xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.พับแผนท่อก๊าซ “เมืองคอน-สุราษฎร์ฯ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช –ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการ โรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม เผยโครงการวางท่อก๊าซจากโรงงานริมถนนสาย 401 นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี เป็นอันต้องเก็บเข้ากรุชั่วคราว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจขาลงไม่น่าลงทุน รอดูท่าทีใหม่ในปี 2553 ขณะเดียวกันได้ออกโรงสนับสนุนตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ชี้อนาคตเชื้อเพลิงฟอสซิลหมดโลกแน่นอน

นายอุทัย มหิทธิมหาวงศ์ ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการ โรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม กล่าวถึงการลงทุนวางระบบท่อส่งก๊าซแอลพีจี เพื่อพลังงานรถยนต์ว่า เดิมมีโครงการวางท่อก๊าซจากโรงงานไปยังริมถนนบริเวณแยกคลองเหรง ริมถนนสาย 401 นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี โดยมีข้อเรียกร้องจากชุมชนว่าไม่อยากให้รถขนส่งก๊าซเอ็นจีวีผ่านชุมชน ซึ่งเราเห็นด้วยเพราะระบบท่อนั้นเป็นระบบขนส่งก๊าซที่ปลอดภัยที่สุด และอยู่ระหว่างนี้เป็นการศึกษาดูผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ตอนนี้ต้องชะลอโครงการทั้งหมด เนื่องจากเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีปัญหาโครงการนี้จึงชะลอไปก่อน โครงการนี้เข้าใจว่าคงต้องว่ากันใหม่ในปีหน้า

“เดิมนั้นจะไปหยุดที่คลองเหรงเท่านั้นเป็นการเดินเอ็นจีวีออกไป แต่มีข้อเสนอว่าให้เชื่อมกับก๊าซสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมออกไปด้วยกันเลย แต่เท่าที่พูดคุยไม่ถึงกับศึกษา ถ้าในอนาคตเซาเทิร์นซีบอร์ดขึ้นจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ในการเดินท่อ มันเป็นไปได้แต่ปริมาณส่งก๊าซไม่มาก หากโรงไฟฟ้าขยายกำลังเพิ่มขึ้นเราไม่มีก๊าซส่งที่อื่นแล้ว” นายอุทัยกล่าวต่อและว่า

ส่วนการศึกษาในการจัดสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่นครศรีธรรมราช เท่าที่ติดตามโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้นต้องเกิดเพราะอนาคตพลังงานฟอสซิลกำลังหมดไป และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นถึงจะดำเนินการได้จริงอย่างน้อยต้อง 15 ปี เพราะเราต้องดำเนินการในเรื่องของการจองยูเรเนียม จองสารกัมมันภาพ รังสี ต้องประชาพิจารณ์ ถึงแม้ว่าไม่มีการต่อต้านอย่างน้อยก็ต้องกว่า 10 ปี ในอนาคตถ้าไม่มีฟอสซิลพลังงานด้านอื่นๆทั้งลมแสงอาทิตย์ยากที่จะนำมาใช้รองรับการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าและการขยายตัวเศรษฐกิจ โรงไฟฟ้าชนิดนี้ต้องมีเพราะจำเป็นรัฐบาลต้องตัดสินใจ ในส่วนของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นถือว่าน้อยมาก

ปัจจุบันการป้องกันมีมากขึ้นการสร้างย่อมมีการศึกษาและค่อนข้างปลอดภัยสูง ไม่เช่นนั้นประเทศเช่นญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป ไม่สร้างเยอะ แต่ประเด็นหลักคือการสร้างความเข้าใจ ว่าเขาได้รับผลกระทบอะไร ประเด็นที่ผ่านมาชุมชนไม่เข้าใจจะค้านก็ค้านอย่างเดียวหรือจะรับก็รับท่าเดียว โดยไม่ได้ดูเหตุผลดังนั้นเราต้องมีเหตุผล ซึ่งถ้ามีโรงงานนิวเคลียร์จะมีเงินกองทุนจากเอฟทีจะเข้าสู่ชุมชนอย่างน้อย 300 ล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นนิวเคลียร์จะต้องหักถึง 5 สตางค์ เงิน 300 ล้านถ้านำมาบริหารท้องถิ่นทั้งเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่การคัดค้านอาจลดลงถ้ามีนโยบายและการชี้แจงที่ชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ท้ายที่สุดทางเลือกโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะหลีกเลี่ยงไม่พ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น