xs
xsm
sm
md
lg

HANAรับพิษศก ยอดขายทรุด30% ปรับแผนหั่นต้นทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ฮานา ฯ รับวิกฤตเศรษฐกิจกระทบผลงานปีนี้ทรุดเกือบ 30% จากปี 51 ที่ทำไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท ปรับแผนหั่นค่าใช้จ่ายทุกด้านเพื่อประหยัดต้นทุนการบริหารและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปีละ 430 ล้านบาท หวังดันกำไรดี พร้อมเก็บเงินสดในมือ 4,678 ล้านบาท สำรองจ่ายลูกค้าและกันไว้ใช้ซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า หวังรักษาEBITDA ที่ 2.8 พันล้านบาทใกล้เคียงกับปี 51

นายอิศรา ศิวะกุล รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ HANA เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทยอมรับว่าธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่างมาก จึงส่งผลให้บริษัทคาดการณ์ยอดขายลดลง 25-30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 15,105 ล้านบาท เหตุจากคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ IC (ชิฟวงจรรวม) ลดลง 45% และคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์PCBA (แผงวงจรไฟฟ้า) ลดลง 10% แต่บริษัทยังหวังที่จะมีกำไรจากคาดการณ์ EBITDA ที่ 2.8 พันล้านบาท ให้ใกล้เคียงกับปี 51

ทั้งนี้ บริษัทปรับแผนรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ด้วยการปรับลดค่าใช้จ่ายทุกด้านที่ไม่จำเป็น รวมถึงการลดจำนวนพนักงานเหลือ 7,677 คน จาก 9,120 คน และลดเงินเดือนพนักงงานระดับสูงลงประมาณ 20% สำหรับการปรับลดจำนวนพนักงานส่วนต่างๆ ได้แก่โรงงานที่กรุงเทพฯ ลดเหลือ 679 คน จากเดิม 884 คน โรงงานจังหวัดลำพูนลดเหลือ 2,986 คน จากเดิม 3,184 คน โรงงานเจียซิง ประเทศจีน ที่ผลิตPCDA ลดเหลือ 1,168 คน จากเดิม 1,339 คน โรงงานเจียซิง ผลิต IC ลดเหลือ 433 คน จากเดิม 686 คน โรงงานจังหวัดอยุธยา ลดเหลือ 2,387 คน จากเดิม 2,985 คน
สำหรับ การปรับกลยุทธ์ลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวนั้น จะช่วยให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนได้ประมาณ 36-38 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละ 430 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าเป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการบริหารงานในปี 52 และมีส่วนช่วยผลักดันให้กำไรของบริษัทในปีนี้ปรับตัวดีขึ้นได้

" เราประมาณการณ์รายได้แค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ 1-2 เดือน เนื่องจากตอนนี้เรายังประเมินและมองอะไรไม่ออก เพราะทุกอย่างยังผันผวนตลอดเวลา แต่ยอมรับว่าธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบรองจากธุรกิจยานยนต์ ทว่าเชื่อว่าธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะดีขึ้นช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ แต่ก็ไม่ดีเท่ากับไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ส่วนไตรมาส4 ปีนี้ก็คาดว่าจะดีกว่าไตรมาส4 ปีที่แล้ว ซึ่งช่วงนี้เราคงรักษาในส่วนของกำไรได้จากการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่มีเข้ามา และเราก็จะประคองผลการดำเนินงานทั้งปีไม่ให้ขาดทุน" นายอิศรา กล่าว
ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ PCDAที่จังหวัดลำพูนประมาณ 85-90 % ของกำลังการผลิตทั้งหมด โดยมีจุดคุ้มทุนที่ระดับการผลิต 70% ส่วนกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ IC สำหรับโรงงานที่จังหวัดอยุธยาอยู่ที่ 55 % และกำลังการผลิตที่โรงงานเจียซิงอยู่ที่ 30-40% ซึ่งมีจุดคุ้มทุนของการผลิต IC อยู่ที่ 50-55% อย่างไรก็ตามจุดคุ้มทุนของแต่ละผลิตภัณฑ์นั้น บริษัทประเมินได้ยากเนื่องจากทั้งหมดขึ้นอยู่กับ
โปรดักส์มิกส์ของคำสั่งสินค้านั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดในมืออยู่ที่ 4,678 ล้านบาท โดยเงินสดส่วนนี้เตรียมไว้สำหรับการขยายกิจการ รวมถึงเก็บไว้เป็นเงินสดในการสำรองจ่ายให้กับลูกค้าและใช้ในการลงทุนวัตถุดิบต่าง ๆ เนื่องจากการผลิต PCDA จำเป็นที่จะต้องลงทุนเงินไปก่อนแล้วหากงานแล้วเสร็จก็ไปเรียกเก็บกับลูกค้าภายหลัง โดยมีระยะเวลาในการเก็บ 45 วัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นจุดคุ้มทุน และเงินสดส่วนสุดท้ายบริษัทเก็บไว้สำหรับการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งการจ่ายปันผลก็จะเป็นไปตามนโยบายของบริษัท

"การที่มีเงินสดอยู่ในมือภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะแสดงถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครดิตให้กับตัวบริษัทเองด้วย และเราก็ยังไม่มีแผนการที่จะนำไปลงทุนอะไรทั้งสิ้น คงเก็บไว้ก่อนรอวันที่โอกาสและเวลาเหมาะสมเราจึงมีการคิดอีกครั้ง ประกอบกับตอนนี้เราก็ไม่มีปัญหาเรื่องภาระหนี้สินด้วย " นายอิศรา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น