xs
xsm
sm
md
lg

17 ปี กับการรอคอยโครงการถมทะเลชายหาดพัทยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อิทธิพล คุณปลื้ม  นายกเมืองพัทยา
ศูนย์ข่าวศรีราชา-เมืองพัทยาเตรียมปัดฝุ่นโครงการถมทะเล และปรับสภาพภูมิทัศน์ชายหาดพัทยา 1 ใน 9 โครงการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูบูรณะและพัฒนาเมืองพัทยา หลังจากรัฐบาลกำหนดให้พัทยาเป็นศูนย์กลางการค้า และบริการศูนย์กลางการท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวหลักของชายฝั่งทะเลตะวันออก ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล ตะวันออก ของรัฐบาล ล่าสุด เมืองพัทยาแต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะชายหาด เพื่อเก็บข้อมูลและรายละเอียดมาเสนอให้ สผ.พิจารณาทบทวนโครงการดังกล่าวอีกครั้ง

พัทยาเมืองหลวงของแหล่งท่องเที่ยวที่หลายคนได้ขนานนามให้ในอดีต แต่ปัจจุบันนี้พัทยาเกิดปัญหาขึ้นมากมาย ทั้งปัญหาใหม่ และปัญหาเก่า ที่สะสมกลายเป็นปัญหาที่ เรื้อรังของพัทยาไปแล้ว ทั้งเรื่องของปัญหาการจราจร การรุกล้ำชายหาด ปัญหาขยะ ที่ผ่านทางภาคเอกชน และเมืองพัทยาพยายามที่จะร่วมมือกันช่วยผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหา

ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อปี 2535 ให้มีการดำเนินการโครงการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูบูรณะและพัฒนาเมืองพัทยาขึ้น โดยคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกได้เสนอ 9 โครงการ คือ 1.โครงการถมทะเลบริเวณพัทยาใต้ 2.โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยา 3.โครงการฟื้นฟูบูรณะหาดพัทยา 4.โครงการ ก่อสร้างท่าเทียบเรือ เกาะล้าน 5.โครงการก่อสร้างถนนพัทยาสาย 3 6.โครงการ ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย 7. โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ 8.โครงการก่อสร้างและขยาย ระบบประปาและปรับปรุงถนน 9. โครงการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล โดยให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า )เป็นผู้ศึกษา หลังจากนั้นเมืองพัทยาได้มีการดำเนินการแก้ไขในบางโครงการไปบ้างแล้ว และยังมีบางโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งไม่ตรงกับที่ไจก้า ได้ศึกษาไว้ว่าโครงการเหล่านั้นคือโครงการเร่งด่วน ที่ควรจะต้องเร่ง ดำเนินการ ให้ที่ผ่านมาผลของการดำเนินงานไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

ส่วนโครงการที่ดำเนินการแล้ว เช่น โครงการ ระบบบำบัดน้ำเสีย ก็สามารถช่วยให้พัทยาดีขึ้นบ้าง ซึ่งที่เห็นผลชัดเจนคือมีนัก ท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติก็กระแสตอบกลับมาว่า น้ำทะเลพัทยาใสและสะอาด ขึ้นกว่าเดิม ทำให้นักท่องเที่ยวกล้าที่จะลงเล่นน้ำทะเลมากกว่าสมัยก่อนที่ยังไม่มีระบบดังกล่าวเนื่องจากผู้ประกอบการมีการปล่อยน้ำเสียลงทะเลโดยตรงโดยไม่ผ่านการบำบัด
นอกจากนี้ การก่อสร้างถนนสาย 3 ก็สามารถระบายการจราจรในเมืองพัทยาไปพอสมควร แต่ปัจจุบันการจราจร พัทยาก็ยังมีปัญหาอยู่เช่นเดิม เนื่องจากเมืองมีการเติบโต รวดเร็ว พร้อมทั้งยังมีการก่อสร้างซ่อมแซมถนนอย่างต่อเนื่องทำให้การจราจรติดขัดเช่นเดิม

โครงการฟื้นฟูบูรณะและพัฒนาเมืองพัทยา ซึ่งถือว่าเป็นโครงการเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาล เป็นผู้ออกนโยบายมาเอง แต่พอจะทำขึ้นจริงๆ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง อ้างว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการถมทะเลพัทยาใต้ เพื่อที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้เมืองพัทยา เป็นจุดขายแห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นจุดศูนย์รวมของนักท่องเที่ยว ก็เป็นเพียงความฝันของคนพัทยา เป็นความฝันของนักท่องเที่ยวที่จะสามารถมาเห็นอะไรที่แปลกไปจากเดิมบ้าง

นางโสภิณ เทพจักร นักธุรกิจเมืองพัทยา เผยว่า หลังทราบว่า เมืองพัทยาจะมีการรื้อฟื้นโครงการถมทะเลขึ้นมาใหม่อีกครั้ง พวกเราผู้ประกอบการในเมืองพัทยา รู้สึกดีใจมาก เพราะที่ผ่านมาพวกเราได้ต่อสู้อย่างมาก เพื่อต้องการให้โครงการถมทะเลเกิดขึ้น ซึ่งหากโครงการนี้เกิดได้จริง จะทำให้หาดพัทยากว้างขึ้นและสวยงามขึ้นอีกมาก
การปรับปรุงภูมิทัศน์ ชายหาดพัทยา หลังชายหาดหดหายลงทุกวัน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเมืองพัทยาได้พยายามดิ้นรน ที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย ตลอดทั้งปี เพื่อเป็นการสร้างสีสันให้แก่เมืองท่องเที่ยว และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวพัทยาได้ตลอดทั้งปี แต่ในทางกลับกันปัญหาต่างๆ ของเมืองพัทยา เช่น การจราจร ปัญหาสังคม ที่หมักหมมมานานก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งจริงๆแล้วควรที่จะมีการแก้ไขไปพร้อมกัน ซึ่งในเรื่องนี้จึงอยากให้ภาครัฐลงมาช่วยเหลือ หันมาสนใจปัญหาด้านการท่องเที่ยวบ้าง ไม่ใช่หวังแต่จะกอบโกยผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวโดยไม่มีการบูรณะขึ้นมาใหม่

ผู้บริหารของเมืองพัทยาจะต้องนำเสนอปัญหา และทำเรื่องเสนอเพื่อขอความสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งจะให้รัฐบาลสั่งการมาเองคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ทราบปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นต้องร่วมมือไม่ใช่มีแต่แผนแต่ไม่มีการ ปฏิบัติ แผนนั้นก็ใช้ไม่ได้ หรือมีแต่คนปฏิบัติแต่ รัฐไม่สนับสนุนก็ไปไม่รอด เช่นกัน ซึ่งก็เหมือนกับโครงฟื้นฟูบูรณะและพัฒนาเมืองพัทยา ที่ผ่านไม่มีความร่วมมือกันของหลายฝ่าย จึงทำให้โครงการไม่บรรลุเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ งบประมาณที่ลงทุนไปก็เท่ากับสูญเปล่า ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า เมืองพัทยาต้อง มีการถมทะเลบริเวณพัทยาใต้ เนื่องจากปัญหาและสภาพปัจจุบันของพื้นที่ ดังกล่าวไม่สามารถ ที่จะฟื้นฟูให้กลับมาเป็นสภาพเดิมได้อีกแล้ว
รวมทั้งปัญหาผู้บุกรุก 101 ราย ก็ไม่มีวิธีการใดจะจัดการได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากโครงการถมทะเล และนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เมืองพัทยากำลังประสบอยู่ แล้วยังเป็นการเพิ่มสีสันในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่เมืองพัทยา ให้กลับมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญติดอันอับ 1ใน10 ของโลก

อย่างไรก็ตามการถมทะเล เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ แต่จากที่ผ่านมาได้มีการ ศึกษาการแก้ไขปัญหา สภาพแวดล้อมของเมืองพัทยา ตั้งแต่สมัย นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้มอบหมายให้ไจก้าเป็นผู้ดำเนินการศึกษาโครงการ พร้อมทั้ง กำหนดให้พัทยาต้องถมทะเล เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ด้านนายสินชัย วัฒนศาสตร์สาธร อุปนายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา เผยว่า การที่เมืองพัทยาได้มีความคิดที่จะรื้อฟื้นโครงการถมทะเลพัทยา นั้นเป็นเรื่องที่ดีมาก และเป็นโครงการที่น่าจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่มารถดำเนินการได้ เนื่องจากจะต้องดูเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่เป็นไร หากจะเกิดขึ้นในช่วงนี้จะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจากปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน การท่องเที่ยวเท่านั้นที่จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่า ด้านอื่นๆ หากเรามีการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการสร้างจุดขายใหม่ๆ ซึ่งเมืองพัทยาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลอยู่แล้ว ชายหาดจึงถือเป็นจุดขายที่สำคัญ หากเราสามารถถมทะเลเพื่อขยายชายหาดพัทยาที่ปัจจุบันถูกกัดเซาะไปจำนวนมาก ให้สวยงามขึ้นใหม่อีกครั้ง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมของพัทยามาจากการท่องเที่ยว โดยทางภาคเอกชนและผู้ประกอบการในเมือพัทยา พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมานั้นรัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนและช่วยแก้ไขปัญหาให้เมืองท่องเที่ยวอย่างจริงจัง รวมทั้งที่อื่น ๆ ด้วย ไม่มีอะไรมารองรับในการแก้ปัญหา เมื่อเกิดปัญหาขึ้นรัฐบาลละเลย ไม่มีกฎหมายมารองรับ เช่น ปัญหาสภาพเสื่อมโทรมของพัทยา ที่เกิดขึ้น และมีการศึกษา และแก้ปัญหาโดยการถมทะเลจากความเห็นของหลายฝ่าย แต่กลับถูกละเลยไม่สนใจ แต่หลังจากที่เมืองพัทยาเปลี่ยนรูปแบบการบริหารเมืองใหม่ ซึ่งจริงๆแล้วน่าที่จะดีขึ้น แต่ความจริงอำนาจการทำงานก็ยังจะต้องขึ้นอยู่กับจังหวัด เมืองพัทยาไม่สามารถดำเนินการได้เองแบบเบ็ดเสร็จอยู่ดี
ชายหาดพัทยาที่เคยสวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถพักผ่อนและทำกิจกรรมต่างๆได้ เริ่มเหลือน้อยลงทุกที
ล่าสุดนายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้ตัดสินใจรื้อฟื้นโครงการถมทะเลขึ้นมาใหม่ โดยเผยว่า เมืองพัทยาถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญจึงจำเป็นต้องการมีปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชายหาดเมืองพัทยาซึ่งถือว่าเป็นจุดขายนั้น จากการรับรายงานพบว่าปัจจุบันมีสภาพชายหาดที่คับแคบลง เนื่องจากมีการกัดเซาะอย่างรุนแรงซึ่งหากปล่อยไว้ต่อไปก็อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้ จึงได้มีการนำเสนอแนวคิดในการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น 1 ชุด เพื่อศึกษาแนวทางทั้งการถมทะเล การปรับภูมิทัศน์ชายหาด รวม ทั้งการขยายถนน และโครงการต่างๆเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว

นายพิเชษฐ์ อุทัยวัฒนานนท์ ผอ.สำนักการช่างเมืองพัทยา กล่าวว่าชายหาดเมืองพัทยา มีความยาวกว่า 3 กิโลเมตร(กม.)กว้าง 10-20 เมตร และถือว่ามีการกัดเซาะอย่างรุน แรงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ ซึ่งหากปล่อยไว้ต่อไปก็อาจทำให้ชายหาดแคบลงกว่าเดิมมาก ทั้งนี้สำหรับการถมทะเลนั้นแต่เดิมในปี 2535 รัฐบาล ใช้งบประมาณ 666 ล้านบาทรวมอยู่ด้วย แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.)ไม่เห็นชอบด้วย โดยแย้งว่าชายหาดพัทยาไม่มีปัญหาการกัดเซาะเป็นนัยสำคัญ จึงทำให้โครงการต้องถูกระงับไป แต่ก็ได้มีการสั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเข้ามาทำการศึกษาผลกระทบเรื่องการกัดเซาะในเวลา 3 ปี ซึ่งก็พบว่าไม่มีการกัดเซาะตามที่กล่าวอ้าง

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ทำการศึกษา 3 ปีไปแล้ว พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์มากขึ้น จึงทำให้ชายหาดถูกกัดเซาะไปมากกินพื้นที่หลายไร่ซึ่งถือว่ามีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการทบ ทวนโดยทำการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใหม่เพื่อร้องขอในการถมทะเลใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากมีการลงรายละเอียดในเรื่องภูมิศาสตร์และการกัดเซาะที่เกิดขึ้นจริงก็คงทำให้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดได้ ที่สำคัญเมืองพัทยาได้เคยทำการศึกษาและดูเรื่องของทรายที่จะนำมาถมทะเลแล้ว โดยพบว่าในพื้นที่จังหวัดระยองมีสภาพทรายที่เหมาะกับการดำเนินการ โดยจะมีการขนถ่ายทางทะเลเพื่อนำมาสูบถมซึ่งแบ่งระยะการทำงานออกเป็น 5 ช่วง และจะทำให้ชายหาดพัทยามีพื้นที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50 เมตร

นายพิเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่าขณะที่โครงการพัฒนาอื่นๆนั้นอย่างกรณีของพัทยาใต้ เมืองพัทยาเองก็เคยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในงบประมาณกว่า 10 ล้านบาท เพื่อเข้ามาดำเนินการจัดทำผังแม่บทในการพัฒนา โดยมีการนำเสนอการก่อสร้างทางเดินรถอ้อมด้านหลังโครงการวอล์กกิ้งสตรีท หรืออาคาร 101 รายพัทยาใต้ โดยจะมีการก่อสร้างถนนลอยฟ้าตั้งอยู่บนคานในระยะ 40 เมตร วนอ้อมด้านหลังขนาดความยาวกว่า 2.7 กม.เพื่อไปบรรจบกับท่าเทียบเรือพัทยาใต้ แหลมบาลีฮาย จะทำให้การจราจรคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น ป้องกันการบุกรุกของผู้ประกอบการ จัดระเบียบการท่องเที่ยว และถือเป็นการพัฒนาเสริมสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ แต่ก็พบว่าเมื่อนำโครง การเสนอขอจัดสรรงบประมาณไปยังภาครัฐบาลก็ถูกถอนออกจากการประชุม โดยชี้ว่าติดมติ ครม.เดิมที่มีคำสั่งให้ทำการรื้อถอนอาคารรุกล้ำ 101 ราย ซึ่งเรื่องนี้เห็นควรให้มีการทบทวนว่าเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์และนำเสนอไปใหม่เพื่อขอให้ ครม.ทบทวนมติ จากนั้นจึงดำเนินการเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จะปรับขยายเส้นทางการจราจรบนถนนสายชายหาดพัทยา เนื่องจากปัจจุบันมีสภาพคับแคบไม่เพียงพอต่อจำนวนยานยนต์ที่สัญจรไปมา แต่พบว่าการดำเนินการเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากเนื่องจากสภาพพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวมีการชี้แจงว่าตามการประกาศผังเมืองเดิมของจังหวัดชลบุรี และเมืองพัทยา มีการกันแนวเขตบริเวณริมทางในระยะ 8 เมตร ซึ่งสามารถดำเนินการได้ โดยในอดีตนั้นเคยมีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการและชุมชนแต่ก็ได้รับการคัดค้าน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยรวมจึงทำให้โครงการถูกระงับไป แต่หากจะดำเนินการจริงก็สามารถกระทำได้โดยทำการเสนอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินตลอดแนว ซึ่งจะได้มีการหารืออีกครั้ง

ทั้งนี้จะมีการเชิญหน่วยงานที่สำคัญอย่าง กรมขนส่งทางน้ำ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมหารือ ก่อนทำรายงานผลการศึกษา เพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาเพื่อจัดทำต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น