อุบลราชธานี - แฉเล่ห์กลโกงโครงการรับจำนำมันสำปะหลังของพ่อค้าคนกลางเจ้าของลานมันฯที่เข้าร่วมโครงการในอุบลฯ หลักฐานมัดจนต้องสั่งย้าย เจ้าหน้าที่ อคส.อำเภอน้ำขุ่นเข้าสำนักงานใหญ่ เผยมีการออกใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรมาขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส.ทั้งที่เกษตรกรยังส่งหัวมันฯไม่ครบตามน้ำหนักของมันฯที่นำเข้าร่วมโครงการและยังพบว่ามีการเอาเปรียบรัฐ โดยเปิดช่องให้เกษตรกรนำมันเส้น ซึ่งเป็นมันแห้งที่ผ่านการสีและตากแห้งโดยเกษตรกรเข้ามาสวมสิทธิการรับจำนำ
โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ประจำปีการผลิต 51/52 ซึ่งรัฐบาลเริ่มดำเนินการเมื่อต้นปี เพื่อรับจำนำหัวมันสำปะหลังสดช่วยเหลือเกษตรกร หลังราคาหัวมันสดมีราคาตกต่ำ โดยรัฐบาลได้เปิดรับจำนำหัวมันสดกิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งสูงกว่าราคารับซื้อในท้องตลาดเกือบ 1 บาท พร้อมกำหนดให้เกษตรกรผู้ปลูกมันที่เข้าร่วมโครงการนำมันมาจำนำกับรัฐได้ไม่เกินรายละ 350,000 บาท
สำหรับกระบวนการรับจำนำคือเกษตรกรต้องนำใบรับรองพื้นที่การเพาะปลูกมันให้เกษตรอำเภอแต่ละท้องที่ตรวจสอบว่ามีพื้นที่ปลูกรายละกี่ไร่และเจ้าหน้าที่เกษตรจะประเมินน้ำหนักของมันสด 5 ตันต่อไร ก็จะได้จำนวนหัวมันสดที่เข้าร่วมโครงการ
ขั้นตอนลำเลียงหัวมันสดเข้าสู่ลานมันเพื่อทำการสีและตากหัวมันสดให้แห้งสนิท ก่อนส่งมอบให้องค์การคลังสินค้า หรือ อคส. กระทรวงพาณิชย์ จะมีเจ้าหน้าที่ อคส.มาตรวจสอบโครงการรับจำนำมันสำปะหลังให้ดำเนินการไปตามจุดประสงค์ของการรับจำนำ เมื่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังส่งมันเข้าสู่ลานมันจนครบตามจำนวนน้ำหนักที่ถูกกำหนดไว้ อคส. และลานมันจะออกใบประทวนสินค้ารับจำนำให้เกษตรกรนำไปใช้เบิกเงินกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อรับเงินค่าหัวมันที่ได้นำมาจำนำไว้กับโครงการ
ทั้งนี้ หากการจำนำมันสำปะหลังดำเนินการไปตามขั้นตอน ที่ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติ เกษตรกรจะได้รับเงินค่าหัวมันที่โอนเข้าสู่บัญชีของเกษตรกร
ที่อำเภอน้ำขุ่น เจ้าหน้าที่ธ.ก.ส. ได้ตรวจพบความผิดปกติในกระบวนการรับจำนำมันสำปะหลัง จึงทำหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องจากผลิตผลเกษตรระดับจังหวัดว่า “มีการออกใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรมาขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส.ทั้งที่เกษตรกรยังส่งหัวมันไม่ครบตามน้ำหนักของมันที่นำเข้าร่วมโครงการ และยังพบว่ามีการเอาเปรียบรัฐ โดยเปิดช่องให้เกษตรกรนำมันเส้น ซึ่งเป็นมันแห้งที่ผ่านการสีและตากแห้งโดยเกษตรกรเข้ามาสวมสิทธิการรับจำนำ”
กระบวนการทำดังกล่าวผิดวัตถุประสงค์การรับจำนำที่ได้ระบุไว้คือ รับจำนำเฉพาะหัวมัดสด เพื่อเร่งระบายหัวมันช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่มีมันสำปะหลังออกสู่ตลาดจำนวนมาก
เมื่อเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.อำเภอน้ำขุ่น ตรวจพบความผิดปกติ และทำเรื่องแจ้งให้คณะกรรมการระดับจังหวัดทราบ ทำให้ อคส.มีหนังสือลงวันที่ 5 มีนาคม 2552 สั่งการให้ นายธนัฐ ธาราดล เจ้าหน้าที่ อคส.ที่ควบคุมดูแลการรับจำนำกลับไปปฏิบัติหน้าที่ยัง อคส.ส่วนกลาง และส่งเจ้าหน้าที่คนอื่นมาดูแลแทน การค้นพบความผิดปกติดังกล่าว นอกจาก นายธนัฐ เจ้าหน้าที่ อคส.ถูกสั่งย้ายแล้ว ยังส่งผลให้เกษตรกรจำนวน 11 ราย ที่ทำใบประทวนสินค้าไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ไม่ได้รับเงินค่าหัวมันจำนวนกว่า 3.5 ล้านบาท ที่นำมาจำนำไว้กับลานมันนานกว่า 2 เดือนแล้ว
นายเชิด ลือตะมา เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ยังไม่ได้รับเงินจากการขายหัวมันให้โครงการรับจำนำกว่า 280,000 บาท กล่าวว่า ได้นำใบประทวนสินค้าไปขอรับเงินจาก ธ.ก.ส.ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา แต่ถึงวันนี้ยังไม่ได้รับเงิน สำหรับสาเหตุที่ไม่ได้รับเงินนั้น ไม่ทราบเหตุผลที่ ธ.ก.ส.ไม่ยอมจ่ายเงินค่ามันสำปะหลังให้ เฉพาะลานมันชัยเจริญพืชผล มีเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังยังไม่ได้รับเงินทั้งสิ้น 11 ราย คิดเป็นเงินกว่า 3.5 ล้านบาท
ด้านนายวิชัย ศรีอรุณ เจ้าของลานมันชัยเจริญพืชผล ซึ่งเข้าร่วมโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง กล่าวว่า เกษตรกรที่นำมันสำปะหลังมาจำนำกับโรงมันฯของตนแจ้งว่า ยังไม่ได้รับเงินค่ามันสำปะหลัง จึงประสานให้ทางอำเภอสอบถามสาเหตุที่ ธ.ก.ส.ไม่จ่ายเงินให้เกษตรกร ซึ่งอำเภอแจ้งว่ายังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ อีกไม่นานเกษตรกรก็จะได้รับเงินค่ามันสำปะหลังแน่นอน
เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.แจ้งว่าเกษตรกรยังส่งมันให้ไม่ครบ แต่ลานมันฯออกใบประทวนสินค้าให้ไปเบิกเงินก่อน ซึ่งนายวิชัยปฏิเสธว่าไม่มีการออกใบประทวนสินค้าให้ก่อน และกล่าวถึงขั้นตอนการตรวจสอบการส่งมอบมันสำปะหลังของเกษตรกร อคส.จะจ้างคนมาดูแลการส่งมอบมันฯร่วมกับตัวแทนของอำเภอ และตัวแทนเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังแต่งตั้งขึ้นมา พร้อมปฏิเสธไม่รู้ถึงขบวนการโกงที่เกิดขึ้น เพราะทำทุกอย่างตามขั้นตอน แต่ปัญหาไปเกิดกับเกษตรกรที่นำมันฯมาจำนำยังไม่ได้รับเงินค่ามันสำปะหลังเท่านั้น
ขณะที่นายบัวคำ แก้วปัญญา หัวหน้าหน่วย ธ.ก.ส.อำเภอน้ำขุ่น ที่ตรวจพบความผิดปกติเล่าว่า จากการสอบสวนของคณะกรรมการระดับอำเภอตรวจพบความผิดปกติคือ มีการออกใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรก่อนส่งมันฯให้แก่ลานมันฯจนครบตามจำนวน ซึ่งเป็นเรื่องผิดระเบียบ แต่ทั้งนี้หากเกษตรกรต้องการได้เงินในการจำนำมันสำปะหลัง ก็สามารถให้ลานมันออกใบประทวนสินค้าตามจำนวนมันฯ ที่นำส่งจริงแล้วนำมาเบิกเงินจากธนาคารก็ได้
แต่กรณีเกษตรกร 11 รายนี้ ยังส่งมันสำปะหลังไม่ครบ แต่มีการออกใบประทวนสินค้าเกินปริมาณมันสำปะหลังให้ล่วงหน้ามาก่อน
ดังนั้น จึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนเกษตรกรทั้ง 11 ราย ให้คณะกรรมการระดับจังหวัดสั่งการ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการระดับจังหวัดได้สอบสวนเพิ่มเติม เมื่อคณะกรรมการสอบสวนเสร็จและมีมติให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรกรทั้ง 11 ราย ธนาคารจะดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรทันที เพราะหลังจากมีการสอบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น เกษตรกรทั้ง 11 ราย ได้นำมันสำปะหลังส่งมอบให้แก่ลานมันจนครบตามจำนวนแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวนำข้อมูลที่ได้รับจากเกษตรกรมาผนวกรวมกับความเห็นของเจ้าหน้าที่ ธกส.ก็พบว่า “กระบวนการออกใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรมาขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส.ก่อนส่งมอบมันฯจนครบนั้น สรุปได้ว่า กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นข้อตกลงระหว่างเกษตรกรกับลานฯมันว่า เมื่อออกใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรไปขึ้นเงิน เกษตรกรต้องนำบัญชีเงินฝากมาเก็บไว้กับลานมันที่รับจำนำ และเมื่อเงินถูกโอนเข้าบัญชีผู้รับจำนำคือลานมันฯและเกษตรกรจะไปเบิกเงินสดออกจากบัญชีมาทั้งหมด แล้วผู้รับจำนำมันจะจ่ายเงินให้เกษตรกรตามจำนวนมันฯที่นำมาส่งให้ตามความเป็นจริงในแต่ละเที่ยว”
ทำให้ระหว่างดำเนินโครงการนั้น ลานมันฯจะมีเงินสดมาใช้หมุนเวียนซื้อมันฯจากเกษตรกรที่อยู่นอกโครงการในราคาถูกกว่าการรับจำนำกิโลกรัมละ 40-50 สตางค์ แล้วนำมันนอกโครงการเข้ามาสวมสิทธิเป็นช่วงๆ โดยเงินที่ลานมันฯใช้ซื้อมันฯจากเกษตรกรนอกโครงการ “ไม่ต้องไปกู้เงินจากธนาคารให้เสียดอกเบี้ย และยังไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ใดๆค้ำประกันเงินกู้ตามระเบียบของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปด้วย”
ตัวอย่างเช่นเกษตรกรไปเบิกเงินจากธนาคารตามใบประทวนสินค้าที่ทำเท็จขึ้นมาเป็นเงิน 3 ล้านบาท แต่ส่งมันฯเข้าสู่ลานมันเพียง 1 ล้านบาท เกษตรกรก็จะได้รับเงินไปเพียง 1 ล้านบาท ส่วนเงินอีก 2 ล้านบาทยังอยู่ในมือของลานมันฯนำไปใช้หมุนเวียน
นอกจากการเล่นแร่แปรธาตุโยกเงินมาใช้โดยไม่เสียดอกเบี้ยแล้ว ลานมันฯบางแห่งยังร่วมกับเกษตรกรรับซื้อมันเส้นนอกโครงการเข้ามาสวมสิทธิด้วย เพราะการรับจำนำหัวมันฯสดรัฐบาลได้ให้ค่าดำเนินการสีและตากมันแก่ลานมันฯกิโลกรัมละ 30 สตางค์ แต่เมื่อรับซื้อมันเส้นจากเกษตรกรที่มีอยู่ในมือมาโดยตรง ลานมันฯก็ไม่ต้องรับภาระสีและตากมัน แต่ได้ค่าดำเนินการจากรัฐบาลไปฟรีๆกิโลกรัมละ 30 สตางค์ นั่นเท่ากับว่า มันฯ 1 ตันคิดเป็นเงินได้เปล่า 300 บาท
ส่วนกระบวนการนำมันเส้นเข้ามาสวมสิทธิมันสด ซึ่งมันเส้นกับหัวมันสดมีราคาแตกต่างกันเฉลี่ยกิโลกรัมละกว่า 1 บาท วิธีการคือ “เอาน้ำหนักหัวมันสด 2.8 กิโลกรัม มาคิดคำนวณหักลบกับน้ำหนักมันเส้น เพราะหัวมันสด 2.8 กิโลกรัม เมื่อผ่านกระบวนการสีและตากแห้งแล้ว จะได้มันเส้นน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ลานมันฯก็ใช้วิธีนำจำนวนตัวเลขน้ำหนักหัวมันสดคำนวณหักลบกับน้ำหนักมันเส้น ก็จะได้ตัวเลขใช้รับซื้อมันเส้นจากเกษตรกรเข้าโครงการ โดยไม่ต้องทำการสีและตากแห้งเอง”
ทั้งหมดเป็นกระบวนตบตาตบทรัพย์จากเงินงบประมาณแผ่นดินจากโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาล ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกมัน ลานมัน อคส. และ ธ.ก.ส. ก็สามารถสร้างกำไรให้พ่อค้าคนกลางได้อย่างงามตามโครงการรับจำนำสินค้าการเกษตรต่างๆ
ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกันฉ้อฉล ก็ได้ส่วนแบ่งจากการเบียดบังเงินหลวงไปใช้ แต่ครั้งนี้ ธ.ก.ส.ไม่เล่นด้วย ผลกรรมก็มาตกกับเกษตรกรที่ถูกชักจูงเข้าร่วมในขบวนการ และต้องรับผลนั้นไปจนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น
แต่ที่น่าเจ็บใจที่สุดในขบวนการใช้เล่ห์กลโกงสารพัดชนิดล้วนเกิดจากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐที่รู้ช่องทาง รู้วิธีหลีกเลี่ยงกฎระเบียบ ทั้งที่รัฐนำภาษีของประชาชนมาจ่ายให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ ตรวจจับการทุจริต แต่กลับมาชี้ช่องร่วมมือกับพ่อค้าโกงเงินหลวงเสียเอง