xs
xsm
sm
md
lg

ยุติความรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ถ้าใครสังเกตการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยขณะนี้ ก็จะเห็นได้ว่านักการเมืองต้องเป็นฝ่ายแก้ปัญหาให้ตัวเองมากขึ้น แทนที่จะให้ฝ่ายอื่นเข้ามาแก้ปัญหาให้ ความพยายามของนักการเมืองในการแก้ปัญหาทางการเมืองนั้น ก็ยังเวียนว่ายอยู่กับการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คือ รัฐธรรมนูญที่คนอื่นมากำหนดให้นักการเมืองเล่น

แต่ปัญหาการเมืองเวลานี้มีความซับซ้อนขึ้น เพราะการเมืองไทยเข้าสู่สภาวะที่แตกต่างไปจากยุคก่อนๆ ตรงที่มีการใช้ทรัพยากรทางการเมือง คือ ความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีการวางวิธีการต่อสู้แบบกองโจรในเมืองเข้ามาใช้อีกด้วย

การเมืองไทยเวลานี้ไม่ได้เล่นกันอยู่เฉพาะภายในกติกาของระบบรัฐสภา พรรคการเมืองเองก็ได้ปรับยุทธวิธีการต่อสู้ไปโดยประสานการต่อสู้ภายในระบบกับการต่อสู้นอกระบบ เวลานี้จำนวนที่นั่งในสภาฯ เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่การจัดตั้งมวลชน และการเคลื่อนไหวมวลชนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในเวลานี้

ระบบรัฐสภาจึงเป็นเพียงส่วนเดียวของพลวัตทางการเมืองไทย อีกส่วนหนึ่งก็คือ การเคลื่อนไหวมวลชน การโค่นล้มรัฐบาลจะเป็นการเคลื่อนไหวนอกสภาฯ และแกนนำที่มีบทบาทนำการเคลื่อนไหวก็มิใช่ ส.ส. ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงกติกาใดๆ

ในต่างจังหวัด อดีตสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง ผู้ที่เคยทำงานการเมืองก็มุ่งผลิตเอกสาร และปล่อยข่าวโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนผู้ที่เคยสู้รบก็ทำการจัดตั้ง และเคลื่อนไหวมวลชน โดยเฉพาะการชุมนุมที่นำไปสู่ความรุนแรง

ในเมือง การจัดตั้งแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และคนในชุมชนแออัด มุ่งยกระดับให้กลุ่มคนเหล่านี้ทำหน้าที่ก่อกวน และก่อวินาศกรรมในเมือง ได้มีการวิเคราะห์จุดบอดของกรุงเทพฯ อย่างละเอียด โดยพร้อมที่จะประสานการปิดกรุงเทพฯ รอบนอก กับการก่อให้เกิดการจราจรติดขัดในเขตชั้นใน เหตุการณ์เมื่อวันสงกรานต์ชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เป็นการกระทำที่มีการวางแผนเป็นอย่างดี ดังที่เรียกว่า “ชนบทประสานเมือง”

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ฝ่ายทหารและตำรวจลังเลที่จะปฏิบัติการ ยิ่งทำให้ฝ่ายที่มุ่งก่อหวอดสงครามประชาชนได้เปรียบมากขึ้น เพราะการป้องกันและสกัดกั้นการชุมนุมระลอกแรกจะไม่เกิดขึ้น และเมื่อผ่านขั้นตอนแรกไปแล้ว การชุมนุมที่จะมีการแยกกระจายตัวออกไป ก็จะทำให้ปราบปรามได้ยาก ฝ่ายที่จะก่อสงครามประชาชนมีมวลชนจัดตั้งเป็นส่วนหน้า แต่กองกำลังติดอาวุธที่จะก่อเหตุร้ายนั้น มีอยู่ต่างหากอีกชุดหนึ่ง ชุดนี้มีอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นผู้กำกับควบคุม

ภาพการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร แน่นอนที่ความขัดแย้งทางการเมืองจะเป็นความขัดแย้งระยะสั้น เพราะสาเหตุแห่งความขัดแย้งในขณะนี้ มิใช่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ทางเผ่าชนหรือเชื้อชาติ ศาสนา ดังที่เป็นอยู่ในสังคมอื่น ความขัดแย้งที่มาจากการสนับสนุนตัวบุคคล จะไม่ทำให้ผู้สนับสนุนทำการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับแหล่งเงินสนับสนุน ตราบใดที่การสนับสนุนทางการเงินลดลง ผู้เข้าร่วมก็จะหมดความกระตือรือร้น

แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็จะไม่เข้าร่วม เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป้าหมายสำคัญ เป้าหมายคือ การนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลบางคนเท่านั้น พรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่สามารถก้าวไปไกลกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา แต่ก็ไม่อาจก้าวล่วงไปถึงการนิรโทษกรรมได้

หากมีการดึงดันจะให้มีการนิรโทษกรรม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็จะออกมาเคลื่อนไหวใหญ่ และครั้งนี้อาจมีการปะทะกับฝูงชนอีกกลุ่มหนึ่ง ทหาร-ตำรวจ ก็จะมีทีท่าเช่นเดิม คือไม่ดำเนินการอะไร คงปล่อยให้ประชาชนเข่นฆ่ากันเอง และถ้าทหารออกมาทำปฏิวัติอีกครั้ง ก็จะอยู่ยาว แทนที่จะรีบถอยกลับ ก็จะใช้ระบอบกึ่งประชาธิปไตย และจะไม่ให้พรรคการเมืองมีอำนาจต่อรองมากนัก

สถานการณ์ที่การเมืองไม่นิ่ง ย่อมทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน โดยเฉพาะในปีนี้ ผลกระทบของเศรษฐกิจตกต่ำ ในสหรัฐอเมริกาจะทำให้เศรษฐกิจของไทยแย่ลง และเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความไม่พอใจของประชาชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาทั้งสองด้าน คือ ทางการเมือง และเศรษฐกิจพร้อมๆ กันไป

โอกาสนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ย่อมจะได้ทีที่จะเสนอตัวเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ผู้คนในชนบทและคนจนในเมืองยังนิยมนโยบายของทักษิณอยู่ ดังนั้นรัฐบาลที่อยู่ในตำแหน่งก็จะถูกท้าทายมากขึ้นตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป

แล้วทางออกจะเป็นอย่างไร หากสถานการณ์ยังเป็นไปเช่นนี้ เราคงหนีไม่พ้นที่จะเกิดสงครามกลางเมืองที่มีความรุนแรง และหลังจากนั้นก็จะมีการปราบปรามฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง ด้วยความรุนแรงอย่างเด็ดขาด หาไม่แล้วผู้ใช้ความรุนแรงก็จะทำความเสียหายได้มากกว่านี้

เราจะปล่อยให้ผู้ชุมนุมก่อความรุนแรงอีกไม่ได้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น