xs
xsm
sm
md
lg

‘อมาตยกุล’ยื่นฟ้องรวด9ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ทนายความตระกูลอมาตยกุล ยื่นฟ้องคดีใบหุ้นปลอมแล้ว เปิดรายชื่อ 9จำเลยไล่ตั้งแต่ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย “กานต์ ตระกูลฮุน” “ชุมพล ณ ลำเลียง” “ประพันธิ์ ชูเมือง” ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และบล.เกียรตินาคิน ชี้เหตุผลประมาทเลินเล่อ ปราศจากความรับผิดชอบ ขาดจรรยาบรรณทางวิชาชีพ และไม่โปร่งใส ล่าสุดศาลแพ่งรับฟ้องไว้พิจารณาโดยนัดพร้อมและชี้สองสถานในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ พร้อมสั่งระงับทรัพย์และสั่งห้ามขายหุ้นSCCที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
วานนี้ (26 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น.ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นายพิบูลศักดิ์ สุขพงษ์ ทนายความ ได้รับมอบอำนาจจาก นายวรรณพงษ์ รุ่งโรจน์วุฒิกุล ในฐานะผู้จัดการมรดกของ นายวรรโณทัย อมาตยกุล ที่ 1, นายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ที่ 2 และ น.ส.วรรณโสภิน อมาตยกุล ที่ 3 เป็นโจทก์ที่ 1-3 ยื่นฟ้อง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ที่ 1, นายกานต์ ตระกูลฮุน รอง กก.ผจก.ใหญ่ ที่ 2, นายชุมพล ณ ลำเลียง กก.ผจก.ใหญ่ ที่ 3, นายวรพล เจนนภา ผู้อำนวยการสำนักงาน บ.ปูนซิเมนต์ ที่ 4, นายประพันธิ์ ชูเมือง เจ้าหน้าที่จัดเก็บรักษาใบทะเบียนหุ้น หรือ โอนหุ้น ที่ 5, นางดวงกมล เกตุสุวรรณ ที่ 6, นายสบสันต์ เกตุสุวรรณ ที่ปรึกษาฝ่ายจัดการที่ 7, บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) ที่ 8 และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคิน จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ 9 เป็นจำเลยที่ 1-9 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน 222,597,234 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5
ทั้งนี้ โจทก์ฟ้องระบุ ความผิดจำเลยสรุปว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2551 นายวรรโณทัย อมาตยกุล ผู้ถือหุ้นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เบาหวาน และศาลแพ่งได้มีคำสั่ง ตั้งนายวรรณพงษ์ เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาวันที่ 11 ธ.ค.2551 นายวรรณพงษ์ ได้นำใบหุ้นที่อยู่ในความครอบครองของทายาท และโจทก์ที่ 2-3 ซึ่งเป็นบุตร-ธิดา ไปติดต่อกับจำเลยที่ 8 เพื่อตรวจสอบและโอนมรดก ให้แก่ทายาท แต่เมื่อจำเลยที่ 8 ตรวจสอบใบหุ้น แล้วยึดไว้ โดยอ้างว่า เป็นใบหุ้นปลอมและเป็นใบหุ้นที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว กระทั่งวันที่ 7 ม.ค.2552 จำเลยที่ 8 ได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบใบหุ้นดังกล่าวว่า จำเลยที่ 5, 6 และ 9 เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จนวันที่ 30 ม.ค.2552 โจทก์ทั้งสาม ทราบเหตุละเมิดว่า มีการลักและปลอมใบหุ้น ทำให้โจทก์ที่ 2-3 ต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือ ใบหุ้น ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เมื่อพยายามใช้สิทธิตามเอากรรมสิทธิ์ กับผู้เกี่ยวข้อง และจำเลยในคดีนี้คืนแก่โจทก์ แต่ได้รับการปฏิเสธ
โดยการกระทำของจำเลยนับว่าปราศจากความรับผิดชอบ ขาดจรรยาบรรณทางวิชาชีพ และขาดหลักการโปร่งใสภายใต้หลักธรรมมาภิบาลที่ดี เฉพาะจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และ 3 เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย ต่างเพิกเฉย ซึ่งจำเลยได้นำเงินที่ได้จากบรรพบุรุษโจทก์ที่ได้จากการซื้อหุ้นไปใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 จนมั่งคั่ง แต่กลับไม่เยียวยาต่อทรัพย์สิน หรือจิตใจของโจทก์ทั้งสาม ที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำ ลูกจ้าง หรือตัวแทน หรือการละเมิด ทั้งที่ความจริงแล้ว จำเลยทั้งเก้า ได้รู้หรือควรรู้ว่ามีการกระทำละเมิดต่อโจทก์ กลับไม่ดำเนินการให้มีมาตรการอย่างใดที่จะชดใช้เยียวยาให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยเฉพาะจำเลยที่ 5 ได้ถูกโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1, 8 แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการสอบสวนเอาตัวจำเลยที่ 5 กับพวกมาลงโทษ
ต่อมาศาลอาญาได้ออกหมายจับ จำเลยที่ 5 ไว้เมื่อวันที่ 5 ก.พ.52 ซึ่งขณะนี้จำเลยที่ 5 ได้หลบหนีไป และมีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไป เพื่อไม่ให้โจทก์ทั้งสาม บังคับคดีได้โดยง่าย โจทก์จำเป็นต้องฟ้องเป็นคดีนี้ เพื่อให้จำเลยร่วมกันรับผิดชอบต่อโจทก์ ที่ได้รับความเสียหาย คือหุ้นปูนใหญ่ มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท จำนวน 672,000 หุ้น ที่ถูกลักไป พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันได้สูญเสียทรัพย์สินจนถึงวันฟ้อง
พร้อมกันนี้ โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งเก้าคืนกรรมสิทธิ์ในหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อนายวรรโณทัย อมาตยกุล ในราคาพาร์ 1 บาท จำนวน 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 จำนวน 332,900 หุ้น ฉบับที่ 2 จำนวน 339,100 หุ้น รวมเป็น 672,000 หุ้น พร้อมดอกผล สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในหุ้น และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หรือหากคืนหุ้นไม่ได้ ให้ชดใช้ราคารวมค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 222,597,234 บาท ตามสัดส่วนความรับผิดของแต่ละคน ซึ่งศาลได้รับฟ้องไว้พิจารณาโดยนัดพร้อมและชี้สองสถานในวันที่ 8 มิถุนายน 2552 เวลา 9.00 น.
ส่วนการคิดมูลค่าหุ้น โจทก์ได้คำนวณตั้งแต่ในวันที่ถูกกระทำละเมิด คือเมื่อวันที่ 9 ก.พ.47 และวันที่ 17 ต.ค.49 ทั้งสองครั้ง รวมเป็นมูลค่าหุ้น 164,633,800 บาท และคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่สูญเสียทรัพย์สินไปจนถึงวันฟ้องอีก 46,629,434 บาท รวมเป็นมูลค่าทรัพย์หุ้นปูนใหญ่ทั้งสิ้น 211,263,234 บาท รวมทั้งดอกผลที่โจทก์ทั้งสามจะได้รับจากหุ้นเป็นเงินจำนวน 1,344,000 บาท และรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการติดตามท้วงถาม ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เป็นเงินจำนวน 10,000,000 บาท

**เปิดความผิดแต่ละจำเลย
สำหรับจำเลยทั้ง 9 นี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องให้รับผิดชอบตามสัดส่วนของความรับผิดชอบแต่ละฐานะ กล่าวคือจำเลยที่ 1 บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย ในฐานะเป็นผู้ประมาทเลินเล่อ รวมทั้งการเป็นตัวการ หรือ นายจ้างของจำเลยที่ 1 ถึง 5 และจำเลยที่ 8 โดยขณะเกิดเหตุปี 2547 - 2549 มีจำเลยที่ 2 นายกานต์ ตระกูลฮุน ในฐานะเป็นตัวแทน หรือตัวการ หรือนายจ้างของจำเลยที่ 1, ที่ 4, และที่ 5 จำเลยที่ 3 นายชุมพล ณ ลำเลียง ในฐานะเป็นตัวแทน หรือตัวการ หรือนายจ้างของจำเลยที่ 1, ที่ 4, และที่ 5 ขณะที่ จำเลยที่ 4 นายวรพล เจนนภา ในฐานะเป็นตัวแทน หรือตัวการ หรือนายจ้างของจำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3 และที่ 5 ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผู้อำนวยการสำนักเลขานุการบริษัท ปัจจุบันเป็นเลขานุการบริษัท
จำเลยที่ 5 นายประพันธิ์ ชูเมือง ในฐานะเป็นตัวแทน ลูกจ้าง ของจำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3 และที่ 4 และเป็นผู้ทำการลักและปลอมใบหุ้น จำเลยที่ 6 นางดวงกมล เกตุสุวรรณ ในเป็นภริยาจำเลยที่ 7 ซึ่งรับโอนรับมอบหุ้นจำนวน 5,000 หุ้นจากจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 7 นายสบสันต์ เกตุสุวรรณ ในขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายจัดการ SCG และรับโอนหุ้นจากภริยาจำเลยที่ 6 จำเลยที่ 8 บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์/ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และตัวแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 9 บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน จำกัด ในฐานะเป็นโบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์และผู้ฝากหลักทรัพย์ SCC เพื่อทำการขายให้กับนายประพันธิ์ จำเลยที่ 5
นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองโจทก์ก่อนมีคำพิพากษา เนื่องจากกรณีมีเหตุฉุกเฉิน หลังจากทำการไต่สวนพยานจำนวน 2 ปาก และมีคำสั่งให้ (1)อายัดเงินในบัญชีเงินฝาก อายัดหุ้นในบัญชีหลักทรัพย์ อายัดที่ดิน และห้องชุด ของนายประพันธิ์ ชูเมือง จำเลยที่ 5 ที่มีอยู่กับธนาคารต่างๆ โบรกเกอร์ (KK, กิมเอ็ง) และสำนักงานที่ดินทั้งหมดรวมมูลค่าที่อายัดประมาณ 20 ล้านบาทเศษ ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
(2)ห้ามนายสบสันต์ เกตุสุวรรณ จำเลยที่ 7 สั่งห้ามขายหุ้น SCC จำนวน 5,000 หุ้นในพอร์ตหลักทรัพย์ที่บล. ทิสโก้ ที่มีที่มาจากการรับโอนและรับมอบมาจากนายประพันธิ์ ชูเมือง จำเลยที่ 5 ซึ่งปลอมลายมือชื่อของนายวรรโณทัยฯ สลักหลังโอนลอยให้ภรรยานายสบสันต์ฯ คือจำเลยที่ 6 ก่อนที่ภรรยาจะสลักหลังโอนลอยให้นายสบสันต์ฯ เมื่อปลายปี 2551 แล้วนำเข้าฝากที่ บล. ทิสโก้ ในเวลาต่อมา มีมูลค่าปัจจุบันประมาณ 5 แสนบาท ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น