xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์‘อัฟกัน’ใหม่ของโอบามา ‘ปฏิบัติการ’เพิ่มขึ้น-‘เป้าหมาย’ลดลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯให้คำมั่นว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ในการทำสงครามอัฟกานิสถานจะมีการปฏิบัติการในหลายๆ ด้านกว้างขวางขึ้น แต่ในทางกลับกันก็จำกัดเป้าหมายให้แคบลง โดยมุ่งไปที่การกำจัดกลุ่มอัลกออิดะห์โดยตรง และไม่วาดหวังสร้างประชาธิปไตยขึ้นในอัฟกานิสถาน แบบที่เป็นเจตนารมณ์ของคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช
บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ายุทธศาสตร์ใหม่ของโอบามานี้ ยอมรับความเป็นจริงของอัฟกานิสถาน ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะเป็น “สุสานฝังจักรวรรดิ”มาหลายต่อหลายจักรวรรดิแล้ว นอกจากนั้นยังน่าจะเป็นการเริ่มวางรากฐานสำหรับดำเนินยุทธศาสตร์ถอนตัวออกไปจากสงครามที่สหรัฐฯเข้าพัวพันมาร่วม 8 ปีแล้ว
ทั้งนี้ ในการประกาศยุทธศาสตร์สงครามในอัฟกานิสถานเมื่อวันศุกร์ (27) โอบามาได้ให้คำมั่นว่าจะใช้มุมมองที่กว้างขึ้นในการจัดการปัญหาในอัฟกานิสถานและปากีสถาน โดยแม้ว่าเขาจะสั่งเสริมกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานกว่า 4,000 นาย แต่ก็จะเพิ่มกำลังสายพลเรือนเพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาประเทศ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มความช่วยเหลือของสหรัฐฯ เข้าไปในปากีสถานถึงสามเท่าตัว หรือคิดเป็นเงิน 7,500 ล้านดอลลาร์ในห้าปีข้างหน้า
โอบามาบอกอีกว่า “ผมต้องการให้คนอเมริกันเข้าใจว่าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนและเจาะจง ซึ่งก็คือการขัดขวาง ทำลาย และทำให้กลุ่มอัลกออิดะห์พ่ายแพ้ และป้องกันไม่ให้คนพวกนี้กลับเข้าไปในปากีสถานหรืออัฟกานิสถานได้อีกในอนาคต”
นอกจากนั้น เขายังสัญญาว่าจะสนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถาน ส่วนประเด็นการสร้างประชาธิปไตยนั้น เขาเพียงแค่เน้นไปที่การสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนในปากีสถาน ที่เพิ่งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้เอง
แนวทางดังกล่าวของโอบามา นับว่าต่างไปจากอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช โดยบุชนั้นกระทั่งระหว่างการเยือนอำลาตำแหน่งที่กรุงคาบูลเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็ยังบอกว่า สหรัฐฯ “จะสร้างประชาธิปไตย(ในอัฟกานิสถาน)ให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่นอกเหนือจากอุดมการณ์ที่ส่งเสริมให้ผู้คนเกลียดชังกัน(ของอัลกออิดะห์และตอลิบาน)”
มาร์วิน เวนโบม อดีตนักวิเคราะห์เรื่องอัฟกานิสถานและปากีสถานประจำกระทรวงการต่างประเทศในช่วงก่อนปี 2003 กล่าวว่าโอบามานั้นจะทั้งลงมือทำมากขึ้นและกำหนดเป้าหมายที่เป็นไปได้มากขึ้นด้วย
“ตอนแรกเราคิดผิดไปว่าเราสามารถสร้างรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งขึ้นมาได้” เขาบอกพร้อมกับพูดต่อไปว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รัฐบาลกลางของอัฟกานิสถานไม่เคยมีอำนาจควบคุมทั่วประเทศอย่างเด็ดขาดได้เลย
“คณะรัฐบาลบุชใช้แต่วาทศิลป์พร่ำพูดว่า จะสร้างประชาธิปไตยต้นแบบขึ้นมา แต่กลับไม่เคยลงมือทำอะไร” เวนโบมบอก
บรูซ ไรเดล อดีตสายลับซีไอเอ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมพิจารณาทบทวนทางยุทธศาสตร์ ก็บอกว่าโอบามานั้นต้องการ “ให้มั่นใจว่าปฏิบัติการครั้งนี้มีการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนและเจาะจง” แต่เขาปฏิเสธว่าสหรัฐฯ ไม่ได้กำลังลดเป้าหมายลงจากเดิมและไม่ได้ใช้แนวทางแบบหวังผลต่ำด้วย
ส่วนริชาร์ด โฮลบรูค ทูตพิเศษของสหรัฐฯ ประจำอัฟกานิสถานและปากีสถาน บอกว่ายุทธศาสตร์เพื่อการถอนตัวออกมาของสหรัฐฯ นั้น แท้ที่จริงแล้ว“เป็นเรื่องพื้นๆ คือ เราจะถอนกำลังออกมาทันทีที่ชาวอัฟกันสามารถดูแลปัญหาด้านความมั่นคงได้ด้วยตนเอง” แต่เขาก็เตือนด้วยว่าสิ่งที่ยากที่สุดก็คือการจัดการกับกองกำลังต่างๆ ที่ซ่องสุมอยู่ในปากีสถาน
คัมราน โบคารี นักวิเคราะห์อาวุโสประจำบริษัทข่าวกรองโลก “สแตรทฟอร์” ก็กล่าวว่าทีมงานของโอบามานั้นยังไม่ได้ระบุว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของปากีสถานอย่างไร
เขาบอกรัฐบาลบุชเคยพยายาม “ทุ่มเงิน” เข้าไปในปากีสถานโดยผ่านทางผู้นำทหารในขณะนั้นคือพลเอกเปอร์เวซ มูชาราฟ แต่กลับล้มเหลวเมื่อไม่สามารถโน้มน้าวให้ชาวปากีสถานมาเข้าข้างเพราะชาวปากีสถานมองประเด็นนี้จากกรอบแนวคิดชาตินิยม
“ประชาชนจำนวนมากมองว่านี่ไม่ใช่สงครามของเขา และเชื่อว่าถ้าสหรัฐฯ ถอนทหารออกไปทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นี่เป็นความรู้สึกของชาวปากีสถานส่วนใหญ่” โบคารีบอกและเสริมวา ต่อให้โอบามาลดเป้าหมายลงมาเพียงแค่ต้องการทำลายกลุ่มอัลกออิดะห์ก็ยังเป็นเรื่องยากเย็นมากทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น