ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือจี้แบงก์เร่งปล่อยสินเชื่อ SMEs ก่อนตายทั้งระบบ หลังเศรษฐกิจรายจังหวัดตกต่ำถ้วนหน้า – คนตกงานเพิ่มขึ้นไม่หยุด เผยเชียงใหม่ – นักท่องเที่ยวหาย 70% กำลังซื้อหด 30-50% , ลำปาง ยอดขายสินค้าทุกประเภทตก 60-70% ,ลำพูน คาดสิ้นไตรมาสแรกคนตกงานทะลุ 2 หมื่นแน่ แถมลำไยส่อเค้าล้นตลาด ยกเว้นกลุ่มจังหวัดชายแดน ที่ยอดการค้ายังเติบโตต่อเนื่อง
ในการประชุมคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2552 ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตัวแทนหอการค้าจังหวัดต่าง ๆ ที่เข้าร่วม ได้รายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่อที่ประชุม เพื่อร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไข
ในพื้นที่เชียงใหม่ นายเฉลิมชาติ นครังกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซา ส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของจังหวัด จำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยมาเที่ยวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันลดลงถึง 70% ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งในส่วนบริษัททัวร์ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และพนักงานซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2551 จนถึงขณะนี้ กำลังซื้อของประชาชนลดลง 30-50% ทำให้ยอดขายโดยรวมของผู้ประกอบในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ลดลง 50% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จนประสบภาวะขาดสภาพคล่องในการบริหารงาน
ในส่วนของสถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ ได้เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ผู้ประกอบการขาดแหล่งเงิน เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในกิจการ ไม่สามารถจ่ายค่าแรง หรือเพิ่มกำลังการผลิตได้ ซึ่งรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้อย่างเร่งด่วนเพราะหากธุรกิจขาดสภาพคล่องในที่สุดก็จะถึงขั้นปิดกิจการ
“รัฐ ต้องเร่งอัดฉีดเงินเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายและหมุนเวียน ขณะเดียวกันสถาบันการเงินต้องปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการSME ที่มีประวัติดีเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ไม่ใช่เข้มงวดเกินไป หากไม่สามารถแก้ไขหรือเพิ่มสภาพคล่องได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี เชื่อว่ามีหลายแห่งที่ปิดกิจการอย่างแน่นอน” นายเฉลิมชาติ กล่าว
เช่นเดียวกับลำปาง นายประสิทธิ์ สิริศรีสกุลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดลำปางเปิดเผยว่า จากการสำรวจและสอบถามผู้ประกอบการในจังหวัดลำปางพบว่ายอดขายสินค้าทุกประเภทลดลง 60-70% เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการต้องพยายามประคองตัวลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และยอมขาดทุนดีกว่าต้องปิดกิจการ
นอกจากนี้ภาคธนาคาร สถาบันการเงิน ไม่ให้ความช่วยเหลือ SME เท่าที่ควร ดูได้จากมาตรการด้านดอกเบี้ยที่ประกาศออกมา รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากกว่าเดิมอีก 2 เท่า ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเป็นไปได้ยาก หากไม่มีการแก้ไขมาตรการดังกล่าว หรือร่วมมือกับ SME เชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้าอย่างแน่นอน
“สถาบันการเงินเอาตัวรอดคนเดียว ดอกเบี้ยเงินฝากก็ต่ำ ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ก็แพง ควรทบทวนการปล่อยสินเชื่อ และควรพิจารณาเป็นรายๆไป ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมด เพราะเมื่อผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร สุดท้ายการเข้มงวดเกินไปผลที่ตามก็คือเศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้”นายประสิทธิ์ กล่าว
ส่วนที่ลำพูน นายสันติสุข วีระพันธุ์ รองประธานหอการค้าจังหวัด ลำพูน เปิดเผยว่า จากการสำรวจของหอการค้าจังหวัดลำพูนพบว่ามีผู้ขึ้นทะเบียนประกันตนเองประมาณ 84,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนั้น ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีผู้ตกงาน เนื่องจากบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมปิดกิจการแล้วประมาณ 10,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเนื่องจากมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าสิ้นไตรมาสที่ 1 จะมีผู้ตกงานไม่น้อยกว่า 20,000 คน
ส่วนแรงงานที่ยังทำงานอยู่ส่วนใหญ่จะถูกลดการทำงานล่วงเวลา รวมทั้งลดเวลาทำงานจากเดิม 6-8 ชั่วโมง อาจจะเหลือเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากออเดอร์ลดลง ซึ่งมีแนวโน้มว่าตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไปบริษัทหลายแห่งจะยกเลิกการทำงานล่วงเวลาหรือโอทีอีกด้วย วันนี้แรงงานในลำพูนต้องได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าตั้งแต่ระดับแรงงานฝีมือ ยันวิศวกร
“นอกจากจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยอดการเช่าหอพักก็ลดลงตามไปด้วย จากเดิมที่มีคนพักเต็ม จะเหลือคนพักประมาณ 60% เท่านั้น เพราะผู้พักส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งสิ้น เมื่อถูกเลิกจ้างก็ต้องหาทำงานที่อื่น หรือกลับภูมิลำเนาตนเอง” นายสันติสุข กล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อประคองสถานการณ์ตกต่ำทางเศรษฐกิจ ในช่วงระหว่างวันที่ 1-8 เมษายน หอการค้าจังหวัดลำพูนและผู้ประกอบการ กำหนดจัดงาน “ลำพูนแกรนด์เซลส์” โดยนำสินค้าค้างสต็อก มาจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาถูก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและระบายสินค้าของผู้ประกอบการ
ขณะที่ผลผลิตลำไย ในฐานะที่ลำพูนเป็นแหล่งผลิตลำไยมากที่สุด นายสันติสุข กล่าวว่า เท่าที่ได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตลำไย คาดว่าปีนี้จะมีผลผลิตออกมาทั้งหมดมากกว่า 6 แสนตัน แต่จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนจากรัฐ ดังนั้นเชื่อว่า ในเดือนสิงหาคม 52 ที่จะถึงนี้ มีม็อบลำไยปิดถนนแน่นอน
กรณีดังกล่าวนายราชันย์ วีระพันธุ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ กล่าวว่า เท่าที่ทราบรัฐบาลมีนโยบายที่จะประกันราคาลำไยที่ 60-65 บาท/กก. แต่จะไม่ถึง 72 บาท/กก.เหมือนก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเชื่อว่าทางรัฐบาลจะเร่งประกาศออกมาอย่างเป็นทางการก่อนที่เจ้าของสวนจะขายเขียวก่อน เพื่อให้เม็ดเงินถึงมือชาวสวนลำไยอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังจะต้องเร่งแก้ลำไยเก่าในสต๊อก ซึ่งระยะที่ผ่านมา เกิดกรณีการขโมยลำไยในสต๊อกหลายครั้ง เพื่อป้องกันการลักลอบนำมาสวมลำไยใหม่ สร้างผลกระทบต่อตลาดลำไยในปีนี้ขึ้นมาอีก
ด้านนายเวธิต สุนทรญาติ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า ภาคการก่อสร้างของจังหวัดแพร่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเลขลดลงประมาณ 61% ขณะที่ภาคแรงงานคาดว่าในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะมีแรงงานจากพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาจังหวัดแพร่ เข้ามาทำงานที่จังหวัดแพร่ประมาณ 10,000 กว่าคน เนื่องจากยังพอมีงานรองรับ อีกทั้งกิจการแปรรูปไม้สักยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่
สำหรับภาคการท่องเที่ยวพบว่ามีอัตราการเติบโต 9% โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวจังหวัดจำนวนมาก ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 22 ล้านบาท ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่ออกไปอย่างต่อเนื่อง
“โดยรวมแล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเพราะมีการท่องเที่ยวเข้ามาเสริม ทำให้ตัวเลขการอุปโภค-บริโภค เพิ่มขึ้นประมาณ 4-5% ยอดขายผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ เพิ่ม 200% นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการกระจายรายได้ รวมทั้งพืชผลทางการเกษตรที่จำหน่ายได้ในช่วงดังกล่าว และการลงทุนของกลุ่มผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่เตรียมสร้างโรงงานใหม่เกือบ 10 ล้านบาท ทำให้มีประชาชนซื้อรถยนต์ใหม่ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ประมาณ 200 คัน ส่วนยอดรถมอเตอร์ไซค์เพิ่ม 14%” นายเวธิต กล่าว
นายพิชิต วงศ์หนองเตย รองประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดพะเยาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะภาคการเกษตรซึ่งส่วนใหญ่ปลูกข้าวเป็นหลักโดยในแต่ละปีสร้างรายได้เข้าจังหวัดกว่า 2,800 ล้านบาท อีกทั้งข้าวมีราคาแพงเกษตรกรจึงได้เงินเพิ่ม ทำให้การจับจ่ายซื้อของยังเป็นไปตามปกติ แต่อาจจะมีบางส่วนที่ออมเงินไว้ลดการใช้จ่ายลงเนื่องจากไม่มั่นใจในเศรษฐกิจโดยรวม
นอกจากนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ หอการค้าจังหวัดพะเยา และจังหวัดพะเยา ได้จัดงานหอการค้าแฟร์ขึ้นเป็นประจำทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เพื่อให้ประชาชนได้เลือกซื้อสินค้าราคาถูก ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบต่อไป
ที่แม่ฮ่องสอน นายสุพจน์ กลิ่นประณีต ประธานหอการค้าจังหวัดฯ เปิดเผยว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเพิ่มขึ้น 300%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้มีเงินสะพัดประมาณ 1,000 ล้านบาทโดยเฉพาะอำเภอปาย ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวห้องพักที่มีอยู่ประมาณ 4,200 กว่าห้องไม่เพียงพอต่อความต้องการ
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานภาครัฐควรเร่งประสานงานประเทศพม่าเพื่อเปิดด่านถาวรบริเวณบ้านน้ำเพียงดิน ซึ่งเชื่อว่าหากทำได้สำเร็จการค้าชายแดนแถบนี้จะคึกคัก และมีรายได้เข้าประเทศอีกมหาศาล
ส่วนที่เชียงราย นายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้าฯคนใหม่ บอกว่า เศรษฐกิจของเชียงรายยังโตได้ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว – การค้าชายแดน ด้วยปัจจัยบวกเรื่องพื้นที่ชายแดนติดกับพม่า ลาว รวมถึงจีน ตลอดจนเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ ก็กำลังจะเกิดเต็มตัว ซึ่งจะทำให้เป็นโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการได้อีกมาก
ประเด็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงก็คือ วิกฤตสิ่งแวดล้อมประจำฤดู คือ ปัญหาหมอกควัน ที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัด ดังนั้นหลังจากนี้ทางหอการค้าฯจะพยายามใช้ความสัมพันธ์ที่มีต่อภาคเอกชน – รัฐ ของประเทศเพื่อนบ้านบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกันให้ได้
ขณะที่จังหวัดตาก หัวเมืองชายแดนอีกแห่งหนึ่งของภาคเหนือ นายอภิสิทธิ์ ชลสาคร รองประธานหอการค้าตาก กล่าวว่า อยู่ได้เพราะการค้าชายแดน โดยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2552) การค้าชายแดนโดยเฉพาะสินค้าส่งออกจากไทยไปพม่ามีมูลค่ามากกว่าเดือนละ 1,400-1,500 ล้านบาท สูงกว่าช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 และในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณ 20-30% ซึ่งคาดว่าในปี 2552 จะมียอดการค้าส่งออกมากกว่า 20,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
วิกฤตเศรษฐกิจทั้งใน และต่างประเทศ ไม่มีผลกระทบต่อการค้าชายแดนแม่สอด-เมียวดี ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดสินค้าหลายรายการเพิ่มขึ้นทั้งวัสดุก่อสร้าง-น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมียอดสั่งเพิ่มขึ้นกว่าวันละ 2-3 ล้านลิตร รวมถึงสินค้าอุปโภค-บริโภคและอุปกรณ์การเกษตร ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าพม่ากำลังมีการพัฒนาประเทศในทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีการสั่งนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่นทั้งรถยนต์ส่วนตัว ทั้งเก๋ง-ปิกอัพ-โฟร์วีล และรถทัวร์โดยสารจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวและระบบลอจิสติกส์ของพม่า