xs
xsm
sm
md
lg

แผนลอบสังหาร ปฏิบัติการไม่ลับ!

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ปืนเอ็ม 16 ปืนอาก้า ปืนเอชเค และระเบิดเอ็ม 79 ที่ได้กระหน่ำยิงถล่มรถของนายสนธิ ลิ้มทองกุล นับร้อยนัด เมื่อเช้ามืดวันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552 ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ต้องการสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุลอย่างชัดเจน ไม่ใช่เป็นเรื่องของการจัดฉาก หรือเรื่องชู้สาวดังที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือนักข่าวบางค่ายพยายามใส่ความและบิดเบือนเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร้ความรับผิดชอบ

นายสนธิ ลิ้มทองกุล มีฐานะเป็นผู้นำขององค์กรสื่อในเครือผู้จัดการ ทั้ง ASTV, หนังสือพิมพ์ ASTV-ผู้จัดการ, เว็บไซต์ www.manager.co.th และยังเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คนที่จะทำเช่นนี้จึงต้องเป็นกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องหรือเป็นเครือข่ายทางการเมืองซึ่งจนปัญญาไม่สามารถต่อสู้กันด้วยวาทกรรม หลักฐาน และกระบวนการยุติธรรมได้อีกแล้ว จึงใช้กำลังและความรุนแรงถึงขั้นใช้อาวุธสงครามเพื่อมุ่งหมายเอาชีวิต เพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง

อันที่จริงการใช้อาวุธสงครามใจกลางพระนคร ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก หากแต่ได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในปี 2551 โดยการใช้อาวุธสงครามประเภทเอ็ม 79 ยิงใส่ผู้ชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมือง และเอเอสทีวี จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยที่รัฐบาล ตำรวจ และทหารในยุคนั้นมีจิตใจเย็นชา อำมหิต ไม่เคยให้การช่วยเหลือ หรือหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้แม้แต่ครั้งเดียว

ถึงทุกวันนี้เวลาผ่านไปจนเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว การสะสางคดีการเข่นฆ่าประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงเงียบหายเข้ากลีบเมฆ เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น สนใจแต่คดีการชุมนุมหน้าอาคารผู้โดยสารของสนามบินที่จะส่งผลกระทบต่อฝ่ายการเมืองเท่านั้น

ลำพังเพียงการปล่อยให้ใช้อาวุธสงครามชนิดร้ายแรงมาปฏิบัติการใจกลางกรุงข้างต้น โดยที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ ก็เพียงพอที่จะต้องเปลี่ยนตัวนักการเมืองและข้าราชการด้านความมั่นคงอย่างเร่งด่วนได้ตั้งนานแล้ว

แต่ด้วยความที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นคนที่เกรงใจ ให้เกียรติฝ่ายการเมืองที่ดูแลงานด้านความมั่นคง และให้โอกาสข้าราชการในการทำงาน จึงยอมให้รัฐบาลถูกตำหนิที่ปล่อยให้เครือข่ายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีเข่นฆ่าประชาชน 7 ตุลาคม 2551 ยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้บังคับบัญชาในเครือข่ายตำรวจที่ต้องการล้มล้างความผิดคดี 7 ตุลาคม เปิดไฟเขียวให้เครือข่ายของตัวเองเข้าร่วมขบวนการคนเสื้อแดงและใส่เกียร์ว่างในการทำงานให้กับรัฐบาล

เป็นต้นทุนที่มีราคาแพงจนนายอภิสิทธิ์ เกือบเอาชีวิตไม่รอดถึง 3 ครั้ง

ครั้งแรก วันอังคารที่ 7 เมษายน 2552 เกิดเหตุการณ์ที่รถนายกรัฐมนตรีที่ติดไฟแดงและถูกคนเสื้อแดงรุมทุบจนกระจกแตกที่พัทยา

ครั้งที่สอง วันเสาร์ที่ 11 เมษายน 2552 ตำรวจบางจุดยังได้เจรจากับฝ่ายทหารเพื่อเปิดทางให้คนเสื้อแดงเข้าไปบุกในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและคู่เจรจา จนเกิดความเสี่ยงอันตรายต่อผู้นำจากต่างประเทศ เป็นผลทำให้งานดังกล่าวต้องยุติลงในที่สุด ซึ่งถ้าหากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หนีไม่ทันในวันนั้น อาจถูกลอบสังหารไปเรียบร้อยแล้ว!

ครั้งที่สาม วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2552 กลุ่มคนเสื้อแดงได้ทุบรถนายกรัฐมนตรี มุ่งหมายจะเอาชีวิตที่หน้ากระทรวงมหาดไทย นับว่ายังโชคดีที่สามารถรอดตัวมาได้อีกครั้ง

ไม่ใช่แค่ต้นทุนที่แพงลิ่วถึงเดิมพันชีวิตนายอภิสิทธิ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงต้นทุนความเสียหายจากความล้มเหลวในการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และชีวิตชาวบ้านที่นางเลิ้ง 2 คน ซึ่งประเมินค่ามิได้

การที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตัดสินใจไม่ออกมาเคลื่อนไหว จึงไม่มีเหตุมาปะทะกับคนเสื้อแดงที่จะเป็นข้ออ้างให้ทหารเข้าสลายมวลชนทั้งสองกลุ่ม หรือทำการรัฐประหารเข้าสู่อำนาจเสียเอง อีกทั้งยังทำให้ประชาชนได้เห็นความป่าเถื่อนและเลวร้ายของกลุ่มคนเสื้อแดงแต่เพียงฝ่ายเดียวล้วนๆ

เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ออกมาเคลื่อนไหว จึงไม่ตกเป็นเหยื่อของคนเสื้อน้ำเงินที่จะแฝงเข้ามาในคนเสื้อเหลือง และก่อความรุนแรงกับเสื้อแดงในเหตุการณ์วันที่ 11 เมษายน 2552 แล้วมาใส่ร้ายมวลชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เพราะไม่มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวมวลชนในสถานการณ์เช่นนี้ จึงทำให้นายกรัฐมนตรี เห็นภาพที่ชัดในการกระทำของฝ่ายทหาร ตำรวจ บางส่วนที่เจตนาใส่เกียร์ว่างสมรู้ร่วมคิดที่จะบีบนายกรัฐมนตรีให้ลาออกหรือยุบสภา หรือ ทำการลอบสังหารนายกรัฐมนตรีชัดเจนขึ้น

แต่เมื่อแผนลอบสังหารไม่สำเร็จจึงมีคนบางกลุ่มคิดการจะหาทางทำให้เกิดการจลาจล !

ฝ่ายหนึ่ง ปล่อยปละละเลย ละทิ้งหน้าที่และยั่วยุทำให้เกิดการจลาจล จนรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ เพื่อคาดหวังที่จะทำการรัฐประหารเข้าสู่อำนาจเสียเอง

อีกฝ่ายหนึ่ง ต้องการการจลาจลเพื่อทำให้เกิดการเจรจาต่อรอง โดยหวังว่าจะบีบคั้นให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกมาคลี่คลายปัญหา และคิดว่าฝ่ายตัวเองจะได้ประโยชน์จากการต่อรองในการนิรโทษกรรมความผิดของตัวเอง


วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2552 ปฏิบัติการที่มีการนำกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ นำรถหุ้มเกราะสายพานลำเลียงออกมา โดยไม่มีทหารราบออกมาปกป้อง และปล่อยให้กลุ่มคนเสื้อแดงยึดไปอย่างน่าอัปยศที่สุดนั้นเกิดอะไรขึ้น?

บางคนคิดไปว่าทหารสมรู้ร่วมคิดกับเสื้อแดงคิดจะรัฐประหารยึดอำนาจให้กับฝ่ายทักษิณแล้ว

บางคนวิเคราะห์ว่า กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ไม่มารักษารถหุ้มเกราะสายพานลำเลียงของกองพลทหารม้าที่ 2 ตามนัด ออกมาไม่ทันเพราะผิดเวลา และเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค

แต่บางคนวิเคราะห์ลึกไปกว่านั้นว่า กรมทหารราบที่ 21 คิดจะร่วมทำการรัฐประหาร แต่ถูกบล็อกจึงไม่สามารถออกมาตามนัดได้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นไปอีก เมื่อรู้ว่ากำลังทางทหารที่จะต่อต้านการรัฐประหารนั้นมีอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน จึงทำให้แผนการรัฐประหารคว่ำลง

ถ้ามีคนคิดที่จะรัฐประหารในวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2552 เป็นความจริง ก็ต้องถือว่าล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โชคดีได้ยาดีจากกองทัพบางส่วนจนหยุดยั้งการรัฐประหาร และสามารถกระชับอำนาจได้เป็นครั้งแรกในคืนนั้น ท่ามกลางการแถลงข่าวที่มีทหารระดับสูงบางคนมีสีหน้าไม่สบายใจในการออกอากาศครั้งแรกของกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) จำเป็นต้องเลิกเกียร์ว่าง เลิกเป็นกลางชั่วขณะ และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี อย่างไม่มีทางเลือก

การสั่งการเกือบทั้งหมดหลังจากคืนนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นคนที่ตัดสินใจเอง และรับผิดชอบเอง โดยได้รับคำปรึกษาและข้อมูลจำนวนมากจากบุคคลภายนอก!

ย้อนกลับมาที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ อยู่ภายใต้กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ผู้บัญชาการกองพลดังกล่าวเป็นหน่วยปฏิบัติที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ใช้งาน และสั่งการเองโดยตรงโดยไม่ผ่านแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อเปิดการจราจรบริเวณสามแยกดินแดงในเช้ามืดตอนตี 4 ของวันที่ 13 เมษายน 2552 ตามคำบัญชาการของนายกรัฐมนตรี

น่าแปลกใจว่าปฏิบัติการลับเช่นนี้ และเวลาเช้ามืดขนาดนั้น ทำไมยังมีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายรออยู่บนทางด่วนแล้วยิงใส่ทหารและผู้ชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บ?

บริเวณจุดที่กลุ่มคนเสื้อแดงบุกรุกและเผชิญหน้ากับประชาชนบริเวณนางเลิ้ง ก็ปรากฏว่ามีประชาชนถูกยิงมาจากด้านหลังซึ่งมีตำรวจทำหน้าที่อยู่ อีกทั้งตำรวจยังเข้าไปในตลาดนางเลิ้งและถนนเพชรบุรีบอกให้ประชาชนที่ออกมาต่อต้านคนเสื้อแดงกลับเข้าบ้าน เพื่อให้กลุ่มคนเสื้อแดงเข้าเผาทำลายบ้านเมืองได้สะดวก

สรุปได้ว่างานนี้เป็นการช่วงชิงกัน มีคนฝ่ายหนึ่งต้องการให้เกิดการจลาจลเพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร และฝ่ายคนเสื้อแดงก็ตะครุบเหยื่อนี้ด้วยการใช้ข้อมูล “คนเป็น” ไปหลอกประชาชนว่าถูกทหารฆ่าตายแล้วเพื่อปลุกระดมให้เกิดการจลาจลเผาบ้านเมือง ตามมาด้วยการถวายฎีกาให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ออกมายุติปัญหาดังกล่าว และคาดหวังจะล้มล้างความผิดของตัวเองในอดีตทั้งหมด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีได้จ่ายค่าความไว้วางใจต่อฝ่ายความมั่นคงในราคาที่แพงสูงลิ่ว จำเป็นต้องพิจารณาเปลี่ยนตัวบุคคลที่ดูแลงานความมั่นคงโดยด่วนที่สุด!

โดยเฉพาะคดีการลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุลนั้นมีความสลับซับซ้อนหลายชั้นอยู่มาก เป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่สนใจแม้กระทั่งการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่มีทหารและตำรวจจำนวนมากที่เฝ้าตามจุดต่างๆ และยังมีความสามารถทำให้กล้องวงจรปิดจำนวนมากไม่ทำงานก่อนวันลอบสังหาร 1 วัน ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา หากยังปล่อยไว้ต่อไปจะเป็นภัยถึงชีวิตต่อสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ตลอดจนเป็นภัยได้แม้แต่กระทั่งชีวิตของนายกรัฐมนตรี

หากยังไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างงานความมั่นคงต่อไป ก็ยากที่จะได้รับความร่วมมือจากตำรวจหรือทหารที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ได้ ต้นทุนความเสียหายชองชาติในการไม่เปลี่ยนแปลงก็อาจจะแพงมากขึ้นไปอีก

แต่วงการประเภทนี้มันแคบพอที่จะทำให้เครือข่ายที่มีอยู่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสามารถที่จะรู้ได้ว่า ใครเป็นผู้บงการ ใครเป็นตัวตัดตอน ใช้กองกำลังของใคร และใครเป็นผู้ลงมือ ใครเลี้ยงฉลองกันที่ไหน เพียงแต่ว่าจะพูดกันออกมาวันนี้หรือไม่เท่านั้น !?

โดยเฉพาะการสั่งการปฏิบัติการลอบสังหารอย่างละเอียดในบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน 2552

แต่การรอดชีวิตจากการลอบสังหารของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ครั้งนี้ คงทำให้หลายคนได้สติว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบาปบุญมีจริง ถึงแม้ว่ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถคลี่คลายคดีนี้ให้ได้หรือไม่ก็ตาม ก็เชื่อมั่นว่าคนที่กระทำจะต้องได้ชดใช้กรรมที่ทำเอาไว้อย่างแน่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น