ทีมนักวิจัยอังกฤษ พบไวรัสโรคเริม เป็นตัวการสำคัญก่อโรคอัลไซเมอร์สด้วย แต่ยังเชื่อว่ายังมีปัจจัยอื่นร่วม ศึกษาเบื้องต้นพบยาต้านไวรัสสามารถช่วยได้ เริ่มมีหวังรักษาอาการสมองเสื่อม อนาคตอาจมีวัคซีนป้องกันได้ด้วย พร้อมเดินหน้าวิจัยต่อ
ศาสตราจารย์ รูธ อิตซ์ฮากี (Professor Ruth Itzhaki) และทีมวิจัยของคณะชีววิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) สหราชอาณาจักร ศึกษาพบความสัมพันธ์ระหว่างไวรัสเอชเอสวี 1 (herpes simplex virus type 1: HSV1) ที่ทำให้เกิดโรคเริม เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ส โดยพบดีเอ็นเอของไวรัสดังกล่าวปะปนอยู่กับพังผืดโปรตีนในสมอง ซึ่งไซน์เดลีระบุว่าพวกเขาได้รายงานผลการวิจัยในวารสารเกี่ยวกับพยาธิวิทยา เจอร์นัลพาโธโลจี (Journal of Pathology)
นักวิจัยพบว่า คราบโปรตีนกว่า 90% ที่สะสมอยู่ในสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สมีดีเอ็นเอของไวรัส HSV1 รวมอยู่ด้วย และเกือบทั้งหมดของดีเอ็นเอดังกล่าวอยู่รวมกับคราบของโปรตีนอไมลอยด์ ซึ่งการเกิดการสะสมของโปรตีนอะไมลอยด์ในสมอง เป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ส ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการสมองเสื่อม และผิดปรกติเกี่ยวกับระบบความทรงจำ ทว่านักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้โปรตีนอะไมลอยด์มารวมตัวกันเป็นปมพังผืดจนมีผลต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท
ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยของศาสตราจารย์อิตซ์ฮากีเคยรายงานไว้แล้วว่า การติดเชื้อ HSV1 ที่เซลล์ประสาท สามารถชักนำให้เกิดการสะสมโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์ได้ และการค้นพบครั้งล่าสุดนี้ก็ยืนยันได้หนักแน่นยิ่งขึ้นว่า HSV1 เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการสะสมโปรตีนอะไมลอยด์จนเกิดเป็นคราบพังผืดของโปรตีนดังกล่าว
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่ามักพบไวรัส HSV1 ในสมองของผู้สูงอายุมากกว่าคนหนุ่มสาว และหากยิ่งประชากรกลุ่มนี้มีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์สร่วมด้วย จะยิ่งมีความเสี่ยงให้พัฒนาไปเป็นโรคนี้มากยิ่งขึ้นด้วย
เมื่อยืนยันได้ว่าไวรัส HSV1 มีส่วนทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ส ทีมวิจัยจึงได้ทดลองใช้ยาต้านไวรัสบำบัดโรคดังกล่าว และจากการทดลองเบื้องต้นพบว่ายาอะไซโคลเวียร์ (acyclovir) สามารถช่วยลดการสะสมของโปรตีนอะไมลอยด์ได้ รวมทั้งอาการอื่นๆของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ HSV1
ศาสตราจารย์อิตซ์ฮากีอธิบายว่าที่มักพบไวรัส HSV1 ในสมองของผู้สูงอายุมากกว่า เป็นเพราะเมื่ออายุมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเสื่อมลงตามวัย ทำให้ติดเชื้อดังกล่าวได้ง่ายขึ้น หรือเชื้อที่แฝงตัวอยู่อาจถูกกระตุ้นจากหลายปัจจัย เช่น ความเครียด ระดับภูมิคุ้มกันลดลง หรือการติดเชื้อชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย ผลที่ตามมาคือเซลล์สมองถูกทำลายโดยเชื้อ HSV1 ที่ได้รับการกระตุ้น และเซลล์ที่ถูกทำลายส่วนใหญ่ก็จะตายและเสื่อมสลายไป เป็นเหตุให้เกิดการปลดปล่อยอะไมลอยด์ออกมาสะสมรวมตัวกันจนพัฒนาไปเป็นคราบพังผืดในสมอง
ทั้งนี้ ทีมวิจัยหวังว่าจะได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยต่อจากนี้ เพื่อลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ด้วยยาต้านไวรัส รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้ป่วยติดเชื้อ HSV1 และกระบวนการเกิดโรคตามธรรมชาติกับบทบาทของพันธุกรรมที่เกี่ยวข้อง.