xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คโชว์วิชั่นจี20แก้ศก.โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงหการเดินทางไปประเทศอังกฤษ ในวันอังคารที่ 31 มี.ค.นี้เพื่อร่วมประชุมจี 20 จะแสดงจุดยืนอย่างไร หากถูกสื่อซักถามถึงสถานการณ์ภายในว่า ตนได้ติดตามข่าวจากสื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่องภายในของเรา ขณะนี้เขาไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เขาจะเห็นว่าทุกอย่าง เดินไปตามปกติ ส่วนใครจะใช้สิทธิเสรีภาพหรือมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ก็ดำเนินการไป ซึ่งเวลานี้ก็เหมือนคนไทยส่วนใหญ่ ปัญหาจริง ๆ คือปัญหาเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแก้ไขบนความมั่นคง และผลประโยชน์ของประชาชนจะเป็นใหญ่ ฉะนั้น ชาวโลกเขาสนใจในตอนนี้ว่า ทำอย่างไรเศรษฐกิจจะฟื้น ตนไปก็สนใจในแง่ จุดยืนของเราในฐานะตัวแทนของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา หรือเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเพิ่งเติบโตใหม่ ๆ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ตอนหนึ่ง ถึงการเดินทางไปประชุม จี 20 ว่าระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-3 เม.ย.ว่า ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยวันนี้ ถ้าเราไม่นับภาคการค้าขายกับการติดต่อกับต่างประเทศ ตัวเลขไม่ได้เลวร้ายเท่าไร แต่ว่าที่มีปัญหาขณะนี้เพราะส่งออกหายไปกว่า 20 % ท่องเที่ยวล่าสุดก็หายไปประมาณกว่า 10 % ์ ซึ่งตัวเลขนี้ถ้าเทียบกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคก็ยังเบาแต่ว่ามันหนักสำหรับประเทศที่มีการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจโลกวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ถ้าเราทำให้เศรษฐกิจที่เป็นประเทศลูกค้าเราฟื้นได้ หรือถ้าเราสามารถ ทำให้องค์กรระหว่างประเทศ อย่างธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ มีความตื่นตัวและสามารถมีกลไกเข้ามาช่วย จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้เร็วขึ้น ซึ่งก็ได้เตรียมจุดยืนของอาเซียนเพื่อนเสนอต่อที่ประชุม จี 20
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่จะนำไปเน้นย้ำในเวที จี 20 คือ หนึ่ง ความจำเป็น ที่ทุกประเทศจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้เศรษฐกิจโลกฟื้นขึ้นมา ซึ่งหมายถึง นโยบายการเงิน การคลังต้องมีทิศทางเดียวกัน และชี้แจงให้เห็นว่าถ้าทุกประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศแล้วก็จะช่วยโลกทั้งโลก ซึ่งที่ผ่านมาบางประเทศใช้วิธีการกระตุ้นโดยการเอาเงินไปอุดหนุนอุตสาหกรรมภายในบางประเภทของตัวเอง ซึ่งอาจจะช่วยอุตสาหกรรมนั้น แต่ว่าในที่สุดในแง่ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ไม่ได้มีผลในการกระตุ้น แล้วถ้าการค้าโดยเฉพาะสินเชื่อทางการค้าไม่ฟื้นกลับมา ตัวเลขที่เราเห็นเรื่องการส่งออก นำเข้าก็จะเป็นอย่างนี้ ลบ 20 ลบ 30 ซึ่งประเทศในภูมิภาคหลายภูมิภาคก็จะเดือดร้อน
ประเด็นที่สอง ต้องไม่กีดกันทางการค้าและอาเซียนทำเป็นตัวอย่างแล้วก็คือ เดินหน้าต่อในเรื่องของความพยายามผลักดันประชาคมเศรษฐกิจเขตการค้าเสรี ประเด็นที่สาม ก็คือว่า องค์กรการเงินระหว่างประเทศจะเป็น ไอเอ็มเอฟ จะเป็นธนาคารโลก จะเป็นธนาคารพัฒนาต่าง ๆ ต้องมีช่องทางในการที่จะไปช่วยประเทศกำลังพัฒนา เพราะว่าประเทศกำลังพัฒนาจะต้องการเงินที่จะไปช่วยดูแลคนที่มีรายได้น้อย คนยากคนจน เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหาจึงเก็บภาษีไม่เข้าเป้า ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมมีการตอบสนอง แต่ต้องทำให้เป็นระบบชัดเจน
และสุดท้ายคือว่าสาเหตุของวิกฤตครั้งนี้ ก็เป็นปัญหาเรื่องของการไหลเวียน ของเงินทุนระหว่างประเทศ บทเรียนที่เก็บเกี่ยวมาก็หมายความว่าวันข้างหน้าคงต้องหามาตรการป้องกัน
วันนี้ท่านนายกฯ อังกฤษก็ทำหนังสือมาถึงผม หลังจากที่ได้ยืนยันการเข้าร่วมประชุมไปอีกครั้งหนึ่งว่า จะพยายามให้ครอบคลุมประเด็นเหล่านี้ ซึ่งก็คิดว่าถ้าผู้นำในกลุ่ม จี 20 สามารถที่จะบรรลุการตกลงกัน และปฏิบัติจริง ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น มากกว่าที่จะปล่อยต่างคนต่างทำกันไป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การประชุม จี 20 ครั้งนี้ไทยจะไม่ขอความช่วยเหลือ จากประเทศในกลุ่ม จี 20 เพราะระบบการเงินของเรายังเข้มแข็ง และโดยรวม ๆ ทุกอย่างก็ไปได้ด้วยดี จากที่เรามีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจึงไม่มีปัญหาเรื่องการกู้เงิน เพึยงแต่หลายประเทศต้องการความอุ้นใจว่าถ้าจำเป็นแล้วจะมีแหล่งเงิน แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครจำเป็น แต่มีไว้ก็จะเป็นมาตรการที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงผลกระทบของการชุมนุม ของกลุ่มคนเสื้อแดงต่อการเป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียน+3 ที่เมืองพัทยา ในช่วงเดือน เมษายนว่า หากมองการชุมนุมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย คงไม่มีปัญหา และทุกฝ่ายคงยอมรับได้ แต่ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมายและครรลองรัฐธรรมนูญ หากการชุมนุมใช้ความรุนแรงและการเผชิญหน้าคงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมและเป็นประธานอาเซียน รวมถึงการที่ นายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญให้เป็นตัวแทนของอาเซียนในการประชุมจี 20 ที่ประเทศอังกฤษ การไปแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาสำคัญในเวทีโลก ขณะที่การเมือง ไม่มีความแน่นอน ไม่มีเสถียรภาพ ทำให้เกิดความลังเลและกังวล ส่งผลต่ออำนาจ ในการต่อรองและน้ำหนักในคำพูด ที่จะไปนำเสนอในเวทีใหญ่ต้องถูกกระทบกระเทือน เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า การจัดประชุมอาเซียน+3 และอาเซียน+6 ยังคงเป็นไปตามกำหนดเดิม รัฐบาลยืนยันว่าไม่มีสิ่งใดน่าเป็นห่วง หวังว่านอกจากรัฐบาลจะดูแลการจัดประชุมแล้ว ประชาชนไทยทุกฝ่ายจะเห็นความจำเป็นในการช่วย ให้การทำงานบรรลุผลสำเร็จ เพราะงานนี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นงานของ คนไทยทั้งประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น