xs
xsm
sm
md
lg

ใครได้ใครเสียจากการประชุมซัมมิตจี20

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - บรรดาผู้นำกลุ่มจี20 ที่เข้าร่วมการประชุมในกรุงลอนดอน ไม่ได้มีความคิดเห็นและผลประโยชน์ที่สอดคล้องกันไปเสียหมด ในด้านหนึ่งก็เหมือนกับว่าพวกเขามีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของบรรดาวิธีแก้ไขวิกฤตระหว่างประเทศครั้งนี้ และต่างก็พยายามผลักดันให้วิธีของตนได้รับการยอมรับ เราจะไปดูว่า มีใครเสนอเรื่องอะไรและได้อะไรไปบ้าง

**การตั้งงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ**
ท่าทีของประเทศต่าง ๆ: สหรัฐฯ, ญี่ปุ่นและอังกฤษเป็นผู้นำเสนอเรื่องนี้แข็งขันที่สุด โดยหวังจะให้ประเทศต่าง ๆทั่วโลกอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นผู้นำกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเพราะต้องการจะรอผลของมาตรการที่ใช้ไปก่อนหน้านี้เสียก่อน
ผล:ที่ประชุมไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องมาตรการอัดฉีดเม็ดเงิน ซึ่งเยอรมนีแสดงความพอใจต่อเรื่องนี้ออกมาชัดเจน

**การกำกับดูแลตลาดการเงิน**
ท่าทีของประเทศต่าง ๆ: ฝรั่งเศสและเยอรมนีร่วมกันประสานเสียงกดดันให้มีการควบคุมความประพฤติของพวกเฮดจ์ฟันด์อย่างหนักหน่วง ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนีได้พยายามผลักดันมาตั้งแต่ก่อนวิกฤตการเงินแล้ว และประเทศในเอเชียที่เคยเป็นเหยื่อวิกฤตการเงินก็เรียกร้องก่อนหน้านี้นานมากแล้ว ในขณะที่ญี่ปุ่นบอกว่าการกำกับดูแลน่าจะสำคัญน้อยกว่าการเยียวยาเศรษฐกิจโลก

ผล: ที่ประชุมจี 20 ให้คำมั่นชัดเจนว่าจะขยายขอบเขตการกำกับดูแลและควบคุมให้ครอบคลุมถึงสถาบันการเงินที่สำคัญทุกชนิด รวมทั้งผลิตภัณฑ์การเงินและตลาดการเงินและตลาดทุนทั้งมวลด้วย บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อก็ยังถูกรวมเข้าไปในระบบกำกับดูแลใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

**เสริมความแข็งแกร่งให้ไอเอ็มเอฟ**
ท่าทีของประเทศต่าง ๆ: ออสเตรเลีย, แคนาดา, และแอฟริกาใต้ต่างเรียกร้องให้เพิ่มทรัพยากรเพื่อให้ไอเอ็มเอฟสามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้น ในขณะที่รัสเซีย, อาร์เจนตินา, จีน, อินเดีย, และซาอุดีอาระเบียและอื่น ๆพยายามนำเสนอเรื่องการเพิ่มสิทธิการออกเสียงให้แก่ประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่
ผล: ไอเอ็มเอฟได้เม็ดเงินสำหรับให้กู้ยืมมากกว่าที่คาดไว้มหาศาล แต่เรื่องการทำให้เกิดความสมดุลในการออกเสียงกลับมีผลออกมาน้อยกว่าที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการ

**การค้า**
ท่าทีของประเทศต่าง ๆ: บราซิล และอังกฤษออกมากล่าวถึงตัวเลข 100,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้เป็นวงเงินเงินสินเชื่อก้อนใหม่สำหรับกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ
ผล: ได้เม็ดเงินสินเชื่อมา 250,000 ล้านดอลลาร์

**การกีดกันทางการค้า**
ท่าทีของประเทศต่าง ๆ: อังกฤษ, สหรัฐฯ, เกาหลีใต้, แคนาดาและอินเดียต่างเรียกร้องกลุ่มจี 20 ให้คำมั่นว่าจะไม่ใช้วิธีการปกป้องทางการค้า
ผล: ที่ประชุมยืนยันท่าทีที่สรุปกันไปในการประชุมครั้งที่แล้ว ที่จะไม่เพิ่มกำแพงกีดกันทางการค้าและการลงทุน อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง ประเทศในกลุ่มนี้ได้ออกมาตรการปกป้องธุรกิจในประเทศจากการแข่งขันภายนอกกันเพิ่มมากขึ้น ภายหลังการประชุมซัมมิตจี20กรุงวอชิงตันในเดือนพฤศจิกายนนปี 2008

**ดินแดนที่ถูกใช้เพื่อหนีภาษี**
ท่าทีของประเทศต่าง ๆ: ฝรั่งเศสและเยอรมนีจับมือกันเรียกร้องให้จัดการกับดินแดนเหล่านี้
ผล: ที่ประชุมตกลงขึ้นบัญชีดำกลุ่มประเทศที่เปิดให้มีเขตปลอดภาษีเหล่านี้ รวมทั้งพิจารณาคว่ำบาตรกันต่อไป

**สกุลเงินสำหรับทุนสำรองฯ**
ท่าทีของประเทศต่างๆ: จีนและรัสเซียต้องการให้หารือกันเรื่องเงินตราระดับโลกสกุลใหม่ สำหรับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของชาติต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้เงินตราสกุลใหม่ดังกล่าวน่าจะอิงกับ Special Drawing Rights ของไอเอ็มเอฟ
ผล: ไม่มีการหารือในหัวข้อนี้ แต่รัสเซียก็ใช้วิธีออกคำแถลงของตนเองในเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น