xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองยังไม่นิ่ง

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เราเคยมีความภูมิใจว่าคนไทยไม่ชอบความรุนแรง แต่บัดนี้ได้เห็นกันอย่างโจ่งแจ้งแล้วว่า การเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรง ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เราเห็นการที่ทหารและตำรวจใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน แต่ก็มีประชาชนได้รับการปลุกระดมเข้าร่วมด้วย

ในครั้งนั้นเป็นการต่อสู้ระหว่างคอมมิวนิสต์กับคนไทยทั่วไป แต่ครั้งนี้ไม่มีเรื่องอุดมการณ์มาเกี่ยวข้อง ผู้มาชุมนุมเป็นผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ

ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณนั้น นอกจากพรรคการเมืองแล้วก็ยังมีการจัดตั้งแนวร่วมอย่างเอาจริงเอาจัง แนวร่วมที่จัดตั้งมีทั้งในชนบทและในเมือง ในชนบทมีการจัดตั้งทั้งในเขตเทศบาลและรอบนอก กลไกที่สำคัญคือวิทยุชุมชน ส่วนในเมืองได้แก่คนในชุมชนแออัด และกลุ่มแท็กซี่

กลุ่มแท็กซี่เป็นกลไกในการเผยแพร่ข่าวสารที่ต้องการสื่อไปยังประชาชนทั่วไป แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ทั้งทางวิทยุชุมชน และแท็กซี่ได้มีการแพร่ข่าวและความคิดที่วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

ดังนั้น การเคลื่อนไหวมวลชนในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ จึงมีลักษณะแตกต่างไปจากการเคลื่อนไหวมวลชนทางการเมือง เพราะมีมิติของการกระทบสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวด้วย

การปฏิรูปทางการเมืองที่พูดๆ กันอยู่ คงไม่กล้าพูดถึงสถาบันองคมนตรี และสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในทางพฤติกรรมเราปฏิเสธไม่ได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์กำลังตกเป็นเป้าของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

เหตุใดจึงมีความคิดเช่นนี้ ผมเคยได้ยินทัศนะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยว่าจะเป็นไปในรูปใด พ.ต.ท.ทักษิณเองในที่สุดก็ให้สัมภาษณ์พาดพิงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

การเมืองแบบมวลชนนำไปสู่การสร้างบารมีของผู้นำ ในสังคมไทยนักการเมืองจะแสวงหาอำนาจอิทธิพลในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่จะไม่มุ่งยกระดับให้ตนเองเป็นผู้นำมวลชน นโยบายประชานิยมเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความนิยมให้แก่ผู้นำ และก็เป็นผล ประชาชนในต่างจังหวัดมีความนิยม พ.ต.ท.ทักษิณ มาก เพราะการดำเนินนโยบายประชานิยม ส่วนในเมืองกลุ่มแท็กซี่ก็ได้รับการช่วยเหลืออย่างไม่เคยได้รับมาก่อน

ไม่ว่าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังจะรวมศูนย์อยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งก้าวต่อไปก็คือ การต่อสู้จากภายนอก แต่การตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นคงเป็นไปได้ยาก เพราะพลาดโอกาสจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ไม่สามารถก่อให้เกิดรัฐประหารได้ จึงต้องเปิดแนวรบภายในระบบรัฐสภาต่อไป

ผมไม่เห็นว่าการนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำความผิดทางการเมือง จะก่อให้เกิดความปรองดองในชาติได้อย่างไร ความผิดทางการเมืองต่างจากความผิดทางอาญา การมีโทษจึงเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความผิดเฉพาะตัวที่ตนเองเป็นผู้ก่อ แต่ถ้าคนในพรรคเป็นผู้กระทำ พรรคก็ต้องรับผิดชอบด้วย นอกจากนั้น ความผิดนี้ก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไป และใช้บังคับกับทุกพรรคอย่างเสมอหน้ากัน

การนิรโทษกรรมไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ คงมีการประท้วงไม่เห็นด้วย ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ก็จะต้องถอย แม้ว่ามูลเหตุจูงใจในการรวมขั้วการเมืองใหม่จะเป็นการนิรโทษกรรมก็ตาม ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์มีความคิดแตกแยกเป็นสองฝ่าย และนายอภิสิทธิ์เองก็ไม่เห็นด้วย

ปัญหาของการเมืองไทยที่จะบั่นทอนการพัฒนาประชาธิปไตยก็คือ การเคลื่อนไหวนอกสภาซึ่งมีการจัดตั้ง และการใช้สื่อตลอดจนการสร้างสถานการณ์สร้างข่าวเท็จบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาล

กลุ่มพันธมิตรฯ มีความระมัดระวังรอบคอบ และประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง แม้ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ยังไม่ตั้งพรรคการเมือง แต่การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องก็เท่ากับเป็นการเตรียมความพร้อม และการเทความสนับสนุนให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใด ก็มีความหมายมากสำหรับการเลือกตั้ง

หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเปิดโอกาสให้มีการสมัคร ส.ส.โดยไม่สังกัดพรรคได้ สมาชิกของกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนหนึ่งก็คงลงสมัครเป็นผู้สมัครอิสระ เท่ากับเป็นการบุกเบิกทางไปสู่การรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองในอนาคต แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมหอลงโรงกับพรรคร่วมรัฐบาลในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือมีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการนิรโทษกรรมกลุ่มพันธมิตรฯ ก็จะพบกับสถานการณ์กดดันให้ต้องตั้งพรรคการเมือง เพราะจะต้องไม่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป

จะอย่างไรก็ตาม การเมืองไทยก็จะไม่นิ่งไปอีกนาน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะอาศัยระบบรัฐสภาสนับสนุนพรรคการเมืองของตนให้เอาชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดให้ได้ ดังนั้น อย่าหวังเลยว่าเราจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น