xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน “จาตุรนต์-บุญจง” ต้านนิรโทษกรรม220 ศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เลือกจะใช้จังหวะเวลาที่อ
ยู่ในช่วงขาขึ้นทางการเมือง และได้รับเสียงชื่นชมในฐานะ
ผู้นำประเทศ-นักบริหารการเมือง
ที่แสดงศักยภาพให้เห็นถึงความเด็ดขาด การกล้าตัดสินใจ และการเป็นผู้นำ กับการนำพาประเทศฝ่าวิกฤต แดงคลั่งเผาบ้านเผาเมืองมาได้
ด้วยการยอมที่จะถูกให้เสียงชื่นชม แปรเปลี่ยนเป็นเสียงวิจารณ์ขรมในทางลบ คัดค้านและตำหนิ กับการพร้อมที่จะยอม
ถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อนำชาติพ้นสภาพความขัดแย้ง
เพียงแต่เป็นการถอยหลัง ที่บางคนออกมาเตือนว่า อาจทำให้อภิสิทธิ์ สะดุดขาตัวเองล้มลง จนยากจะลุกขึ้นยืนได้ หากคิดจะดื้อดึงทำให้สำเร็จ
นั่นก็คือ การแบะท่า“ปล่อยผี” นิรโทษกรรมกลุ่มนักการเมือง ที่เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค
ทั้งไทยรักไทย จำนวน 111 คน และ 109 คน จากสามพรรค คือ พลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย
เสียงสนับสนุนและคัดค้านทั้งหลาย ที่ดังเซ็งแซ่ยามนี้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่า จะเป็นแค่การโยนหินถามทาง หรือเอาจริงของอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่?
ที่น่าสนใจคือ ท่วงท่าของกลุ่มบุคคลที่ออกมาคัดค้านแนวคิดนิรโทษกรรมการเมือง นอกเหนือจากนักวิชาการ-นักกฎหมาย ที่ต้องไม่เห็นด้วยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นั่นก็คือ กลุ่มนักการเมือง ที่เรียงแถวขวางลำในยามกระแสหนุนกำลังเชี่ยวกราก
คนแรก จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
แต่เหตุผลการไม่เห็นด้วยของจาตุรนต์ ทำเอาหลายคนได้แต่ทำหน้าปูเลี่ยนๆ เพราะเห็นว่า “เสี่ยอ๋อย” ดูจะผิดฟอร์มไปเยอะ
เป็นต้นว่า ยกข้ออ้างจะทำให้ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่กำลังถูกสอบสวนเรื่องการชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล และสนามบินสุวรรณภูมิได้ประโยชน์ไปด้วย ทั้งที่ อภิสิทธิ์ ก็บอกชัดเจนว่าไม่แตะต้องคดีอาญา ไม่มีการพูดถึงเรื่องการช่วยเหลือพันธมิตรฯ เลย
คำกล่าวอ้างของจาตุรนต์ จึงสร้างความสับสนให้ประชาชน จะว่าไม่ทำการบ้านก็คงไม่ใช่ แต่น่าจะพยายามดิสเครดิตกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งประกาศมาตลอดว่า ขอสู้ตามกระบวนการยุติธรรม
เหตุที่จาตุรนต์ดูจะพยายามหาเหตุมาทำให้เสื้อเหลืองติดลบ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเจ้าตัวก่อนหน้านี้ไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงที่ข้างทำเนียบรัฐบาลในช่วงสายวันที่ 13 เมษายน 2552 หลังจากทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่ ประกาศให้ 111 อดีต ทรท. เลิกเหนียมได้แล้ว ก็เลยอาจกลัวตกขบวน เพราะคิดว่าตอนนั้นเสื้อแดงอาจได้รับชัยชนะ
พอเสื้อแดงพ่าย กระแสสังคมตีกลับ ยามนี้เมื่อรัฐบาลพยายามจะสมานฉันท์ จาตุรนต์ ก็ออกลีลาเหมือนเพื่อไทย คือ คิดว่าฝ่ายตัวเองได้เปรียบ เลยสร้างเงื่อนไขสารพัด จนถูกวิจารณ์ว่า
พยายามจะสร้างราคาการเมือง
เพราะรู้ดีว่า กระแสประชาชนจำนวนมาก ก็ไม่เห็นด้วยหากจะยกความผิดให้นักการเมือง จนไม่รู้ว่าจุดยืนของจาตุรนต์ แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่ ?
สำหรับจาตุรนต์ คนนี้ หากจำกันได้ เคยแสดงอารมณ์ปรวนแปรให้ประชาชนเห็นมาแล้ว ในวันที่ตุลาการรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทย เมื่อ 30 พฤษภาคม 2550 เพราะก่อนจะเข้าห้องฟังการพิจารณาคดีในช่วงบ่าย จาตุรนต์ ก็แถลงข่าวยืนยันว่าพรรคไทยรักไทย พร้อมยอมรับการตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญทุกอย่าง ไม่ว่าจะตัดสินออกมาอย่างไร
ทว่า ตกกลางคืน พอไทยรักไทยถูกยุบ เจ้าตัวก็ขึ้นเวทีปราศรัยย่อยในช่วงหลังเที่ยงคืนเกือบตีหนึ่ง หน้าตึกที่ทำการพรรค ถนนพระราม 3 ยืนจังก้ากลางสายฝนที่ตกลงมา เหมือนจะชำระล้างสิ่งสกปรกทางการเมืองว่า
จะขอเป็นแถวหน้าในการออกมาต่อสู้กับรถถังของทหาร และไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักไทย
อันแสดงให้เห็นถึง ลีลาพลิ้ว ไม่ใช่เล่น
การคัดค้านของจาตุรนต์ หากมองกันเข้าไปในพรรคเพื่อไทย จริงอยู่ว่า หากมีการนิรโทษกรรมจริงๆ แล้วแกนนำเพื่อไทยสายทักษิณหลายคนกลับมาเล่นการเมืองได้อีก เช่น สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สุธรรม แสงประทุม พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ สมชาย และเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ภูมิธรรม เวชชยชัย เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช และฯลฯ
จาตุรนต์ ย่อมไม่ใช่ตัวเลือกอันดับแรกของทักษิณ ในการให้กลับมานำพรรคเพื่อไทย เพราะทักษิณ ย่อมเห็นแล้วว่า หลัง 19 ก.ย.49 หากไม่มั่นใจ หรือไม่ใช่โค้งสุดท้ายจริงๆ จาตุรนต์ มักไม่ค่อยยอมออกมาเป็นหัวหอกยืนเคียงข้างทักษิณ
ไม่มีลักษณะผู้นำแบบกล้าได้กล้าเสีย อย่างที่ทักษิณต้องการ
ผสมกับหากมีการปลดล็อกจริง ทักษิณ ก็ยังกลับมาไม่ได้ แม้แกนนำจะไม่แตกกระสานซ่านเซ็นย้ายไปพรรคอื่น แต่ก็ยากที่เพื่อไทยจะกลับมาได้ เพราะการที่อภิสิทธิ์ ยอมเปลืองตัวนิรโทษ ก็ต้องซื้อใจพรรคร่วมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น บรรหาร ศิลปอาชา สุวัจน์ ลิปตพัลลภ สมศักดิ์ เทพสุทิน พินิจ จารุสมบัติ และ เนวิน ชิดชอบ ที่ยากจะกลับไปจับมือกับทักษิณได้
จึงทำให้เพื่อไทย มีแนวโน้มถูกโดดเดี่ยวเป็นฝ่ายค้านอีกเช่นเดิม
สถานะของจาตุรนต์ ก็ยังต้องเป็นแค่ ส.ส.ธรรมดาหลังเลือกตั้ง มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะตอนนี้ก็มีคนในครอบครัวเป็นส.ส.อยู่แล้ว คือ สองน้องชายน้องสาว ตระกูลฉายแสง อย่างวุฒิพงษ์ และฐิติมา ฉายแสง
อีกคนหนึ่งที่ออกมาประกาศตัวเป็นแถวหน้าไม่เอานิรโทษกรรม ทั้งที่แกนนำพรรค-ส.ส.พรรคหนุนสุดตัว ไม่ใช่ใครที่ไหน
บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
แหกโผพรรคประกาศตัวชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วย ทั้งที่ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค-มท.1 ศุภชัย โพธิ์สุ โฆษกพรรค และส.ส.พรรคทุกคนหนุนสุดตัว
ส่วนเหตุผลการไม่เห็นด้วย ถ้าไม่วิเคราะห์กันให้ดีๆ ก็อาจคิดว่า มท.2 คนนี้ ช่างยึดหลักการเสียยิ่งกว่าอะไร ถึงกับยอมขวางทางแกนนำพรรคหลายต่อหลายคน ที่ลุ้นตัวโก่งให้รัฐบาลรีบนิรโทษกรรม
โดยอ้างว่า ทางกลุ่มเพื่อนเนวิน ตอนแยกตัวออกมาจากพรรคเพื่อไทย เพื่อมาเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์หนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า
“ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายเพื่อคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง!”
แต่คนภูมิใจไทย ก็ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า หากมีการปล่อยผีนักโทษการเมืองออกมาทั้งหมด บุญจง ที่กำลังถูกทั้ง กกต. และกรรมการ ป.ป.ช. สอบสวน กรณีแจกเงินช่วยเหลือประชาชนของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ พ่วง”นามบัตร” จนเก้าอี้สั่นคลอน
ไม่รู้จะชะตาขาดเมื่อไหร่?
อย่าลืมว่า ตำแหน่ง มท.2 ของบุญจง ที่คุมกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่มีงบประมาณ และผลประโยชน์แสนกว่าล้านในแต่ละปี ดังนั้นหากมีการเร่งนิรโทษกรรมการเมือง
บุญจง ที่ได้เก้าอี้นี้ เพราะคนในภูมิใจไทยยามนี้ล้วนแต่เป็น “นอมินี” กันทั้งพรรค ตั้งแต่หัวหน้าพรรค ชวรัตน์ ก็นอมินีลูกชาย อนุทิน ชาญวีรกูล หรือเลขาธิการพรรค พรทิวา นาคาศัย ก็นอมินีค่ายสนามบินน้ำ ของสมศักดิ์ กับอนงค์วรรณ เทพสุทิน หรือ โสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ก็นอมินี เนวิน ชิดชอบ
เลยทำให้ บุญจง กลายเป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ ของพรรค ในฐานะนักการเมืองแถวสองของภูมิใจไทย ส่วนแถว 1 ก็พวก 111 ทั้งหลาย แบบนี้หาก 111 อดีต ทรท.กลับมา
บุญจง ก็มีหวังหลุดเก้าอี้โดยทันที เพราะเก้าอี้ มท.2 ตัวนี้ หอมหวานยิ่งนัก
ความพยายามจะดับไฟการเมืองของ อภิสิทธิ์ ด้วยการปลดล็อกนิรโทษกรรม 220 นักโทษการเมือง จึงมีบางคนทำตาขวาง ให้แลเห็นในที่สว่างแจ้งเช่นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น