาทในการเข้ามาดูแลระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันระหว่างบลจ.ในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือการสนับสนุนให้มีการจัดทำ Employee’s choice เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับสมาชิก แต่เนื่องจากสมาชิกของกองทุนยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของการมีทางเลือกการลงทุนและการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบลจ. ดังนั้นภาครัฐจึงควรเข้ามามีบทบาทเพิ่มเติมในการสนับสนุนให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญต่อการเลือกนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อผลประโยชน์ของตัวลูกจ้างเองมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น