xs
xsm
sm
md
lg

กรมสุขภาพจิตส่งทีมเยียวยาจิตใจผู้บาดเจ็บ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมสุขภาพจิต ส่งทีมเยียวยาจิตใจผู้บาดเจ็บชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบ หวั่นป่วยภาวะซึมเศร้าจากเหตุวิกฤตรุนแรง หรือ PTSD พร้อมเปิดสายด่วน 1323 ให้บริการปรึกษา 24 ชั่วโมง

วันที่ 16 เมษายน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ประชุมผู้บริหาร เพื่อวางแผนฟื้นฟูสภาพจิตใจ และเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุม 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บรักษาอาการตามโรงพยาบาลต่างๆ 2.กลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม เช่น ชุมชนตลาดนางเลิ้ง ชุมชนแฟลตดินแดง และชุมชนบ้านครัว เป็นต้น และ 3.กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม โดยได้ประสานขอความร่วมมือไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการสำรวจและเฝ้าระวังความเครียดของกลุ่มคนต่างๆแล้ว

“เบื้องต้นได้จัดทีมสหวิชาชีพ ทั้งหมด 6 ทีม ประกอบด้วย จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาล โดยจะประสานทำงานร่วมกับทีมสุขภาพจิตของโรงพยาบาล 12 แห่งที่มีผู้ป่วยอยู่ขณะนี้ รวมทั้งทีมสุขภาพจิตในชุมชน ออกเยี่ยมเยียนไต่ถามทุกข์สุขทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง พร้อมให้คำแนะนำในการบำบัดความเครียด ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงจะได้รับการรักษาทันที ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ (16 เม.ย.) เป็นต้นไป”นพ.ชาตรีกล่าว

นพ.ชาตรี กล่าวด้วยว่า ตามปกติหลังเหตุการณ์ความรุนแรงยุติลงแล้ว จะมีประชาชนได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจเกิดเกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล โดยร้อยละ 80-90 ของผู้ที่ประสบเหตุการณ์วิกฤต จะเกิดอาการเช่นนี้อยู่แล้ว ภายใน 1 สัปดาห์ - 1 เดือน และจะหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ในบางรายที่ไม่สามารถจัดการความเครียดได้ อาจเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง เรียกว่า กลุ่มอาการความซึมเศร้าที่เกิดหลังจากการเผชิญภาวะวิกฤตรุนแรงทั้งทางใจและกาย (Post - Traumatic stress Disorder : PTSD) ซึ่งเกิดได้ทั้งจากการเผชิญภัยธรรมชาติ เช่น สึนามิ และความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาที่กรมสุขภาพจิตต้องเร่งฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นโรคซึมเศร้าถาวร

นพ.ชาตรี กล่าวอีกว่า ตัวอย่างเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งกรมสุขภาพจิตสามารถติดตามผลให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพจิตใจได้ประมาณ 300 คน จากผู้บาดเจ็บทั้งหมด ประมาณ 600 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 5-10 มีอาการ PTSD ซึ่งนักจิตวิทยาต้องให้ความช่วยเหลือ และติดตามอาการต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ มีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงเหลืออยู่ 2 ราย คือ ที่ จ.สุพรรณบุรี และที่ราชบุรี

“วิธีสังเกตผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง จะมีอาการทั้งทางกายและใจ โดยทางกายจะแสดงออก คือ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น เป็นต้น ส่วนอาการทางใจ คือจะมีความเครียด หงุดหงิด โกรธง่าย วิตกกังวลเกินเหตุ หรือซึมเศร้า ส่งผลให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด คนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้นคนรอบข้าง จะต้องช่วยสังเกตอาการ หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งให้รีบช่วยเหลือ ด้วยการปลอบใจ รับฟังปัญหาเพื่อให้เจ้าตัวได้ระบายความรู้สึก ระบายความเครียด และหากิจกรรมบันเทิงต่างๆ ให้คนในครอบครัวร่วมกิจกรรม เพื่อหันเหความสนใจไม่ให้หมกมุ่นกับสถานการณ์การเมือง แต่หากยังไม่ดีขึ้นให้ปรึกษาจิตแพทย์ทันที” นพ.ชาตรี กล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตได้เปิดสายด่วน 1323 ในโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต 17 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบตลอด 24 ชั่วโมง และตั้งศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการเยียวยาทางจิตใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุม ซึ่งจะติดตามข้อมูลข่าวสาร วิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตอบสนองปัญหาได้ทันท่วงที
กำลังโหลดความคิดเห็น