xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กระทบจ้างงานขอนแก่น พบโรงงานส่งออกมีออเดอร์แค่สิ้นไตรมาส 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิฑูรย์  กมลนฤเมธ
ศูนย์ข่าวขอนแก่น- เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจ.ขอนแก่น ระบุเริ่มพบสัญญาณอันตรายต่อการจ้างงานในพื้นที่ เหตุอุตสาหกรรมผลิตส่งออกมีออเดอร์รองรับแค่ไตรมาส 2 เท่านั้น ขณะที่นายจ้างเอกชนยอมให้ลูกจ้างมีวันหยุดงานมากกว่าราชการกำหนด ทั้งขอผ่อนผันส่งเงินประกันสังคมแล้ว ห่วงสถานการณ์ช่วงกลางปีอาจมีคนว่างงานหลายหมื่นตำแหน่ง วอนผู้ประกอบการอย่าด่วนเลิกจ้าง แนะกัดฟันสู้ ปรับตัวรับสถานการณ์รอเศรษฐกิจโลกฟื้น

นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ในฐานะคณะทำงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จากปัญหาวิกฤตการเงินสหรัฐอเมริกา ที่ลุกลามกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจในจังหวัดขอนแก่น ณ ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนนัก โดยการเลิกจ้างแรงงานในสถานประกอบการจังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา การเลิกจ้างแรงงานเกิดขึ้นบ้างแต่ยังไม่มากนัก

จากการติดตามข้อมูลภาวะถดถอยเศรษฐกิจโลก และตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องหลายๆด้านใน จ.ขอนแก่น ประเมินได้ว่าสถานการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะการเลิกจ้างงานในระยะต่อไป อาจจะเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยคณะทำงานฯพบว่า สถานประกอบการหลายแห่งในจังหวัดขอนแก่นที่ทำธุรกิจส่งออก มีออเดอร์เพียงแค่ไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 52นี้เท่านั้น หลังจากนั้นยังไม่ชัดเจนว่าคู่ค้าต่างประเทศจะสั่งออเดอร์เพิ่มหรือไม่

ขณะเดียวกัน สถานประกอบการหลายแห่ง เริ่มลดชั่วโมงการทำงานนอกเวลาหรือโอทีลง หรือบางแห่งไม่มีโอที ให้พนักงานทำแล้ว ทั้งสถานประกอบการได้จัดตารางทำงาน เพิ่มวันหยุด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญของไทย เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ สถานประกอบการกลับอนุญาตให้พนักงานหยุดงานมากกว่าวันหยุดที่ราชการกำหนดไว้ ซึ่งโดยปกติหน่วยงานเอกชนกำหนดวันหยุดงานให้สั้นกว่าวันหยุดราชการ เพื่อประสิทธิภาพของธุรกิจ

ข้อมูลที่น่าสนใจ วันหยุดช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา รัฐบาลอนุมัติให้หยุดงานได้ 4 วัน จากวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ถึง 4 มกราคม 2552 แต่สถานประกอบการบางแห่งใน จ.ขอนแก่น ยินยอมให้พนักงานหยุดงานฉลองปีใหม่มากกว่า 5 วัน บางแห่งให้หยุดงานได้ถึง 10 วัน หรือแม้กระทั่งวันตรุษจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม สถานประกอบการยอมให้พนักงานหยุดงานได้ถึง 1 สัปดาห์เต็ม ชี้วัดได้ว่า สถานประกอบการเริ่มมีปัญหาการผลิตแล้ว

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงสถานประกอบการเริ่มมีปัญหาอีกด้านคือ การจ่ายเงินประกันสังคม ในส่วนที่นายจ้างต้องสมทบจ่ายให้ลูกจ้าง พบว่าสถานประกอบการเริ่มขอผ่อนผันการชำระเงินสมทบในส่วนที่นายจ้างต้องสมทบให้แก่สำนักงานประกันสังคม บางรายชำระล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ คาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการจ้างแรงงาน และผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจังหวัดขอนแก่น น่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้นเมื่อสิ้นไตรมาสแรกไปแล้ว

จุดที่น่าเป็นห่วงคือ ในช่วงไตรมาสแรก ต่อเนื่องไตรมาสสองของทุกปี จะมีนักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ เข้าสู่ภาคแรงงานจำนวนมาก ขณะที่สถานการณ์ด้านการจ้างงานใน จ.ขอนแก่นปีนี้ น่าจะเกิดการเลิกจ้างงานมากกว่าปกติ อีกทั้งจะมีแรงงานคืนถิ่นจังหวัดขอนแก่นที่ถูกเลิกจ้าง ต้องกลับสู่ถิ่นฐาน น่าจะทำให้สถานการณ์การว่างงานหลังจากไตรมาสที่ 2 สูงขึ้นอีก

แนะผู้ประกอบการกัดฟันสู้รอเศรษฐกิจฟื้น

เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สถานการณ์การว่างงานในปี 2551 ที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาการเมือง เกิดความไม่สงบทางการเมืองต่อเนื่องตลอดทั้งปี และเกิดปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวช่วงครึ่งหลังของปีก็ตาม แต่การเลิกจ้างปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับ 7,000-8,000 คน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ที่สามารถยอมรับได้ในระดับจังหวัด

ส่วนผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ต่อการเลิกจ้างแรงงานในจังหวัดขอนแก่นปีนี้ ยังไม่สามารถระบุตัวเลขชัดเจนได้ แต่จากการประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ตัวเลขอัตราการว่างงานน่าจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เบื้องต้นตัวเลขอัตราว่างงานไม่น่าจะต่ำกว่า 2-3 หมื่นคน โดยจะต้องประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากสถานประกอบการสามารถหาออเดอร์ใหม่เข้าได้ จะช่วยบรรเทาปัญหาว่างงานไม่รุนแรงนัก

“ทางออกของการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่ลุกลามเข้ามาถึงจังหวัดขอนแก่น อยากให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจผลิตเพื่อการส่งออก ปรับตัวรับสถานการณ์ด้วยสติ ไม่ด่วนตัดสินใจเลิกจ้างแรงงาน แต่ขอความร่วมมือให้พยายามคงการผลิตไว้ เพราะหากเลิกจ้างแล้วจะทำให้เกิดปัญหาสังคมขึ้นอีก ขอให้การตัดสินใจเลิกจ้างแรงงานเป็นการแก้ปัญหาขั้นสุดท้ายเท่านั้น”นายวิฑูรย์กล่าวและว่า

ทั้งนี้ หากสถานประกอบการด่วนตัดสินใจ เลิกจ้างงานหรือยุติกิจการไปแล้ว เมื่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวกลับสู่มาสู่ภาวะปกติ การกลับมาผลิตอีกครั้ง สถานประกอบการจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

อย่างไรก็ตาม มีความเชื่อมั่นว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ จะฟื้นตัวแน่นอน ไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจทรุดตัวแล้วจะล้มไปเลย ดังนั้นสถานประกอบการ ควรพยายามเจรจากับคู่ค้า หรือหาตลาดใหม่รองรับ และอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ ไปผลิตสินค้าชนิดอื่น ภายใต้มาตรฐานการผลิตเดียวกัน หรือจัดทำไฟติ้งแบรนด์เป็นของตนเอง ที่มีระดับราคาที่ต่ำกว่า เช่น จากการผลิตรองเท้า เปลี่ยนมาผลิตกระเป๋า น่าจะเป็นทางออกให้ธุรกิจประคองตัวอยู่ได้ในตลาด
กำลังโหลดความคิดเห็น