xs
xsm
sm
md
lg

หลับไม่พอข้อมูลขยะอัดเต็มหัว นอนนานไปเสี่ยงความจำเสื่อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยเตือนอันตรายของการนอนไม่หลับ หลังค้นพบว่าการนอนหลับเป็นวิธีกำจัดขยะในสมองที่สะสมมาตลอดทั้งวัน อย่างไรก็ตาม ผลศึกษาอีกชิ้นชี้คนที่นอนเกินวันละเก้าชั่วโมงมีความเสี่ยงโรคสมองเสี่ยงเพิ่มสองเท่า
การศึกษาภาวะการเคลิ้มหลับพบว่า การเชื่อมโยงของประสาทในสมองระหว่างวันที่ยุ่งเหยิงถูกตัดขาดในตอนกลางคืน เพื่อป้องกันไม่ให้สมองเก็บสะสมข้อมูลขยะไว้มากเกินไป
การค้นพบนี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่า การนอนหลับสนิทในตอนกลางคืนมีความสำคัญต่อการเก็บรักษาความจำสำคัญของตลอดวันที่ผ่านมา และกำจัดข้อมูลขยะที่อุดตันอยู่ในระบบ
นักวิจัยที่ค้นพบเรื่องนี้กล่าวว่า ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการนอนหลับอย่างเพียงพอในตอนกลางคืนมีนัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในวันรุ่งขึ้น
“ตอนนี้คนมากมายกังวลเรื่องงานและเศรษฐกิจ และไม่ต้องสงสัยเลยว่าบางคนในจำนวนนี้นอนไม่หลับ แต่ข้อมูลที่เราพบบ่งชี้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้เพื่อให้แน่ใจว่าสมองคุณจะยังคงปลอดโปร่งเฉียบคม และเพิ่มโอกาสในการรักษาตำแหน่งหน้าที่ไว้ก็คือการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอในตอนกลางคืน” พอล ชอว์ หนึ่งในผู้จัดทำรายงานจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตันในเซนต์หลุยส์ กล่าว
งานวิจัยนี้อิงกับการวิเคราะห์แมลงวันผลไม้ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่ามีรูปแบบการนอนคล้ายกับมนุษย์ เนื่องจากสัตว์ชนิดนี้ต้องนอนคืนละ 6-8 ชั่วโมง และหากนอนไม่พอจะแสดงอาการทางร่างกายและจิตใจออกมา
เช่นเดียวกับคนเรา แมลงวันผลไม้ที่ถูกขังในกรงที่มีแขนหุ่นยนต์คอยเขย่าแท่นเพื่อไม่ให้แมลงวันหลับ ในตอนกลางวันจะต้องการนอนหลับมากขึ้นตอนกลางคืน
การศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าการนอนส่งเสริมการเรียนรู้และความจำในสัตว์ สำหรับงานวิจัยล่าสุดลงลึกกว่านั้นเพราะแสดงให้เห็นว่าการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทในสมองจะเกิดขึ้นระหว่างกลางวันและหยุดพักหลังจากหลับสนิท
ชอว์อธิบายว่า สามารถตรวจพบการสร้างจุดประสานประสาทใหม่ในแมลงวันผลไม้ระหว่างการเรียนรู้ประสบการณ์ และพบว่าการนอนหลับทำให้กิจกรรมดังกล่าวชะลอลง
นักวิจัยยังพบความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในสมองของแมลงวันที่อดนอน คือการสร้างโปรตีนที่เชื่อมโยงเซลล์ประสาทเข้าด้วยกัน
เมื่อวิเคราะห์สมองของแมลงวันหลังจากหลับ นักวิจัยพบว่าโปรตีนเหล่านี้มีปริมาณลดลง บ่งชี้ว่าการเชื่อมโยงระหว่างประสาทอ่อนลงหรือหยุดนิ่งระหว่างกลางคืน
“หลายสิ่งที่เราเรียนรู้ตอนกลางวัน อาจเป็นสิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องจดจำ ถ้าคุณใช้พื้นที่สมองทั้งหมด คุณจะไม่สามารถเรียนรู้สิ่งอื่นเพิ่มเติมได้อีกก่อนที่คุณจะกำจัดขยะที่อัดอยู่ในสมองของคุณ” เชียรา ซีเรลลี จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ผู้ร่วมจัดทำรายงาน สำทับ
ขณะเดียวกัน ผลศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารยูโรเปียน เจอร์นัล ออฟ นิวโรโลจี้สัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่าคนที่นอนหลับยาวที่สุดมีความเสี่ยงสูญเสียความจำ โรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์มากขึ้นถึงสองเท่า
ผลวิจัยนี้มีการพิจารณาองค์ประกอบอื่น เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า อายุ และระดับการศึกษาร่วมด้วย โดยผู้ที่บอกว่านอนหลับตอนกลางคืนและงีบหลับตอนกลางวันรวมวันละกว่า 9 ชั่วโมงทุกวัน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม 2.18 เท่า
กระนั้น คนที่นอนน้อยที่สุดคือต่ำกว่า 5 ชั่วโมง อาจมีความเสี่ยงนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า การนอนหลับนานๆ อาจเป็นอาการเบื้องต้นของโรคสมองเสื่อม
กำลังโหลดความคิดเห็น