xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีคลังอเมริกันยืดอกยอมรับสหรัฐฯ‘มีส่วนสำคัญ’ก่อวิกฤตศก.โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – รัฐมนตรคลังอเมริกัน ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ยืดอกยอมรับเมื่อวันพุธ(22)ว่า สหรัฐฯมีส่วนอย่างมากในการก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน แต่เขาก็เรียกร้องให้ทั้งโลกร่วมมือกันเพื่อบรรเทาความหนักหนาสาหัสของปัญหา

ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ ในงานซึ่งจัดโดยชมรมเศรษฐกิจแห่งวอชิงตัน ไกธ์เนอร์บอกว่าในสถานการณ์การเงินอันย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษนี้ จำเป็นจะต้องสร้างโครงสร้างใหม่ซึ่งมีความสมดุลกว่าเดิมเพื่อให้ประเทศต่าง ๆลดการพึ่งพาการส่งสินค้ามาขายในตลาดสหรัฐฯ

“เราจะต้องเดินไปบนเส้นทางที่ประเทศหนึ่ง ๆ หรือกลุ่มประเทศหนึ่ง ๆจะไม่บริโภคล้นเกิน ในขณะที่อีกกลุ่มประเทศหนึ่งก็ไม่ควรจะผลิตจนล้นเกินอีกต่อไปแล้ว” เขากล่าว

คำพูดนี้ของไกธ์เนอร์ มีขึ้นก่อนหน้าที่การประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศจี 7 จะเริ่มขึ้นที่กรุงวอชิงตันในวันนี้(24) ซึ่งจะมีวาระเชิญผู้แทนของประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่อย่างเช่น จีน และอินเดีย เข้ามาร่วมประชุม โดยถือเป็นการประชุมจี 20 ด้วย ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯกำลังกระตุ้นให้ประเทศเหล่านี้เร่งเพิ่มการบริโภคในตลาดของตนเอง

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีบารัค โอบามาก็ได้กล่าวเช่นเดียวกันมาแล้วหลังจากเข้าประชุมซัมมิตกลุ่มประเทศจี 20 ที่ลอนดอนเมื่อต้นเดือนนี้ เขาชี้ว่าสหรัฐฯไม่ควรเป็นตลาดเดียวที่ทุกประเทศในโลกนี้พึ่งพาและส่งสินค้าเข้ามาขาย เนื่องจากผู้บริโภคของสหรัฐฯจะไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยในอัตราสูงได้ตลอดไป

ไกธ์เนอร์เน้นด้วยว่าทางการสหรัฐฯกำลังเตรียมรับการขาดดุลงบประมาณอย่างมหาศาล จากการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้จำเป็นที่จะต้องกำหนดแนวทางเพื่อควบคุมการใช้จ่ายอย่างเข้มงวดในระยะกลางด้วย

“นี่เป็นนโยบายที่สำคัญมาก เนื่องจากชาวอเมริกันและนักลงทุนทั้งหลายต้องเข้าใจว่าสหรัฐฯกำลังต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้ประเทศกลับไปสู่ยุคที่ประชาชนจับจ่ายใช้สอยแบบไม่ใช้เงินเกินตัว”

“แต่ก่อนที่จะถึงจุดนั้นได้ เราจำเป็นจะต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเสียก่อน” ไกธ์เนอร์กล่าว

การประชุมรัฐมนตรีคลังของจี7 มีขึ้นก่อนการประชุมรอบครึ่งปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกในสุดสัปดาห์นี้ โดยที่เมื่อวันพุธ(22) ไอเอ็มเอฟได้เผยแพร่รายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 1.3% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการตกต่ำรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

ไกธ์เนอร์กล่าวอีกว่า บรรดาผู้นำประชาคมเศรษฐกิจทั้งหลายควรจะต้องร่วมมือกันใกล้ชิดเพื่อฟื้นฟูอัตราการเติบโต เนื่องจากปัญหาที่ในขณะนี้นั้นเป็นมากกว่าการตกต่ำทางเศรษฐกิจตามวัฏจักร

“หากแต่เป็นการปรับฐานอย่างรุนแรงของระบบการเงินที่เติบโตล้นเกินจากรากฐานเดิมที่มีอยู่ ดังนั้นกลไกการปรับตัวนี้จึงเกิดขึ้นและรุนแรงเป็นพิเศษ และทางเดียวที่จะแก้ได้ก็คือต้องมีนโยบายแก้ไขที่พิเศษกว่าเดิม” เขากล่าว

“เรามีส่วนรับผิดชอบอย่างมากในสิ่งที่เกิดขึ้น” ไกธ์เนอร์กล่าว
บรรดาผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมซัมมิตจี 20 ที่ลอนดอนเมื่อวันที่ 2 เมษายน ต่างก็เห็นพ้องกันที่จะให้เงินทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมากแก่ไอเอ็มเอฟ รวมทั้งเพิ่มพูนเม็ดเงินซึ่งใช้ในทางการค้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนั้น ผู้นำเหล่านี้ยังเห็นพ้องกันที่จะเล่นงานดินแดนที่เป็นศูนย์ของการหลีกเลี่ยงภาษี

ขณะที่ในการประชุมวันนี้ของรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มจี 7 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ, อังกฤษ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี และญี่ปุ่น ก็จะพยายามทำให้โครงร่างที่จี 20 เริ่มต้นไว้นั้น มีเนื้อมีหนังมากขึ้น โดยน่าจะออกมาเป็นคำแถลงร่วมในช่วงบ่าย

สำหรับการประชุมจี 20 ที่จะติดตามมานั้น จะค่อนข้างสั้นๆ แต่ก็เท่ากับเป็นการยอมรับบทบาทของประเทศอย่างเช่น จีน, อินเดีย,บราซิล, รัสเซีย, และเกาหลีใต้ ในการเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ ตลอดจนในการร่วมส่วนเพิ่มเงินทุนสนับสนุนไอเอ็มเอฟ และสถาบันระดับโลกอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น