xs
xsm
sm
md
lg

ไอเอ็มเอฟระบุเศรษฐกิจโลก ถดถอยกันยาวนานและลงลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่คำทำนายล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดี (16) ว่าเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะถดถอยอย่างยาวนานและลงลึก อีกทั้ง “ไม่มีใครสามารถหนีจากวังวนนี้ไปได้” รวมทั้งการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าและยากลำบาก

คำพยากรณ์ดังกล่าว ปรากฏอยู่ใน 2 บทแรกในฉบับล่าสุดของ รายงานทิศทางอนาคตเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook หรือ WEO) ซึ่งไอเอ็มเอฟออกทุกๆ ครึ่งปี และในคราวนี้ทางกองทุนนำ 2 บทแรกดังกล่าวนี้ออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนก่อนล่วงหน้า

”ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะสาหัสและยาวนานผิดปกติ นอกจากนี้การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างยากเย็นอีกด้วย” รายงาน WEO ของไอเอ็มเอฟชี้

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟมิได้ระบุว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทั่วทั้งโลกครั้งแรกในรอบ 60 ปีคราวนี้เมื่อใด

“ตอนนี้ก็มีประกายแห่งความหวังบ้างแล้วว่า สถานการณ์เริ่มชะลอความร้ายแรงลงไปบ้างแล้ว” สตีเฟน แดนนินเจอร์ นักเศรษฐศาสตร์ที่ไอเอ็มเอฟกล่าว

อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่าพัฒนาการใด ๆทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอาจเป็นแค่ลดระดับจาก “ร้ายแรงขั้นสุดยอด” มาเป็นระดับ “ร้ายแรงมาก” เท่านั้นเอง ในขณะที่ โดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการของไอเอ็มเอฟก็ออกมากล่าวในทำนองเดียวกัน

“2009 จะเป็นปีที่ขุกเข็ญยิ่ง เราคาดว่าอัตราการเติบโตทั้งโลกจะลงไปอยู่ในแดนลบ และนี่เป็นวิกฤตแห่งโลกอย่างแท้จริง ไม่มีใครสามารถหนีรอดไปได้” สเตราส์-คาห์นบอกในระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ที่ชมรมผู้สื่อข่าวแห่งชาติที่กรุงวอชิงตัน

ไอเอ็มเอฟกล่าวด้วยว่า นักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนฯได้หันกลับไปศึกษารูปแบบวงจรเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว 21 แห่ง ระหว่างปี 1960 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ การศึกษาพบว่ามาตรการกระตุ้นด้านการคลัง “มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง” ในการยุติภาวะชะลอตัว ในขณะที่มาตรการด้านการเงินอย่างเช่น ลดภาษี จะช่วยลดความยาวนานของวิกฤตลง หากแต่จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า

รายงานของไอเอ็มเอฟชี้ว่า สำหรับสหรัฐฯนั้น “มีหลักฐานแสดงให้เห็น ระหว่างราคาสินทรัพย์, สินเชื่อและการลงทุน มีการส่งผลกระทบทางลบป้อนให้แก่กันและกัน”

ในขณะที่ส่วนอื่น ๆของโลก “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในขณะนี้ อยู่ในสภาพที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กันค่อนข้างมาก จึงส่งผลกระทบต่อแนวโน้มฟื้นตัวตามธรรมชาติ”

ไอเอ็มเอฟเตือนด้วยว่า การชะลอตัวของปริมาณเงินทุนที่ไหลไปยังพวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ “อาจจะเกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อ เมื่อพิจารณาจากปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งพวกแบงก์ในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วกำลังเผชิญอยู่ โดยที่ธนาคารเหล่านี้นี่เองที่เป็นผู้ส่งเม็ดเงินทุนเข้าไปในประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่”

ทั้งนี้พวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ในยุโรปตะวันออก จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ เนื่องจากภาคการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเหล่านี้ ต้องพึ่งพาเม็ดเงินทุนจากธนาคารของยุโรปตะวันตกอย่างมาก

ไอเอ็มเอฟยังชี้อีกว่า เมื่อระบบธนาคารของประเทศที่พัฒนาแล้วเกิดปัญหา อย่างเช่น ในช่วงวิกฤตหนี้เสียของละตินอเมริกาในทศวรรษ 1980, วิกฤตธนาคารในญี่ปุ่นทศวรรษ 1990, จะทำให้ปริมาณเม็ดเงินที่ไหลเข้าไปในประเทศกำลังพัฒนานั้น “ลดลงอย่างมหาศาล รวมทั้งยังถูกดึงกลับออกมาด้วย”

เพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยเร็วที่สุด ไอเอ็มเอฟจึงเรียกร้องให้บรรดาประเทศต่าง ๆทั้งพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ร่วมมือกันกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่รวมทั้งควบคุมปัญหาการเงินให้อยู่ในวงจำกัดด้วย

ไอเอ็มเอฟจะนำเสนอรายงาน WEO ทั้งฉบับในวันพุธหน้า(22) ซึ่งก็คาดได้ว่าน่าจะบอกถึงความร้ายแรงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก อันเป็นทิศทางเดียวกับ 2 บทแรกที่เผยแพร่กันในคราวนี้ โดยรายงาน WEO นี้จะนำออกแพร่ไม่กี่วันก่อนการประชุมร่วมของไอเอ็มเอฟกับธนาคารโลกประจำฤดูใบไม้ผลิ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 เมษายน ในกรุงวอชิงตัน

ในรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลกฉบับปรับปรุงล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว ไอเอ็มเอฟทำนายว่าปี 2009 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี โดยอัตราการเติบโตจะติดลบระหว่าง 0.5 ถึง 1% ส่วนในปี 2010 ไอเอ็มเอฟคาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปแบบช้า ๆในราว 1.5 - 2.5%
กำลังโหลดความคิดเห็น