xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.มั่นใจตลาดหุ้นไม่ทรุด จี้ภาครัฐเร่งโรดโชว์ ฟื้นเชื่อมั่น-เครดิตไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ผู้บริหารบลจ. เชื่อมั่นสงกรานต์เดือดไม่กดดันตลาดหุ้นมากนัก หลังรัฐโชว์ฝีมือคลี่คลายได้เยี่ยม แต่ยอมรับต่างชาติจะมีแรงขายออกจากความเชื่อมั่นที่หดตัว จี้ตลาดหลักทรัพย์ฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งโรดโชว์ชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อฟื้นคืนความมั่นใจ และดึงเครดิตประเทศกลับมา ด้าน บลจ.ทิสโก้ มองเป้าดัชนีหุ้นไทยไตรมาสสอง 500 จุด หรือบวกขึ้น 15% จากอานิสงส์ข่าวดีทั้งราคาคอมดอดิตีขยับ สภาพคล่องในโลกสูงขึ้น และข่าวร้ายต่อเศรษฐกิจน้อยลง ส่วนภาพรวมหลังสงกรานต์ ยังได้รับปัจจัยบวกจากต่างประเทศ

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดทุนไทย ภายหลังปัญหาความไม่สงบจากสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ว่า เมื่อปัญหายุติลงไป จะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจและตลาดทุนในประเทศ เหลือปัจจัยลบที่กดดันไม่มาก หรืออาจกล่าวได้ว่าแย่น้อยลงจากเดิมที่คาดว่าจะแย่มาก ดังนั้นจึงเชื่อว่าหลังสงกรานต์กลับมาภาพรวมน่าจะดีขึ้น หลังการสลายการชุนนุมไม่มีความรุนแรงมากนัก ซึ่งจะทำให้โอกาสดัชนีตลาดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นมีความเป็นไปได้สูง

ส่วนนักลงทุนต่างชาติ ยอมรับว่ายังมีความมั่นใจในตลาดหุ้นไทยมากนักกับสถานกาณ์ในช่วงนี้ ซึ่งถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ควรเร่งออกไปโรดโชว์นำเสนอข้อมูลให้เกิดความั่นใจ และใช้โอกาสนี้ชี้แจงความเป็นจริงให้นานาประเทศได้รับรู้ จะถือเป็นเรื่องที่ดีและควรรีบดำเนินการ
ขณะที่ในส่วนอุตสาหกรรมกองทุนรวม เนื่องจากลูกค้าของบริษัทเป็นคนไทย ซึ่งจะรับรู้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ซึ่งช่วงต่อไปที่จะแนะนำนักลงทุนคือการเข้าไปลงทุนกองทุนหุ้น เนื่องจากราคาจะปรับตัวลดลงถือเป็นโอกาสดีในการเก็บหุ้นไว้ในพอร์ต เพื่อรอรับผลตอบแทนที่สูง

จี้เร่งชี้แจงต่างชาติ-ฟื้นเครดิต
นายธิติ ธาราสุข ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เน็กซ์วิว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าในช่วงวันหยุดเทศกาลที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติหลายรายโทรศัพท์เข้ามาสอบถามถึงสถานการณ์การเมืองในไทยกับตนเอง ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทยมากเท่าใด และไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะยุติอย่างแน่นอนแล้ว แต่ยังคาดว่าวันนี้ตลาดหุ้นไทยน่าจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นเป็นบวกได้ แม้เมื่อเปิดตลาดวันแรกหลังจากหยุดเทศกาลมานักลงทุนต่างชาติจะเทขายหุ้นออกมาจากปัญหาวิกฤตการเมืองเมื่อวันที่ 12 -14 เมษายนที่ผ่านมา

โดย แม้ตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบจากแรงเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ แต่ก็จะได้รับแรงซื้อจากนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบันในประเทศที่เข้าใจในสถานการณ์และมีความมั่นใจในโอกาสการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเข้ามาช่วยรองรับแรงขาย ซึ่งจะทำให้ดัชนีแม้จะปรับตัวลดลงแต่เชื่อจะไม่มากเท่าไร

ทั้งนี้มองว่า หน้าทีต่อไป ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน ควรเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูล เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติให้กลับมาดังเดิม เพื่อช่วยผลักดันให้ดัชนีของตลาดเดินหน้าต่อไ ป ซึ่งรวมถึงเพื่อเปลี่ยนมุมมองการปรับลดอันดับเครดิตของบรรดาสถาบันจัดอันดับต่างๆที่ปรับลดมุมมองต่อไทยลงหลังเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องทำให้สำเร็จภายใน 3 เดือนนับจากนี้

เชื่อมั่นหุ้นปรับตัวตามภูมิภาค
ด้านนายวศิน ววัฒนวรกิจกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวถึงภาวะตลาดหุ้นไทยว่า ตั้งแต่ก่อนเทศกาลสงกรานต์นั้น มีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนกัน เพราะต้องการหาแหล่งลงทุนที่สามารถทำกำไรได้ ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวบวกขึ้นมา ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองนั้นก็ยังส่งผลต่อภาวะตลาดอยู่เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้สถานการณ์ของตลาดหุ้นหลังจากเทศกาลสงกรานต์คงต้องรอประเมินอีกทีว่าจะเป็นอย่างไร เนื่องจากช่วงเทศกาลนั้นเป็นวันหยุดยาวนักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเข้ามาลงทุนกันได้ ขณะเดียวกันสถานกาณณ์ทางการเมืองยังคงต้องจับตามองเพราะเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งประเมินได้ยากว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนกองทุนรวมของบริษัทนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
นายจุมพล สายมาลาผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจกองทุนรวมและที่ปรึกษาการลงทุน บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นของประเทศไทยหลังจากเทศกาลสงกรานต์นั้น โดยรวมแล้วยังได้รับปัจจัยจากตลาดหุ้นในต่างประเทศที่ปรับตัวบวกขึ้นมาอย่างน่าสนใจ ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวบวกไปด้วยเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันนักลงทุนจากต่างประเทศก็ยังคงเข้าซื้อหุ้นไทยอยู่เช่นเดียวกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยคงมีการปรับตัวบวกในช่วงระยะสั้นๆ เนื่องจากยังมีปัจจัยเรื่องของการเมืองภายในประเทศเข้ามากดดันอยู่

ให้เป้าหมายหุ้นQ2ที่500จุด
รายงานข่าวจากยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยถึงรายงานมุมมองตลาดหลักทรัพย์ประจำไตรมาส 2 ปี 2552 ว่า ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ตลาดหลักทรัพย์จะเคลื่อนไหวไปตามกระแสข่าวทั้งบวกและลบ แต่สิ่งที่เป็นข้อดีก็คือตลาดหลักทรัพย์ไทยยังคงสามารถให้ผลประกอบการโดดเด่นกว่า (outperform) ตลาดหุ้นของอเมริกาได้ โดยปรับตัวลดลงจากสิ้นปี 2551 ประมาณ 4.10% ในขณะที่ดัชนี Dow Jones ปรับลดลงกว่า 14% นอกจากนี้เราเห็นว่าตั้งแต่ต้นปีแรงเทขายหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติได้ชะลอตัวลงไปมาก ในขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังรีรอที่จะเข้าซื้อเนื่องจากไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้หรือไม่ ทำให้ในบางครั้งดัชนีตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงเมื่อมีกระแสข่าวลบ แต่จะลงโดยที่มีมูลค่าซื้อขาย (volume) ไม่สูงนัก ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะดีดกลับในทันทีที่มีกระแสข่าวที่เป็นบวกเข้ามา ดัชนีจึงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ระหว่าง 410-440 จุด

สำหรับไตรมาสที่ 2 นี้ ถึงแม้ว่า เราจะยังไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะพลิกฟื้นได้อย่างเร็วที่สุดเมื่อใด แต่เราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป การเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ -3.9% โดย GDP จะติดลบต่อไปในอีก 2-3 ไตรมาส และการเติบโตของ GDP จะกลับขึ้นเป็นบวกในในปี 2553 ที่ 2.7% ซึ่งปัจจัยที่จะฉุด GDP ในปีนี้ยังคงเป็นการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบ 23% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) ในขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐที่คาดว่าจะเติบโต 11% YoY จะเป็นปัจจัยหลักที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยภาพรวม เศรษฐกิจไทยไม่ได้เลวร้ายมากนัก เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในอเมริกาหรือยุโรป เนื่องจาก ปัญหาเศรษฐกิจในรอบนี้ก่อตัวจากต่างประเทศเป็นหลัก ธนาคารไทยและภาคธุรกิจเอกชนหลังจากที่ได้ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งมาแล้ว ได้มีการดำเนินงานที่รอบคอบและรัดกุมมากยิ่งขึ้น ทำให้การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ ภาคการเงิน และภาคธุรกิจไทยได้รับผลกระทบไม่มากนัก นอกจากนี้ ถึงแม้ภาคการส่งออกของไทย จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่แรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มกำลังซื้อหลักที่จะก่อให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นเรามองว่าในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก การอัดฉีดเงินให้กับผู้มีรายได้ต่ำเพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้มากขึ้น จะช่วยให้ Private Consumption จะยังคงเป็นบวกได้ประกอบกับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆจากทางรัฐบาลจะเป็นปัจจัยหลักที่จะเข้ามาช่วยพยุงให้ GDP ไม่ติดลบมากไปกว่าที่คาดไว้

สำหรับทิศทางตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสที่ 2 นี้ เรามองว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะอยู่ในช่วงขาขึ้นจากสัญญาณเชิงบวกที่จะมีต่อตลาดหุ้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งปัจจัยแรกที่เริ่มส่งสัญญาณเชิงบวก คือราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งดัชนีค่าระวางเรือซึ่งเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันได้มีการปรับขึ้นจากระดับต่ำสุดที่ 33.98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับปัจจุบันประมาณ 45-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องมาจากผลของฤดูกาล (seasonal effect) ของน้ำมันที่ราคามีแนวโน้มจะปรับขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่แล้ว (MoM) จากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น จะเอื้อประโยชน์ต่อราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานซึ่งจะสามารถดึงให้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นได้
ปัจจัยที่สองเชื่อว่าสภาพคล่องจะมีมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 และสภาพคล่องบางส่วนน่าจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจากการที่ตลาดหุ้นให้อัตราผลตอบแทนจากการจ่ายปันผล(dividend yield) ในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี สภาพคล่องที่จะมีมากขึ้น เกิดจาก 1) เงินอัดฉีดจากรัฐบาลให้แก่ผู้มีรายได้น้อยจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท ที่จะเข้ามาในช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน 2) เงินลงทุนที่เคยออกไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีเพื่อรับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงในช่วงปีที่แล้วจะครบกำหนดอายุการลงทุน โดยเราคาดว่าในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน จะมีพันธบัตรเกาหลีครบกำหนดและจะมีเงินไหลกลับเข้าประเทศเป็นจำนวน 6 หมื่นล้านบาท เราเชื่อว่าเงินที่ไหลกลับเข้ามานี้ ในบางส่วนจะกลับเข้ามาหาผลตอบแทนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูงๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เงินส่วนนี้น่าจะกลับเข้าไปลงทุน
และปัจจัยสุดท้าย เราเชื่อว่าข่าวร้ายเกี่ยวกับเศรษฐกิจจะเริ่มส่งผลกระทบน้อยลง โดยที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยเริ่มที่จะรับได้กับข่าวร้ายที่เกิดขึ้น ด้วย valuation ที่ถูกกว่าตลาดอื่นๆ และ dividend yield ที่สูง ทำให้ตลาดสามารถทนต่อแรงเสียดทานต่างๆได้ เราเชื่อว่าจุดต่ำสุดของตลาดหุ้นได้ผ่านไปแล้ว เมื่อใดที่มีปัจจัยบวกเข้ามา ตลาดหุ้นน่าจะดีดตัวกลับไปขึ้นไปได้
จากปัจจัยเชิงบวกดังที่กล่าวมา เราเชื่อว่า ดัชนีในไตรมาสที่ 2 น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยเราให้ ดัชนีเป้าหมายสำหรับไตรมาสที่ 2 นี้ไว้ที่ 500 จุด หรือบวกประมาณ 15% จากระดับดัชนีปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะทำให้เราไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายได้ ยังคงมีอยู่อีก 2-3 ปัจจัยเช่นกัน คือ เศรษฐกิจโลกตกต่ำมากกว่าที่คาด จึงทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและประเทศในกลุ่มยุโรปใช้ไม่ได้ผล รวมถึงการส่งออกของไทยปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จะฉุดให้ GDP ลดลงมากกว่าที่คาด และการเมืองหากเกิดความวุ่นวายขึ้นมา จะทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำลงไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น