xs
xsm
sm
md
lg

สภาที่ปรึกษาฯเสนอ6ข้อ กรอบเจรจาไทย-กัมพูชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (30 มี.ค.) คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเกี่ยวกับปัญหาเขาพระวิหาร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) โดยมีว่าที่ ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ ประธานคณะทำงานฯพร้อมด้วย อ.เกษม จันทร์น้อย และสมาชิกคณะทำงานฯได้รายงานความก้าวหน้า และยื่นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ กรณีการเจรจาตกลงเรื่องเขตแดน ทางบก และเขตแดนทางทะเล ระหว่างไทยและกัมพูชา เนื่องจากจะมีการเจรจาระหว่างกระทรวงต่างประเทศ กับประเทศกัมพูชา ในเดือนเม.ย.นี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการเจรจาด้วยความระมัดระวังโดยคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเกี่ยวกับปัญหาเขาพระวิหารฯ ยื่นข้อเสนอแนะ 6 ประการดังนี้
1.รัฐบาลควรทบทวนบันทึกข้อตกลงระหว่างไทยกับกัมพูชา เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลของไหล่ทวีป ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.44 ว่าได้มีการดำเนินการตาม มาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หรือไม่ ซึ่งในบันทึกข้อตกลงข้างต้น อาจเข้าข่ายหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ และทั้งนี้ หากรัฐบาลจะใช้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรอบในการเจรจา รัฐบาลควรพิจารณาให้มีการดำเนินการตาม มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก่อนที่จะใช้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นกรอบในการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน ทางทะเลของไหล่ทวีประหว่างไทยกับกัมพูชา
2. สำหรับพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล ควรนำกรอบการเจรจาเกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาก่อน เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190
3. การเจรจาเขตแดนทางทะเล รัฐบาลควรยึดหลักการสากล ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982
4. ในการเจรจาเขตแดนทางบก รัฐบาลควรนำประเด็นเรื่องชุมชนชาวกัมพูชาที่รุกล้ำเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหลายพื้นที่มาการเจรจาด้วย เพื่อให้เกิดการแก้ไข และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีปัญหาซ้ำในพื้นที่อื่นอีก
5. รัฐบาลควรเจรจาเขตแดนทางบก และ ทางทะเลไปพร้อมๆ กัน แต่ในกรณีที่ยังมีการละเมิด หรือการรุกล้ำจากฝ่ายกัมพูชา รัฐบาลควรชะลอการเจรจาออกไปก่อน
6. รัฐบาลควรกำหนดกลไกและปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการที่รับผิดชอบการเจรจาเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เกิดความเป็นเอกภาพ มีความต่อเนื่อง และมีบูรณาการในการเจรจา โดยจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อรับผิดชอบในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น