xs
xsm
sm
md
lg

ฤๅ ประชาธิปัตย์รอวันสูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เพิ่งครบรอบ 63 ปีของการก่อตั้งไปหมาดๆ

ปีนี้บรรยากาศของของพรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างจะชื่นมื่น คนในพรรคหน้าบานเป็นจานเชิง เนื่องจากได้กลับมาเป็นรัฐบาลในรอบ 8 ปี

การได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการเข้ามาบริหารประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าไม่ห่างไกลไปจากฉายาที่สื่อมวลชนและศัตรูทางการเมืองตั้งฉายาว่า “รัฐบาลเทพประทาน” สักเท่าไหร่

คนพรรคประชาธิปัตย์เองก็คงรู้แก่ใจว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาหากไม่มี “ปัจจัยพิเศษ” เอื้ออำนวย ให้ตัวเองมากขนาดนี้ ณ วันนี้ ประชาธิปัตย์ก็คงไม่มีทางเชิดหน้าชูตาได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณอภิสิทธิ์เอง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายกรณ์ จาติกวณิช นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ฯลฯ

ปัจจัยพิเศษที่ว่า นับตั้งแต่ปัจจัยชื่อ ปรากฏการณ์สนธิ เอเอสทีวี พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คำตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย โดยตุลาการรัฐธรรมนูญในปี 2550 ...

คุณอภิสิทธิ์เองก็คงจำได้ว่า หลังการตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย และไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 สื่อมวลชนทุกแขนงต่างยกคุณอภิสิทธิ์เป็น “ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่” ในทันทีทันใด ทั้งๆ ที่ขณะนั้นยังไม่มีใครรู้กำหนดการการเลือกตั้งทั่วไปเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม พอถึงช่วงปลายปี 2550 เหตุการณ์กลับพลิกผัน เพราะ “ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่” กลับต้องเป็นว่าที่นายกฯ ต่อไป เพราะนายสมัคร สุนทรเวช และ พรรคพลังประชาชนสามารถกุมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เนื่องจากปัจจัย 3 ประการ คือ หนึ่ง ความไม่เอาถ่านของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) สอง เกียร์ว่างของรัฐบาลสุรยุทธ์ และ สาม ที่สำคัญที่สุดคือ ความโหลยโท่ยของพรรคประชาธิปัตย์เอง

ทั้งๆ ที่มีปัจจัยเกื้อหนุนรอบด้าน แต่ในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ประชาธิปัตย์กลับคว้าเสียงมาได้เพียง 165 เสียงจาก 480 เสียง หรือเพียงหนึ่งในสามของเก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ตรงกันข้ามพรรคพลังประชาชน พรรคเกิดใหม่ซึ่งเป็นทายาทของพรรคไทยรักไทยและประสบกับอุปสรรครอบด้าน กลับได้เสียงมากถึง 233 เสียง หรือเกือบครึ่งหนึ่งของเสียงในสภา

ความพ่ายแพ้ ณ วันนั้น “ประชาธิปัตย์” มิอาจโทษใครได้ นอกจากโทษตัวเองที่อ่อนด้อยกว่าพรรคจากระบอบทักษิณในทุกด้าน ทั้งในแง่การหาเสียง คะแนนนิยม บุคลากร นโยบาย วิสัยทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล้มเหลวจากการรุกคืบเข้าไปในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน

มากกว่านั้น ใน 165 เสียงที่พรรคประชาธิปัตย์ได้หลายสิบเสียง ยังเป็นเสียงที่ได้อานิสงส์มาจากกระแสสูงของการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาคตะวันออก หรือเขต 1 ในหลายๆ จังหวัด รวมไปถึง ส.ส.ระบบสัดส่วนในหลายเขตเลือกตั้ง

เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คาด พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องจำใจเป็นฝ่ายค้าน และประพฤติตัวเป็น “สุภาพบุรุษในสูทขาด” ที่นั่งรอให้คนอุปถัมภ์มาช่วยตัดชุดสูทให้ใหม่ต่อไป

ปี 2551 หลังการเลือกตั้งที่ นายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สถานการณ์การเมืองในประเทศพัฒนามาถึงขั้นแตกหัก เพราะฝ่ายระบอบทักษิณบีบให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ อีกทั้งยังมีความพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้อดีตนักการเมืองพรรคไทยรักไทยอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การเคลื่อนไหว 193 วันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

จนในที่สุดในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2552 ตุลาการภิวัฒน์ ภายใต้กำลังสนับสนุนจากกองทัพและเสียงจากกลุ่มเนวินและพรรคร่วมก็ผลักให้ “ประชาธิปัตย์” ก้าวถึงฝั่งฝันที่เฝ้ารอมายาวนานกว่า 8 ปี

วันที่นายอภิสิทธิ์ได้รับการเลือกเป็นนายกฯ ไม่เพียงคนประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ดีใจ เหล่าพันธมิตรฯ เองก็แอบชื่นชมอยู่เงียบๆ และนึกเอาเองว่าต่อไปนี้การควบคุมกลไกบริหารประเทศไทย คงได้กลับสู่มือของ “ผู้ที่คู่ควร” เสียที

คนประชาธิปัตย์ โปรดอย่าถามว่าในช่วง 193 วัน ของการเคลื่อนไหว พันธมิตรฯ นับล้านคน ได้เสียสละอะไรไปบ้าง ได้สูญเสียอะไรไปบ้าง ... เวลา ... ทรัพย์สิน ... ญาติพี่น้อง ... ความสุขส่วนตัว ... อวัยวะ ... ชีวิต?

ทั้งยังไม่ต้องถามด้วยว่าเมื่อ “ประชาธิปัตย์” ได้เป็นรัฐบาลแล้วจะให้ช่วยอะไรพันธมิตรฯ บ้าง

พันธมิตรฯ ทุกคนไม่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ทำอะไรเกินเลยไปกว่าการปฏิบัติ “ภารกิจและหน้าที่” ที่รัฐบาลที่ดีควรจะทำ เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชน ทางหนึ่งช่วยอภิบาล “คนดี” อีกทางหนึ่ง กำจัดและควบคุม “คนเลว” มิให้มีอำนาจ

ประชาธิปัตย์ต่างหากที่ต้องตอบตัวเองว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาตัวเองได้ทำอะไรลงไปบ้าง? ช่วยแก้ปัญหา “วิกฤตที่สุดในโลก” ของชาติอย่างไรบ้าง? ได้ปฏิบัติภารกิจและหน้าที่อย่างดีที่สุด เต็มความสามารถแล้วหรือยัง?

หรือในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คนประชาธิปัตย์บางคนได้แต่ทำตัวเป็น “สุภาพบุรุษ” ที่มัวชื่นชมสูทชุดใหม่ที่คนอื่นช่วยตัดเย็บและหามาสวมให้ แต่กลับละเลยภารกิจและหน้าที่เร่งด่วนที่ตนเองควรจะทำ เพราะกลัวว่าชุดสูทชุดใหม่ที่เพิ่งใส่นั้นจะเลอะเปรอะเปื้อน?

เท่าที่ผมทราบและประชาชนคนอื่นก็ทราบ ... ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นอกจากท่านนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ แล้ว มีคนประชาธิปัตย์เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ยอมคลุกกับงานให้ “สูทเลอะ” เพราะท่านเหล่านั้นรู้ดีว่า “สูทเลอะ” นั้นเป็นเครื่องหมายของการทำงานจริง ขณะที่คนประชาธิปัตย์อีกกลุ่มหนึ่งกลับมัวแต่กลัว “สูทใหม่” เปรอะ

จนคนเขานินทาว่า “นั่งทำงานมา 3 เดือน กลับหาหอยสังข์ได้แค่ตัวเดียว”!!!

สำหรับสังคมไทย เมื่อมีโอกาสได้ทำงานบริหารได้เป็นรัฐมนตรี การถูกตราหน้าตั้งแต่ครั้งแรกว่า “ทำงานไม่เป็น” จริงๆ แล้วเปรียบได้กับการจบชีวิตการเป็นรัฐมนตรีไปอย่างกลายๆ เพราะข้อหา “ทำงานไม่เป็น” นั้น สังคมไทยถือว่าร้ายแรงกว่าข้อหา “ทุจริต” เสียด้วยซ้ำ ส่วนการทุจริตนั้นหากมีหลักฐานสามารถชี้แจงได้ ก็ถือว่ารอดตัวไป แต่ทำงานไม่เป็นนั้นจะกลายเป็นตราบาปไปชั่วชีวิต ชนิดที่แก้ยังไงก็แก้ไม่ได้ ล้างยังไงก็ล้างไม่ออก

ทั้งนี้ ในพรรคประชาธิปัตย์นอกเหนือจากคน 2 กลุ่มแรกแล้ว ยังมีคนประชาธิปัตย์อีกกลุ่มหนึ่งที่มีพฤติกรรมน่ารังเกียจ คือ นอกจากวันๆ “ทำงานไม่เป็น มัวแต่เล่นการเมือง” แล้ว ยังมีพฤติกรรม “ทำลายมิตร เอื้อเฟื้อศัตรู” อีกต่างหาก

สำหรับบางคน วัย 63 ปี อาจถือเป็นวัยเกษียณอายุที่เหมาะพักผ่อนอยู่กับบ้าน คอยเลี้ยงหลาน ขณะที่คนอีกบางกลุ่ม วัย 63 ปี อาจถือเป็นจุดเริ่มต้นของการได้ทำอะไรใหม่ๆ ได้ก้าวพ้นจากวงจรเก่าๆ ของชีวิตที่ดำเนินมาตลอดหลายสิบปี

คุณอภิสิทธิ์ และคนประชาธิปัตย์ทั้งหลายจงเลือกตัดสินใจเอาเถิดว่าจะเป็นคนวัย 63 ในแบบไหน หรือถ้ายังลังเลไม่เลือกอะไรเลยสักอย่าง ก็คงต้องรอวันแก่ตาย ล่มสลาย สูญพันธุ์ไปตามกาลเวลา

... เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ และคอยพิสูจน์ผลในการเลือกตั้งครั้งหน้าเลยก็แล้วกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น