xs
xsm
sm
md
lg

กรณีพิพาทชิงไหล่ทวีปทำท่าระอุ หลังทุกปท.อ้างสิทธิในเส้นตายUN

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – โลกทำท่าจะต้องประสบกับข้อพิพาทอ้างสิทธิ์เหนือพื้นมหาสมุทรจำนวนมากมาย ตั้งแต่แถบทะเลจีนใต้ไปจนถึงขั้วโลกเหนือ ภายหลังจากครบเส้นตายวันที่ 13 พฤษภาคม ซึ่งสหประชาชาติกำหนดให้แต่ละประเทศ ทำการอ้างสิทธิเพื่อที่จะได้วางหลักเกณฑ์ในการแก้ปัญหาเขตแดนทางทะเลนี้

ภายในวันพุธ(13)ที่ผ่านมา บรรดารัฐชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่จะต้องขีดเส้นกำหนดเขตไหล่ทวีป หรือก็คือพื้นที่นอกชายฝั่งที่เป็นเขตน้ำตื้น ว่าของตนมีขอบเขตแค่ไหน และยื่นเสนอต่อคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของสหประชาชาติ การกำหนดเขตไหล่ทวีปนี้ก็คือการขีดวงพื้นที่เพื่อการอ้างสิทธิต่างๆ ของประเทศชาติของตน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในน้ำมันและก๊าซ ตลอดจนสิ่งมีชีวิตใต้พื้นสมุทร

“นี่เป็นการสร้างหลักเกณฑ์ครั้งสำคัญด้านเขตแดนในมหาสมทุร และก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแผนที่โลกเลยทีเดียว” ฮาราลด์ เบรกเก เจ้าหน้าที่ชาวนอรเวย์ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการด้านขอบเขตของไหล่ทวีปของสหประชาชาติกล่าว

“มีหลายประเทศทีเดียวส่งพื้นที่เขตไหล่ทวีปซึ่งทับหรือล้ำเกินกันไปมา” เขาบอก

เส้นตายวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 นี้ กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2004 แล้ว นับจนถึงวันอังคาร(12)มี 48 ประเทศที่ยื่นอ้างสิทธิ์ทุกอย่างเต็มที่ตามที่กำหนดเอาไว้แล้ว ส่วนอีกหลายสิบประเทศได้เริ่มส่งรายละเอียดขั้นต้นเข้ามาเพื่อให้ทันเส้นตาย

รัสเซียได้แสดงสิทธิของตนเองด้วยวิธีที่ชัดเจนกว่าประเทศอื่น ๆโดยการใช้เรือดำน้ำขนาดเล็ก ลงไปปักธงที่พื้นสมุทรใต้ขั้วโลกเหนือเมื่อปี 2007 กระนั้น มันก็เป็นเขตเดียวกับที่เดนมาร์กอ้างว่าเป็นของตนเอง

และการส่งเอกสารอ้างสิทธิเหนือพื้นสมุทรของหลายๆ ประเทศ แท้ที่จริงแล้วก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงข้อพิพาทที่ยังคงดำรงอยู่ระหว่างหลาย ๆประเทศ เช่น ระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างจีนและหลายประเทศเพื่อนบ้านในทะเลจีนใต้ และระหว่างอังกฤษและอาร์เจนตินาเหนือหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ในมหาสมุทรแอตแลนติคใต้

“จีนมีอธิปไตยเหนือพวกหมู่เกาะในทะเลจีนใต้และบริเวณใกล้เคียงอย่างที่ไม่มีใครมาโต้แย้งได้” หม่าเจ้าซื่อ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงเมื่อกล่าวถึงประเด็นข้อขัดแย้งเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ระหว่าง จีน มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

เบรกเกกล่าวว่าคณะกรรมาธิการไม่สามารถที่จะตัดสินเรื่องเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ใต้ทะเลรอบเกาะซึ่งหลายประเทศอ้างสิทธิได้

ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่ ประเทศต่าง ๆสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใต้สมุทรได้ หากว่าไหล่ทวีปของตนอยู่เลยไปจากน่านน้ำของตนเองซึ่งกำหนดไว้ที่ 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง แต่ก็ยังไม่มีการกำหนดว่าขอบเขตที่แท้จริงของไหล่ทวีปที่ประเทศหนึ่งสามารถแสดงสิทธิได้นั้นอยู่ตรงไหน เป็นที่หวังกันว่า ภายหลังผ่านกำหนดเส้นตายคราวนี้ จะทำให้สถานการณ์กระจ่างขึ้นมาก

เท่าที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการของสหประชาชาติได้รับรองขอบเขตไหล่ทวีปส่วนใหญ่ของรัสเซีย บราซิล ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ เม็กซิโก รวมทั้งสิทธิร่วมที่ประเทศยุโรปหลายแห่งอ้างเหนือพื้นที่ใต้สมุทรรอบ ๆอ่าวบิสเคย์และทะเลเซลติก

พื้นมหาสมุทรที่ไกลชายฝั่งออกมามากนั้น เคยถูกมองว่ามีผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ไม่มากนัก แต่ปัจจัยต่าง ๆที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันนับตั้งแต่โลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งที่อาร์กติกละลาย ไปจนถึงเทคโนโลยีการขุดเจาะที่ดีขึ้นทำให้มุมมองนี้เปลี่ยนแปลงไป

กีย์ คานท์เวลล์จากทรานสโอเชียนในเมืองฮุสตันยกตัวอย่างว่า แท่นขุดเจาะรุ่นใหม่ล่าสุดนั้นมีความสามารถที่จะทำงานได้ใต้พื้นน้ำลงไปได้ 12,000 ฟุต และตอนนี้แท่นรุ่นนี้กำลังถูกส่งจากเกาหลีใต้ไปทดสอบการใช้งานในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ทำให้การขุดเจาะหาทรัพยากรต่าง ๆโดยเฉพาะในน้ำมันในเขตน้ำลึกนั้นง่ายดายยิ่งขึ้น

เบรกเกกล่าวว่าคงจะใช้เวลาหลายปีที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างกัน แม้กระทั่งประเทศที่มิได้อ้างสิทธิเหลื่อมล้ำกับประเทศอื่น ๆก็คงต้องมีการพิสูจน์กันว่าควรจะได้เป็นกรรมสิทธิ์หรือไม่ ประเทศที่ส่งข้อมูลการอ้างสิทธิไม่ทันเส้นตายในเวลาเที่ยงคืนในนิวยอร์คก็เสี่ยงต่อการจะไม่ได้รับการรับรองของสหประชาชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น