xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ไม่ฟื้นทำ"สายการบิน"เอเชียทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - นักวิเคราะห์ชี้สายการบินชั้นนำในเอเชียกำลังต้องปรับตัว เพื่อฝ่าวิกฤตที่ทำท่ารุนแรงยิ่งขึ้น หลังจากผลประกอบการในไตรมาสแรกทรุดดิ่งอย่างไร้วี่แววว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อไร หนำซ้ำยังถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และถูกสายการบินต้นทุนต่ำมาชิงตลาดเพิ่มด้วยการเปิดเส้นทางบินไกลมากขึ้น
สิงคโปร์แอร์ไลน์ (เอสไอเอ) เป็นสายการบินของเอเชียรายล่าสุดที่เพิ่งประกาศผลประกอบการโดยระบุว่าผลกำไรสุทธิในไตรมาสซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ดิ่งลงถึง 92 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 41.9 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (28.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
โดยในระหว่างไตรมาสดังกล่าว รายรับลดลงต่อปีราว 19.1 เปอร์เซ็นต์ โดยอยู่ที่ 3,320 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ในปีการเงินที่เพิ่งสิ้นสุด(เม.ย.2008-มี.ค.2009) ผลกำไรสุทธิตกลง 48.20 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 1,060 ล้านดอลลาร์
ชิวชุนเส็ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอสไอเอ กล่าวว่าภาวะทรุดดิ่งของธุรกิจสายการบินดูเหมือนจะกำลังคงที่แล้ว แต่ยังไม่มีร่องรอยบ่งชี้ว่าสถานการณ์กำลังเริ่มกระเตื้อง ดังนั้น เวลานี้จึงเป็นช่วงของอาการทรงๆ และการฟื้นตัวอย่างแท้จริง "ยังคงมองไม่เห็นในขณะนี้"
เอสไอเอนั้นมีรายได้ราว 40 เปอร์เซ็นต์จากผู้เดินทางในชั้นพิเศษ นั่นคือชั้นธุรกิจและเฟิร์สต์-คลาส แต่ธุรกิจส่วนนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่ภาคธุรกิจต่างกำลังลดการเดินทางลง ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกับที่สายการบินคาเธย์ แปซิฟิกของฮ่องกง และแควนตัสของออสเตรเลียกำลังเผชิญอยู่
นักวิเคราะห์บอกว่าที่ผ่านมาสายการบินทั้งสามได้ประกาศมาตรการเพื่อประหยัดต้นทุนไปแล้ว เช่น การให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และลดพนักงานลง
"ผมยังมองไม่เห็นเลยว่าจะมีอะไรมาช่วยธุรกิจการบินได้ ... พวกเขาก็ทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อลดค่าใช้จ่ายแล้ว" จิม เอคเคส กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทที่ปรึกษาอินโดสวิส เอวิเอชัน ในฮ่องกง บอกและเสริมว่า "สิ่งที่ธุรกิจนี้ต้องการก็คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจนบัดนี้เราก็ยังไม่เห็นเลย"
เอคเคสระบุว่าการเดินทางในชั้นพิเศษนั้นลดลงราว 30-40 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า "ทุกวันนี้ไม่มีใครเลือกใช้เที่ยวบินเฟิร์สต์คลาสหรือชั้นนักธุรกิจอีกแล้ว ... ธุรกิจที่ทำกำไรสูงนี้อันตรธานไปเลย"
นอกจากนั้น เอคเคสยังชี้ว่าการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งล่าสุดมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 8,000 คน และมีผู้เสียชีวิตไป 72 คนแล้วน้น มีส่วนทำให้ธุรกิจการบินทรุดลงไปอีกด้วย
"มันยากที่จะบอกว่าไวรัสนี้ส่งผลต่อธุรกิจการเดินทางอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ก็คือมันไม่ช่วยอะไรสายการบินเลยในขณะที่ธุรกิจกำลังตกต่ำ และตอนนี้ธุรกิจสายการบินก็ตกต่ำจริงๆ เสียด้วย"
ดีเรค ซาดุบิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของศูนย์การบินเอเชียแปซิฟิก (ซีเอพีเอ) ในซิดนีย์ ก็บอกว่าสายการบินชั้นนำที่ให้บริการเต็มรูปแบบกำลังเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากพวกสายการบินต้นทุนต่ำด้วย
"เราถูกบีบจากทั้งสองด้าน" ซาดุบินกล่าว "ความหวังเดียวที่มีก็คือว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นบางส่วนแล้วกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกกลับเข้าที่เข้าทาง"
ทั้งนี้เมื่อเดือนเมษายน คาเธย์ แปซิฟิกรายงานผลประกอบการว่ารายรับประจำไตรมาสซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมตกลง 22 เปอร์เซ็นต์ โดยก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ สายการบินแห่งนี้ก็เพิ่งประกาศขาดทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในปี 2008 ซึ่งนับเป็นการประสบขาดทุนตลอดทั้งปีเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ
ส่วนแควนตัสนั้นเมื่อเดือนที่แล้วก็ประกาศแผนการปลดพนักงานเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจตกต่ำ และยังคาดว่าจะมีผลกำไรในปีการเงินที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ถึงกว่าครึ่งหนึ่ง และสายการบินยังได้ชะลอการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ไว้ด้วย
อนึ่ง สายการบินเอเชียที่ใหญ่ที่สุดอย่างแจแปน แอร์ไลน์ ก็รายงานผลประกอบการในเดือนพฤษภาคมว่ามียอดขาดทุนสุทธิ 63,200 ล้านเยน (664.30 ล้านดอลลาร์) ในช่วง 12 เดือนนับถึงมีนาคมที่ผ่านมา โดยในปีก่อนหน้านี้มีผลกำไร 16,900 ล้านเยน และจะลดพนักงาน 1,200 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น