xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ยื่นสภาขอควบคุมตัว"ไอ้ตู่" ผิดฐานเป็นภัยต่อชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -"รอง ผบ.ตร " ทำหนังสือถึงประธานรัฐสภาขอตัว"ไอ้ตู่" ไปดำเนินคดีกระทำผิดฐานมั่วสุมให้วุ่นวายทางการเมือง เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ปชป.ขอฟังก่อนว่าจะใช้เอกสิทธิ์คุ้มหัวหรือไม่ ก่อนแสดงท่าทีพรรค กังขา "เพื่อไทย" เตรียมดันเข้าวาระแรก หวังป่วนในสภา ขณะที่ "แรมโบ้อีสาน"สุพร อัตถาวงศ์" นำพรรคพวกนปช.เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พร้อมปฏิเสธทุกข้อหาตามหมายจับ ด้าน"คปช." เข้ารายงาน ครม.ตัวเลขผู้บาดเจ็บ-ตายจากเหตุ "แดงเดือด" ทุ่มงบฯ ช่วย 1.5 ล้านบาท ตั้ง 5 คณะอนุกรรมการรวบรวมข้อมูล ขีดเส้นปิดฉากสิ้นเดือน พ.ค.นี้ ใช้สื่อรัฐ"ทีวีหอยสีม่วง" แจงชี้แจงประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามปกติในวันนี้ (29 เม.ย.) นอกจากที่ประชุมจะพิจารณาเรื่องรับทราบและร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและร่าง พ.ร.บ.เหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลาแล้ว ยังมีเรื่องที่ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 17 เม.ย.2552 เพื่อขออนุญาตเรียกตัวนายจตุพร พรหมพันธุ์ (ตู่) ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) หรือแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ไปดำเนินคดีในระหว่างสมัยประชุมด้วย

โดยในหนังสือระบุว่า ด้วยปรากฏว่านายจตุพร ได้กระทำผิดอาญาฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ และร่วมกันกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (3) และ 215 วรรคสาม ซึ่งศาลอาญาได้ออกหมายจับ

นอกจากนี้ การกระทำของนายจตุพร และพรรคยังก่อให้เกิดสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันอันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทั่งรัฐบาลได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา

ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้นายจตุพร กระทำการหรือร่วมกระทำอันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง และเพื่อให้การสอบสวนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรมตลอดจนระงับยับยั้งเหตุการณ์ร้ายแรงไม่ให้เกิดขึ้น จึงกราบเรียนขออนุญาตต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกตัวนายจตุพร มาทำการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา และควบคุมตัวในฐานะ เป็นผู้ต้องสงสัย ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ..ศ.2548 มาตรา 11 (1) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 131 ต่อไป

ปชป.ขอฟัง"ตู่"ก่อนใช้เอกสิทธิ์คุ้มหัว

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุม ส.ส.พรรคว่า ในที่ประชุมมีการหารือถึงญัติที่จะนำเข้าสู่การประชุมสภาในวันที่ 29-30 เม.ย.นี้ คือ การพิจารณาขออนุญาตจากสภาในการดำเนินคดีกับนายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.ที่ทำความผิดในช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงที่มีการก่อการจลาจลที่ผ่านมา ซึ่งทางตำรวจได้ส่งเรื่องขออนุญาตดำเนินคดีเรียบร้อยแล้ว โดยประธานรัฐสภาได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมแล้ว โดยนายวิทยา บุรณะศิริ ประธานวิปฝ่ายค้านขอเลื่อนวาระนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อน โดย ส.ส.ของพรรคหลายคนได้กล่าวถึงธรรมเนียมปฏิบัติว่า เรื่องของสภาฯก็เป็นเรื่องของสภาฯ ที่จะต้องพิจารณาและไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐบาล

นายบุญยอด กล่าวต่อว่า ขณะที่นายสมกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้กล่าวอธิบายในที่ประชุมพรรคว่า ในส่วนของตัวเองถูกแจ้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีรวม 5 คดี โดยคดีแรกทางตำรวจมาขออนุญาตดำเนินคดี ซึ่งนายสมเกียรติ เองก็ขออนุญาตไม่ใช้เอกสิทธิ์ โดยขอให้ทางตำรวจนำตัวไปดำเนินคดีได้

ส่วนคดีต่อๆ มาอีก 4 คดี นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาก็ไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมสภา โดยนายสมเกียรติเองก็ไม่ขอใช้เอกสิทธิ์จากสภาเลยโดยเดินไปสู่กระบวนการพิจารณาคดีเอง ซึ่งทางตำรวจเองก็ได้จัดทำแบบฟอร์มออกมาชัดเจนว่า หากคดีที่เป็น ส.ส.ก็จะมีการกรอกแบบฟอร์มว่า จะไม่ขอใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองจากสภาในภายหลัง ซึ่งกรณีนี้นายสมเกียรติกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับนายจตุพรเองว่าจะทำอย่างไร ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็จะขอดูว่า นายจตุพรจะทำอย่างไรและจะมาในที่ประชุมสภาหรือไม่และจะขอใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองจากสภาหรือไม่ ทางพรรคประชาธิปัตย์จึงจะค่อยมีท่าทีออกมา เพราะถ้าหากนายจตุพรไม่เดินทางมาที่สภาฯ ก็อาจจะขอให้ยุติการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปก่อน จนกว่าเจ้าตัวจะมาและให้ข้อมูลที่ชัดเจนต่อที่ประชุมสภาก่อนว่าจะใช้เอกสิทธิ์หรือไม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุมพรรคได้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมนายวิทยา บูรณะศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ถึงจะเสนอให้นำวาระของนายจตุพร ขึ้นมาพิจารณาในสภาเป็นเรื่องแรก น่าจะมีจุดประสงค์บางอย่างทางการเมือง โดยอ่านเกมว่า พรรคเพื่อไทยต้องการบีบรัฐบาลในเรื่องนี้ เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจทำอย่างไรก็จะถูกโยงให้เป็นประเด็นทางการเมือง หากมีมติไม่ให้เอกสิทธิ์กับนายจตุพร ก็จะเข้าทางพรรคเพื่อไทยนำไปโจมตีว่า รัฐบาลไม่จริงใจต่อการสมานฉันท์และใช้เป็นข้ออ้างป่วนในสภา เพราะเวลานี้หลายฝ่ายเรียกร้องให้ถอยกันคนละก้าวลดทิฐิมานะ แต่ถ้ามีมติให้เอกสิทธิ์ไป รัฐบาลอาจจะถูกสังคมตั้งคำถามได้เช่นกัน
ดังนั้น พรรคจึงจะรอดูท่าทีของนายจตุพรว่าจะมาร่วมประชุมสภา และขอ
เอกสิทธิ์จากที่ประชุมหรือไม่ หากไม่ขอก็ถือว่าจบไป แต่ถ้าขอก็ต้องพิจารณากันอีกที โดยพรรคจะเปิดโอกาสให้อภิปรายกันเต็มที่ก่อนมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องในที่ประชุมสภา

ไอ้ตู่-จตุพร"ลั่นพร้อมมอบตัว

ด้านนายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่ม นปช.กล่าวถึงกรณีรอง ผบ.ตร.ทำหนังสือขอตัวไปสอบสวนในสมัยประชุมสภาว่า ตนได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส.ประกันตัวออกมา แต่ถ้าที่ประชุมมีมติให้ดำเนินคดีตนก็จะไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยไม่ต้องรอการอภิปราย เพราะได้เตรียมตัวพร้อมแล้ว

คปช.แจงตัวเลขจ็บ-ตายเหตุแดงเดือด

นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.มีการรวบรวมและประมวลเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 เม.ย.และเหตุที่เกี่ยวเนื่องคณะกรรมการรวบรวมและประมวลเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง (คปช.) โดยมีการดำเนินการสรุปว่า จากรายงานการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รายงานให้ทราบว่า จากการประชุม ครม.วันที่17 เม.ย.ได้มอบหมายให้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อวันที่ 8-14 เม.ย.โดยให้ใช้หลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ และงบประมาณเช่นเดียวกับเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง

โดยกระทรวงพัฒนาสังคมฯได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายและให้บริการรับแจ้งเรื่องขอรับการช่วยเหลือจากประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้นำบัญชีข้อมูลผู้ได้รับความเสียหายจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขมาใช้ดำเนินการ มียอดผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสิ้น 135 ราย ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอรับการช่วยเหลือ 62 ราย ตรวจสอบรายชื่อผู้มีรายชื่อซ้ำซ้อน 21 คงเหลือ 41 รายที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ดังนั้น รวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสิ้น 176 ราย และทางกระทรวงพัฒนาสังคมฯได้ให้การช่วยเหลือไปแล้ว 17 ราย ประกอบด้วยผู้เสียชีวิต 2 ราย (ย่านนางเลิ้ง) และผู้บาดเจ็บ 15 ราย เงินที่ให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 แสนบาท

นายศุภชัย กล่าวด้วยว่า การกำหนดกรอบระยะเวลาเหตุการณ์ในการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และประมวลเหตุการณ์ความไม่สงบ และแนวทางการดำเนินงานของ คปช.โดยมีการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.- 24 เม.ย. 52 (วันที่มีการประกาศยกเลิกพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) โดยรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป อีกทั้งผลกระทบในทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น ซึ่ง คปช.จะทำหน้าที่เฉพาะการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อรายงานต่อสาธารณะชนรับทราบโดยจะไม่มีการนำข้อมูลมาสรุปในรายงาย หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากกลุ่ม บุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรับผิดชอบตามกฎหมายที่จำดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

นายศุภชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ คปช.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ค.นี้ โดยจะรายงานให้ครม.ทราบเป็นระยะๆ โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมด้านต่างๆเพื่อช่วยปฏิบัติงานในการดำเนินการ ดังนี้ 1.คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ข้อเท็จจริงและการศึกษาวิเคราะห์ประมวลข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 เม.ย. และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีนายกิตติ ลิ้มชัยกิจ รองปลัดสำนักนายกฯเป็นประธาน และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการประชาชน (สปน.) เป็นเลขานุการ 2. คณะอนุกรรมการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 เม.ย.และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักพัฒนานโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์เป็นเลขานุการ

3.คณะอนุกรรมการรวบรวมและประมวลข้อมูลจากส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 เม.ย. และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีนาย วิบูลย์ทัด สุทันธนกิตติ์ ผู้ตรวจการสำนักนายกฯ เป็นประธาน และมีผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศฯ สปน. เป็นเลขานุการ 4.คณะอนุกรรมการรวบรวมและประมวลข้อมูลจากสื่อมวลชนกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 เม.ย.และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีนางปราณี สริวัฒน์ ผู้ตรวจการสำนักนายกฯ เป็นประธาน และผู้อำนวยการกองกลาง สปน.เป็นเลขานุการ และ 5.คณะอนุกรรมการการรวบรวมและประมวลผลกระทบทางการด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 เม.ย. และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีนาย นที เปรมรัศมี ปลัดสปน. เป็นประธาน และมีผู้อำนวยการสำนักตรวจการสปน.เป็นเลขานุการ

อย่างไรก็ตาม ทาง คปช. มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยทาง คปช.จะประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงผ่านทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์เป็นระยะ โดยจะเชิญประธานคณะอนุกรรมการ หรือผู้แทนให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อทุกครั้งที่มีการรายงานให้ครม.ทราบ ซึ่งมีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธานและรับไปพิจารณาจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์ต่อไป

ทหารคุ้มกันทำเนียบฯวันถก ครม.

สำหรับบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งวานนี้การประชุม ครม.เป็นปกติทุกวันอังคาร แม้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะได้ลงนามในคำสั่งยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงใน กทม. และปริมณฑลไปแล้ว แต่ปรากฏว่า หลายจุดสำคัญในทำเนียบรัฐบาลยังคงมีเจ้าหน้าที่ทหารรักษาการอยู่จุดละ 2-3 นาย ขณะที่การรักษาความปลอดภัยของนายกฯ และ ครม.นั้น พบว่านายอภิสิทธิ์ ยังคงนั่งรถเบนซ์ S600 กันกระสุน มาทำงาน ท่ามกลางขบวนรถของทีม รปภ.ที่รักษาความปลอดอย่างแน่นหนา จนทำให้ขบวนรถของนายกฯใหญ่กว่าในภาวะปกติ

ทั้งนี้ เมื่อนายอภิสิทธิ์ เดินลงมาจากด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อเดินไปเป็นประธานการประชุม ครม.ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือตึกแดง ปรากฏว่ามีทีม รปภ.คอยเดินคุ้มกันถึง 8 นาย

ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลงานด้านความมั่นคง ได้นั่งมาในเบาะหลังรถแวน 5 ประตูกันกระสุน ยี่ห้อฟอร์ดเอฟเวอร์เรส มาทำงานเป็นวันที่ 2 และในขบวนของนายสุเทพ ก็มีรถรุ่นเดียวกันวิ่งมาในขบวนด้วย ทั้งนี้ ขนาดของขบวนก็มีรถรปภ.คุ้มกันแน่นหนาเช่นเดียวกัน เมื่อนายสุเทพลงจากรถ กลุ่มสื่อมวลชนได้เข้าไปมุงดูรถ พร้อมกับเคาะตัวถังรถ เคาะกระจกรถที่หนากว่า 1 นิ้ว และได้พูดคุยกับคนขับรถของนายสุเทพ

"แรมโบ้"นำทีมมอบตัวรุมทุบ"นิพนธ์"

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เวลา 10.00 น.วานนี้ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ "แรมโบ้อีสาน" อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน นายณรงค์ ศักดิ์มณี หรือเป๋ คลองเตย นายศิรวิทย์ พิมพ์กลาง และนายพีระ พลิ้งกลาง ผู้ต้องหาร่วมกันก่อเหตุบุกรุกกระทรวงมหาดไทย และรุมทำร้ายนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้รับบาดเจ็บ รวมถึงทรัพย์สินของทางราชการเสียหายเป็นจำนวนมาก เดินทางพร้อมทนายความเข้ามอบตัวต่อ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น.และ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 โดยพนักงานสอบดำเนินการสอบปากคำที่ห้องประชุม กองบังคับการตำวจนครบาล 1

นายสุภรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้หลบหนีไปไหน พยายามที่จะติดต่อขอมอบตัว แต่เนื่องจากยังไม่ถูกออกหมายจับ จึงไม่รู้ว่าโดนข้อหาอะไร และไม่รู้จะไปมอบตัวที่ไหน วันนี้เมื่อทราบว่าถูกออกหมายจับ จึงมามอบตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และพร้อมต่อสู้ตามขั้นตอนของกฎหมาย

ขณะที่นายณรงศักดิ์ มณี หรือ "เป๋ คลองเตย" กล่าวว่า ที่มามอบตัววันนี้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งการชุมนุมทางการเมืองต้องเป็นไปอย่างสงบแต่ที่ปรากฏความรุนแรง อาจจะมีบุคคลอื่นเข้ามาแทรกแซงหลังจากนี้ไปต้องทำงานให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ส่วนแนวทางการชุมนุมจะนัดรวมตัวมีสมาชิกกลุ่มเสื้อแดง 10 จังหวัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 17 พ.ค.นี้

ให้ประกันแต่ห้ามออกนอกประเทศ

ด้าน พล.ต.ต.สุพร พันธุ์เสือ รอง ผบช.น.กล่าวว่า เบื้องต้นผู้ต้องหามีการยื่นตำแหน่ง ส.ส.ขอประกันตัว โดยมีเงื่อนไขการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว คือ ห้ามมิให้กระทำการใดที่จะเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรวบรวมพยานหลักฐาน หรือดำเนินการอื่นใดของพนักงานสอบสวน ห้ามมิให้ผู้ต้องหาจัดการ ยุยง ปลุกระดมปลุกปั่น หรือกระทำการอันใดก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น ห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

ใช้ตำแหน่งส.ส.เพื่อไทยประกันตัว

พล.ต.ต.สุพร กล่าวต่อว่า นายศิรวิชญ์ พิมพ์กลาง ถูกตั้งข้อหามั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้ที่มีหน้าที่สั่งการ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งเลิกแล้วไม่เลิก และกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยว่าอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มีวงเงินประกันตัว 500,000 บาท ซึ่งผู้ต้องหาใช้ตำแหน่งนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย ประกันตัว

นายพีระ พริ้งกลาง และนายณรงค์ ศักดิ์มณี ถูกตั้งข้อหามั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้ที่มีหน้าที่สั่งการเมื่อเจ้าพนักงานสั่งเลิกแล้วไม่เลิก มีวงเงินประกันตัว 500,000 บาท ผู้ต้องหาใช้ตำแหน่ง น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ประกันตัว

ส่วนนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ถูกข้อหามั่วสุมตั้งสิบคนขึ้นไปประทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ, ร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และชุมนุมหรือมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนโดยฝ่าฝืนข้อกำหนด (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ตามมาตรา 9 ข้อ 1 และมาตรา 18 ประกันตัว 400,000 บาทใช้ตำแหน่งนายประเสริฐ จันทรวงทอง ส.ส.นครราชสีมาพรรคเพื่อไทย ประกันตัว

หางแดงเชียงใหม่มอบตัวอีก 2 คน

ด้านความเคลื่อนไหวของแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง จ.เชียงใหม่ ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 ราย ประกอบด้วยนายมานะ พันธุ์ไพบูลย์ หรือ "ดีเจ ป.เป็ด" และนายไพบูลย์ ชูชัย หรือ "ดีเจลุงบุญ" ดีเจวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ หลังถูกออกหมายจับกรณีนำมวลชนและรถสี่ล้อแดงรับจ้างปิดถนนรอบประตูท่าแพ กลางเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้ง 2 รายยังให้การปฏิเสธ โดยนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ใช้ตำแหน่ง ส.ส.ประกันตัวออกไป

สำหรับผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับจากการกระทำความผิดในครั้งเดียวกันนั้น มีด้วยกัน 5 คน ได้แก่ นายสิงห์คำ นันติ, นายไพบูลย์ ชูชัย, นายมานะ พันธ์ไพบูลย์, นายธานิน ประดิษฐพันธ์ และนายสุรพล ศุภางครัตน์ ซึ่งนายสิงห์คำ และนายธานิน หรือดีเจ ย.ยุ้ย ได้เข้ามอบตัวแล้วก่อนหน้านี้

ขณะที่นายสุรพล ยังไม่ได้เข้ามอบตัว แต่ได้ติดต่อมาว่ากำลังทำธุรกิจอยู่ที่ประเทศลาวและจะเดินทางมามอบตัวในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ มีรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่เตรียมออกหมายจับผู้ต้องหาในความผิดเดียวกันนี้อีก 1 คน คือ ดีเจหนึ่ง โดยกำลังอยู่ระหว่างสืบหาชื่อจริง นามสกุลจริง

ยื่นประกัน13หางแดงป่วนอาเซียน

ส่วนที่ จ.ชลบุรี กลุ่มคนเสื้อแดงได้เข้ามอบตัวยังศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 2 ส่วนหน้า สภ.บางละมุง จ.ชลบุรี ทั้งหมด 13 คน เช่น นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ อดีต ส.ส.กำแพงเพชร และนายกรุง ศรีวิไล ส.ส.สมุทรปราการ ฯลฯ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาที่เข้ามอบตัวในครั้งนี้ทั้งหมดโดยใช้ตำแหน่งของ ส.ส.สังกัดพรรคเพื่อไทย 12 คนเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอประกัน ส่วนนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ได้ใช้หลักทรัพย์มูลค่า 5 แสนบาทประกันตัวออกไป
กำลังโหลดความคิดเห็น