ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ประมวลเสียงสะท้อนจากบรรดาแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในหลายจังหวัดของภาคใต้ตอนล่าง ต่อประเด็นการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ ชี้แม้เสียงส่วนใหญ่จะเห็นด้วย แต่ก็มีข้อเสนอจากบางจังหวัดว่าไม่อยากให้แกนนำพันธมิตรฯ ทั้งรุ่น 1 และรุ่น 2 เข้าไปยุ่งย่ามด้วย มีเพียงจังหวัดเดียวที่ระบุว่า ยังไม่เห็นด้วย แต่ก็ยังเปิดกว้างในเหตุผลไว้ว่าเป็นเพราะยังไม่ถึงเวลา เผยมีการวิเคราะห์ถึงการเกี่ยวพันระหว่างมวลชนพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ไว้อย่างน่าสนใจด้วย
การประชุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 16 จังหวัดภาคใต้ ครั้งที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย 14 จังหวัดภาคใต้ และอีก 2 จังหวัดคือ เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2552 ที่ร้านอาหารบ้านในสวน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มติในที่ประชุมได้จัดแบ่งแตกโซนการดูแลตามลักษณะภูมินิเวศเป็น 3 โซนคือ โซนที่ 1 ภาคใต้ตอนบน โซนที่ 2 คือภาคใต้ตอนล่าง และโซนที่ 3 คือ ภาคใต้อันดามัน ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการประสานงานและการติดต่อสื่อสาร ซึ่งแต่ละโซนก็จะมีผู้ประสานงานคอยกระจายข่าวสาร เพื่อการขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนให้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีคุณภาพ
นอกจากนี้ยังมีการเน้นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนให้กระจายไปสู่ อำเภอ ตำบลและชุมชน รวมถึงการติดต่อเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่นๆ ทั้งนี้ในการประชุมครั้งนี้ได้หยิบยกประเด็น เรื่องแนวคิดการตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคยหยั่งเสียงจากพี่น้องพันธมิตรฯ ในที่ประชุมจึงได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย แต่ยังไม่มีการสรุปว่า เห็นควรพรรคการเมืองหรือไม่ จึงมีมติกันว่าให้พันธมิตรฯ แต่ละโซนลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และจะกลับมานำเสนอในที่ประชุมในครั้งต่อไป
“ศูนย์ข่าว ASTVผู้จัดการหาดใหญ่” ได้สำรวจความคิดเห็นจากแกนนำพันธมิตรฯ ภาคใต้ตอนล่าง ต่อเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเสียงสะท้อนที่ออกมา มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่อยากจะเห็นการตั้งพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ เป็นจริงขึ้นมาในที่สุด
นางอุดมศรี จันทรรัศมี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับการที่แนวร่วมหรือผู้ร่วมชุมนุมพันธมิตรฯ จะตั้งพรรคการเมือง เพื่อจะได้ต้านทานอำนาจเก่าที่จ้องทำลายพันธมิตรฯ ถ้าเราไม่มีพรรคการเมืองของเราเอง ต่อไปเราก็ต้องอยู่ใต้อำนาจนักการเมืองเก่าๆ ก็ต้องกลับไปเหมือนเดิมอีก เราต้องมาสู้รบตบมือ ต้องมาเข่นฆ่ากันเหมือนทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นเห็นด้วยมากๆ เลยกับการตั้งพรรคการเมือง เพราะว่าถ้าลำพังพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวช่วยอะไรไม่ได้เลย เหมือนเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
“แต่ไม่เห็นด้วยหากแกนนำทั้งรุ่น 1 และรุ่น 2 มายุ่งกับการเมือง เพราะจะทำให้เสียภาพลักษณ์ แต่หากแนวร่วมหรือผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม ผู้ที่มีอุดมการณ์ที่จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรักบ้านเมืองจริงๆ ได้มาร่วมตั้งพรรคการเมืองเพื่อช่วยทานอำนาจเก่า อย่าให้อำนาจเก่าเข้ามาเพื่อให้ได้การเมืองใหม่อย่างแท้จริง เพราะที่พวกเราร่วมชุมนุมก็เพื่อสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับพันธมิตรฯ ให้ได้” นางอุดมศรีกล่าว
นายทนงศักดิ์ พงศ์จินดามณี รองประธานกรรมการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสงขลา กล่าวว่า คิดว่าเรื่องการตั้งพรรคการเมืองมันอยู่ที่เหตุและผล ก็อย่างที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศไว้ ช่วงนี้ก็ให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์บริหารบ้านเมืองไปก่อน ถ้าอยู่ในแนวทางที่บริหารให้ชาติก้าวเดินไปได้ พันธมิตรฯ ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรค
“เหตุและผลที่ผมว่านี้ก็คือ ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์บริหารเข้ากรอบเดิม ก็มีความจำเป็นอยู่ดีที่ใครก็ได้ต้องมาตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ โดยเฉพาะตอนนี้พันธมิตรฯ โดนโจมตีมากเลยในกรณีที่คุณสนธิได้พูดไป แต่ส่วนตัวผมแล้วเห็นว่าการตั้งพรรคการเมืองนั้น ถ้าหากรัฐบาลยังบริหารเหมือนเดิม ก็มีความจำเป็นที่ต้องตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นแนวทางพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเป็นใครก็ได้ แต่ต้องบริหารประเทศให้ก้าวไปสู่การเมืองใหม่ เพราะไม่เช่นนั้นการเมืองใหม่ก็ไม่เกิดขึ้นจริง” นายทนงศักดิ์กล่าว
นายดิสพูน จ่างเจริญ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดปัตตานี มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ สั้นๆ ว่า เรื่องที่พันธมิตรฯ จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเอง ในส่วนตัวแล้วคิดว่าก็ดีนะ เพราะตอนนี้เราหวังพึ่งทางการเมืองไม่ได้เลย ทำให้คิดว่าการที่เราไปร่วมต่อสู้กันมา 193 วันต้องสูญเปล่าหรือไม่ ถ้าเราไม่มีพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาจะผลักดันการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมันจะช้ามากถ้าเราไม่มีพรรคการเมืองใหม่
นางจินตนา เจริญธนภัทร แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดยะลา กล่าวว่า เรื่องการตั้งพรรคการเมืองนั้น ถ้าตั้งในนามของพันธมิตรฯ เลยก็ไม่เหมาะ เพราะว่าเราตั้งธงไว้แล้วว่า แกนนำพันธมิตรฯ ก็ยังคงเป็นแกนนำอยู่ แต่เห็นด้วยว่าชาวพันธมิตรฯ ทั้งหลายจะไปรวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา เพราะนอกจากเราจะมีมวลชนแล้ว เราควรจะมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองด้วย
“เหมือนกับที่ อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรฯ บอกไว้ว่าที่ผ่านมาพันธมิตรฯ เราเตะหมูเข้าปากหมา ซึ่งมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้นมันเหมือนเรายืมจมูกคนอื่นหายใจจริงๆ ซึ่งเราก็เห็นแล้วในภาวะปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นเราควรที่จะมีดาบของเราเองด้วย หากเราไปขอยืมดาบเขามา เขาอารมณ์ดีเขาก็ให้ แต่หากเขาอารมณ์ไม่ดีเขาก็ไม่ให้ มันก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหากถามว่าควรมีพรรคการเมืองมั้ย ตอบได้เลยว่า ควรมี” นางจินตนากล่าวและเสริมว่า
อย่าเอาคำว่าพันธมิตรฯ กับประชาธิปัตย์มารวมกัน ต้องเข้าใจนะว่าเราไปชุมนุมพันธมิตรฯ ไม่ได้ไปเชียร์ประชาธิปัตย์ และเพื่อยกประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล แบบนั้นมันไม่ใช่ แต่วันนี้ที่พันธมิตรฯ ให้โอกาส ส่วนหนึ่งเราก็ต้องยอมรับความจริงเหมือนกันว่า ถ้าเราคิดจะล้างกระดานหมากรุกก็ต้องให้เขาเดินให้สุด เดินในรูปที่ว่าไม่มีหมากเดิน หรือจนตรอก หรืออย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องให้เขาเดิน ไม่อย่างนั้นคำว่าประชาธิปไตยที่เราดำรงมามันก็ไม่ใช่ เจ็บปวดอย่างไรเราก็ต้องเจ็บปวด
นางจินตนา กล่าวด้วยว่า คนใต้ไม่ใช้ว่าเลือกพรรคประชาธิปัตย์ หรือขึ้นไปช่วยพันธมิตรฯ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ เราขึ้นไปช่วยพันธมิตรฯ เพราะคำว่า ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สามอย่างนี้เท่านั้นเอง พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน ถ้าทำไม่ดี ก็ถือไม่ใช่ ถ้าคุณไม่ได้ตั้งไว้ซึ่ง 3 อย่าง คุณจะทำตามอำเภอใจ ปู้ยี่ปู้ยำประเทศไทย คุณก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน แต่นั่นไม่ใช่ว่าเราจะล้มล้างทุกๆ คน แต่เราดูว่า ความคิดของรัฐบาลกับการกระทำของรัฐบาลไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่
“เพราะฉะนั้นพันธมิตรฯ ควรคิดให้มากว่า เราขึ้นไปต่อสู้กันเพราะอะไร ขึ้นไปขับไล่ระบอบทักษิณ หรือรัฐบาลนอมินีทั้งหลายเพราะอะไร ธงที่เราตั้งไว้มันคืออะไร เราเปลี่ยนเป้าหมายหรือยัง เราเอาความชอบส่วนตัวที่คนใต้ยึดติดกับพรรคประชาธิปัตย์ ถามใจตัวเองก่อน อย่าหลงรูป ถ้าถามว่าคนใต้เลือกประชาธิปัตย์เพื่ออะไร เพราะคนใต้รู้ว่าคำว่าประชาธิปไตยคืออะไร ประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคของใคร เราลองดูสิว่าพรรคอื่นๆ เป็นของใคร เราคนใต้ถึงได้เลือกประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ว่าเลือกประชาธิปัตย์เพราะเป็นคนใต้”
นางจินตนากล่าวต่อไปว่า หัวหน้าของพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามี นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน สองคนเท่านั้นที่เป็นคนใต้ นอกนั้นเป็นคนที่ไหนก็ลองพิจารณากันดู แล้วอยากจะขอร้องมวลชนพันธมิตรฯ ว่า สิ่งที่ทุกคนขึ้นไปช่วยกันต่อสู้เพื่ออะไร ธงที่เราตั้งไว้คือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใช่หรือไม่เท่านั้นเอง
ด้านแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดนราธิวาส นายสุรพล เพชรสงคราม หรือบิลลี่ โก-ลก ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ อ.สุไหงโก-ลก กล่าวว่า สำหรับเรื่องการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ จะเห็นได้ว่าทางภาคใต้จะเป็นฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์เสียเป็นส่วนใหญ่ ดูๆ แล้วคนภาคใต้รักประชาธิปัตย์ แต่บางครั้งพรรคประชาธิปัตย์อาจจะมองไม่เห็นประชาชนส่วนนั้น บางทีเขาก็อาจจะน้อยใจเหมือนกันว่า เมื่อไหร่การเมืองใหม่จะเกิดขึ้น โดยนักการเมืองมีความซื่อสัตย์ สุจริต กล้าหาญและเสียสละ เราก็อยากจะได้นักการเมืองภายใต้การเมืองใหม่เป็นแบบนั้น
“เรื่องการตั้งพรรคการเมือง คิดว่าน่าจะอยู่ที่ผู้ใหญ่ทางส่วนกลางมากกว่า เพราะว่าทาง อ.สุไหงโก-ลก หรือ จ.นราธิวาส จะออกความเห็นมันก็มีหลายกลุ่มนะ ก็ต้องซาวเสียงกันดูก่อน แต่สำหรับผม ผมคิดว่าถ้ามีพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาก็ดีเหมือนกัน เราจะได้พรรคการเมืองของภาคประชาชนที่แท้จริง เป็นพรรคการเมืองในการเมืองใหม่ก็ดีนะ ถือเป็นสิ่งที่ดี” นายสุรพลกล่าว
ส่วน นายทนงศักดิ์ พิทักษ์วงศ์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดนครศรีธรรมราช มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ส่วนของภาคใต้ไม่ใช่ว่า เฉพาะนครศรีธรรมราชอย่างเดียว ฟังจากเสียงส่วนใหญ่ที่ได้พูดคุยกัน ทั้งนอกที่ประชุม หรือสภากาแฟต่างๆ นั่งคุยกันเรื่องพันธมิตรฯ จะเริ่มต้นตั้งพรรคการเมือง ก็มีหลายส่วนรับฟัง แต่ถ้าถามความรู้สึกจริงว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้น ณ นาทีนี้ ยังไม่เหมาะสมที่จะตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรก็แล้วแต่ ในลักษณะที่แกนนำจะแยกออกไปตั้งเอง หรือว่าให้พี่น้องประชาชนไปร่วม ณ วันนี้น่าจะยังไม่ถึงเวลา ต้องรอให้สุกงอมกว่านี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจกันมากกว่านี้
“เพราะเริ่มต้นที่เราได้ร่วมชุมนุมกับพี่น้องทั่วประเทศ หรือในจังหวัดภาคใต้ ในนามพันธมิตรฯ เรามีเป้าหมายเดียวคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่ได้คิดว่าจะเอาการเมืองมาผูกมัดติดยึด ภาคใต้จริงๆ แล้วเราใส่เสื้อสีเหลืองก็จริง แต่โดยความเป็นมายาวนานของภาคใต้ก็มีพรรคในใจอยู่แล้ว คือส่วนหนึ่งที่เป็นสมาชิกพรรคนั้น ก็อยู่ในเครือพี่น้องเราพันธมิตรฯ เหมือนกัน ถ้าพูดถึงก็เป็นมวลชนชุดเดียวกัน อาจจะแบ่งไปช่วยทางโน้นช่วยทางนี้”
นายทนงศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า วันนี้ที่เป็นพันธมิตรฯ เราจะไม่ยุ่งกับพรรคการเมือง เราจะตรวจสอบความเป็นไปได้ หรือตรวจสอบการทุจริตอะไรต่างๆ จะดำเนินการแบบนี้มากกว่า ถ้าให้คิดว่าตั้งพรรคการเมืองดีไหม อยากได้ไหม ผมในฐานะตัวแทนพันธมิตรฯ จ.นครศรีธรรมราชคนหนึ่ง ยังไม่อยากได้พรรคการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นมา ขอตรวจสอบเป็นภาคประชาชนอย่างนี้มันจะดูดีและมีเหตุผลมากกว่า
นั่นคือเสียงสะท้อนบางส่วนจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กับการจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ หรือให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองจะเกิดขึ้นหรือไม่ พันธมิตรฯ ภาคใต้ยังคงยืนยันจะยึดมั่นในอุดมการณ์ ที่จะดำเนินงานในนามการเมืองภาคประชาชนต่อไป และพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีคุณภาพ เพื่อร่วมกันสร้างการเมืองใหม่