xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวเงินกู้"แวลูเชน"ท่องเที่ยวเสนอ3แนวทางปล่อยกู้รายย่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ซัปพลายเออร์ในธุรกิจท่องเที่ยว (แวลูเชน) มีเฮ คณะกรรมการบริหารโครงการช่วยเหลือด้านการเงินฯ ไฟเขียวขยายความช่วยเหลือให้เข้าโครงการขอกู้เงินได้ด้วย หากมีรายได้หลักกว่า 50% มาจากการส่งสินค้าและบริการให้แก่ธุรกิจในอุสาหกรรมท่องเที่ยว พร้อมกำหนด 3 แนวทางการปล่อยกู้รายย่อย เล็งชง “ชุมพล” ลุยต่อขอ ครม.ช่วยรายใหญ่ด้วย

วานนี้ (7 พ.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการปิดท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ครั้งที่ 4/2552 นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธานการประชุม เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติขยายเงื่อนไขช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและการปิดสนามบิน โดยให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่อง(แวลู เชน) ซึ่งเป็นธุรกิจที่เป็นซัปพลายเออร์ ขายสินค้าและให้บริการแก่ธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรง เช่น ผู้ส่งผัก ผลไม้ และ วัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร ผู้ค้าน้ำยาซักผ้า รับซักรีดเสื้อผ้า เป็นต้น
ผู้ค้าที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว จะต้องมีรายได้ที่เกิดจากการส่งสินค้า หรือให้บริการแก่ธุรกิจในกลุ่มท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ โดยสามารถยื่นเอกสารขอเข้าโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำMLR-3ได้ที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือSME แบงก์ โดย เมื่อได้รับเอกสารยื่นกู้แล้ว SME แบงก์ จะส่งรายชื่อผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มนี้ ไปให้ยังคณะกรรมการ 4 กลุ่ม คือ สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) สมาคมโรงแรมไทย(THA) และ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่ามีการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้ากันจริง
สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ขึ้นตรงกับคณะกรรมการใน 4 กลุ่ม แยกตามธุรกิจนั้น ก็ให้เปลี่ยนมายื่นกู้ที่ธนาคารSME จากเดิมที่จะต้องกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยการนำหลักทรัพย์มาค้ำประกัน หรือ สามารถเซ็นค้ำประกันไขว้กันเองได้ ซึ่งถือเป็นความพยายามช่วยเหลือจากภาครัฐในการลดเงื่อนไขการปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น
“จากที่กล่าวมาคือ ทั้ง 4 กลุ่มในอุสาหกรรมท่องเที่ยว และกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ทำการค้าขายกับภาคท่องเที่ยว จะต้องเป็นกลุ่มที่มีขนาดการลงทุนของธุรกิจที่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท โดยจะเข้ามาใช้ในวงเงินกู้งวดแรกที่รัฐบาลได้อนุมัติแล้วที่ 5,000 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตอาจต้องขอรัฐบาลขยายวงเงินกู้เพราะมีกลุ่มธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมาทำให้วงเงินเดิมอาจไม่พอ ส่วนธุรกิจที่การลงทุนมากกว่า 200 ล้านบาทนั้น ยังอยู่ระหว่างการเรียมเสนอขออนุมัติจาก ครม.”

****แบ่ง3แนวทางปล่อยกู้รายย่อย***
สำหรับเงื่อนไขและวงเงินที่จะขอกู้นั้น แบ่งเป็น 3 แนวทางคือ 1.ผู้ที่ขอกู้น้อยกว่า 5 ล้านบาท ให้ผู้กู้เซ็นค้ำไขว้กันได้ ส่วนอีก 2 แนวทางที่เหลือจะเป็นกลุ่มที่ต้องการขอเงินกู้มากกว่า 5 ล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อชะลอการเลิกจ้าง วงเงิน 50 ล้านบาท และ สินเชื่อเอสเอ็มอี เพาเวอร์ วงเงิน 50 ล้านบาท
ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ประสงค์ขอกู้เงินที่ผ่านเกณฑ์พิจารณาจากคณะกรรมการแล้วเป็นจำนวน 156 ราย รวมวงเงิน2,755.80 ล้านบาท ล่าสุดรัฐบาลโดยสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ได้จัดสรรงบประเดิมให้มากแล้ว 59 ล้านบาท ซึ่ง ให้ธนาคารเอสเอ็มอี ไปคำนวณในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่รับผิดชอบว่าเป็นวงเงินเท่าใด เพื่อส่งให้สำนักงบประมาณตรวจอีกครั้ง และ ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ไปคำนวณวงเงินที่จะต้องใช้ค้ำประกันด้วย เพื่อจะได้ทำการแจกจ่ายเม็ดเงินที่ได้รับจัดสรรมาแล้วไปยังหน่วยงานตามความรับผิดชอบ
นางสาวศศิธารา กล่าวว่า ผลจากการประชุมในครั้งนี้ และการทำงานที่ผ่านมาจะเสนอเป็นรายงานต่อนายชุมพล ศิลปะอาชา รมว. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อทราบพร้อมกับจะเสนอให้มีการเปลี่ยนชื่อคณะกรรมการบริหารโครงการช่วยเหลือด้านการเงินฯชุดนี้ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับภาระกิจการทำงานที่แท้จริง เพราะขณะนี้ไม่ได้ช่วยเฉพาะที่เป็นผลจากการปิดสนามบินเท่านั้น โดยชื่อใหม่ที่เสนอคือ คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาภายในประเทศ
นอกจากนั้นสิ่งที่เตรียมเสนอต่อนายชุมพล เพื่อพิจารณาก่อนส่งให้ ครม.เห็นชอบ ได้แก่ ระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการบริหารโครงการช่วยเหลือด้านการเงินฯ ว่าจะเป็นคณะกรรมการที่อยู่ตามวาระการทำงานของรัฐบาล คือประมาณปี 2554 หรือจะเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจระยะสั้นและการเสนอขอให้มีการพิจารณาโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่เงินลงทุนเกิน 200 ล้านบาทด้วย
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการในโครงการนี้ ปัจจุบันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงการท่องเที่ยวฯในการเป็นผู้เบิกจ่ายเงินจากสำนักงบประมาณ เมื่อ มติ ครม.ได้เปลี่ยนจากธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ปล่อยกู้มาเป็นธนาคารเอสเอ็มอี เป็นผู้ปล่อยกู้ ดังนั้น หากรัฐบาลจะเปลี่ยนความรับผิดชอบไปเป็นของกระทรวงการคลังก็ได้เพื่อความเหมาะสม โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯยินดีที่จะโอนงบประมาณ จากที่ตั้งไว้ในปี 2552-2553 ให้อยู่ที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯให้กลับไปอยู่ที่กระทรวงการคลัง.
กำลังโหลดความคิดเห็น