xs
xsm
sm
md
lg

ปิดม่านอภิปรายไม่ไว้วางใจ เปิดฉากม็อบเสื้อแดง

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกลไกตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินตามระบอบประชาธิปไตย เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการกำกับดูแลและตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

แต่ในโลกของความเป็นจริงทางการเมือง การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ประชาชนได้ติดตามรับชมรับฟังการถ่ายทอดสดออกอากาศทางโทรทัศน์และวิทยุนั้น มักไม่มีผลในเชิงรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงสักเท่าใด

พูดง่ายๆ ว่า การที่ สส.ในสภา จะลงมติไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนใด มักจะตัดสินใจจากปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือไปจากเนื้อหาสาระคำอภิปราย หรือการชี้แจงตอบข้ออภิปรายของรัฐมนตรีและ สส.

การอภิปรายในสภา จึงมีฐานะเสมือนหนึ่ง “การแสดงทางประชาธิปไตย”

ดำเนินการเพื่อ “สื่อสารกับประชาชน” มากกว่าจะสื่อสารกับ สส. หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภา

ที่ขึ้นต้นว่า “ท่านประธานที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ” จึงอาจไม่ได้หมายความตามนั้นจริงๆ เพราะเจตนาที่แท้จริงของการอภิปราย คือ ต้องการจะบอกแก่ประชาชนที่รับชมรับฟังอยู่นอกสภามากกว่า

หลังจากติดตามดูการแสดงอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ มีข้อสังเกต ดังนี้

1) การแสดงอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ รัฐธรรมนูญได้เขียนบทให้ “ฝ่ายค้านเป็นผู้แสดงนำ” ในฐานะฝ่ายที่กล่าวหารัฐมนตรีเป็นหลัก จึงให้เวลาส่วนใหญ่แก่ฝ่ายค้าน และแบ่งเวลาบางส่วนให้แก่รัฐมนตรีผู้ถูกกล่าวหา


ผู้ชมที่ติดตามรับชม จึงเห็น สส.ฝ่ายค้านใช้เวลามากกว่าฝ่ายรัฐบาล กล่าวคือ ในเวลาทั้งหมด 28 ชั่วโมง ฝ่ายค้านได้ใช้เวลาถึง 20 ชั่วโมง

พิจารณาจากบทบาทที่วางเอาไว้ ฝ่ายค้านจึงได้เปรียบตรงที่สามารถ “เล่น” หรือมีเวลาแสดงได้มากกว่าฝ่ายรัฐบาล

เราจึงเห็น สส.ฝ่ายค้านหลายคน “เล่น” กันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด สวมบทนำอย่างเต็มที่ และเกือบทุกคน เลือกที่จะเล่นบทบู๊ล้างผลาญ ทั้งด่ารัฐบาลเล่น ทั้งเยาะเย้ยเสียดสี และโฆษณาหาเสียงให้ตัวเอง

บางคน ถึงกับเป็นห่วงว่า โทรทัศน์จะไม่ถ่ายทอดการอภิปรายของตัวเอง ต้องออกปากทวงถามกลางที่ประชุมอย่างซ้ำซากเป็นประจำ จนน่ารำคาญ

2) น่าเสียดาย ข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาใช้อภิปรายในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็น “ข้อมูลเก่า” เคยมีการเปิดเผย และชี้แจงผ่านทางสื่อมวลชนไปก่อนหน้านี้แล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องนายอภิสิทธิ์ไม่เกณฑ์ทหาร, เรื่องเงิน 258 ล้านบาท, เรื่องเอสเอ็มเอส, เรื่องพันธมิตรฯ, เรื่องการตั้งนายกษิตเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ประชาชนส่วนใหญ่จึงรู้สึกไม่ตื่นเต้น เป็นเรื่องเดิมๆ ซ้ำซาก เหมือนการเอาข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์มาเล่าซ้ำในสภา

และจะด้วยเหตุนี้หรือไม่ นักแสดงนำฝ่ายค้านจึงพยายามใช้ลูกเล่นในการแสดงมากกว่าปกติ เพื่อดึงดูดความสนใจของคนดู ไม่ว่าโดยการพูดเสียงดัง เล่นเสียงสูงต่ำไม่ราบเรียบ ยียวน เย้ยหยัน ทำท่าทางฟึดฟัด ทำแผ่นภาพประกอบ บางรายถึงกับนำภาพอาชญากรรมมาแสดงอย่างไม่เหมาะสม ฯลฯ ทั้งหมด ก็เพื่อจะดึงดูความสนใจของคนดู ให้หันมาสนใจในตัวแสดงฝ่ายค้าน

พูดง่ายๆ ว่า กลัวจะไม่มีคนสนใจ

3) สส.ฝ่ายค้านหลายคน ใช้วิธี “ด่าเช็ด-ด่ากราด” ยิ่งกว่า “ละครหลังข่าว” ตามฟรีทีวี เสียอีก

กรณีเช่นนี้ นอกจากจะสะท้อน “กมลสันดาน” หรือ “ปัญหาด้านการอบรมบ่มนิสัย-การเลี้ยงดูในอดีต” แล้ว ยังสะท้อนว่า สส.ที่ใช้วิธีดังกล่าว อาจจะเข้าขั้น “จนตรอก” ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะต่อสู้ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติปัญญาและข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างไร จึงจะหักล้าง หรือชี้ชัดถึงการกระทำความผิดของฝ่ายรัฐบาลได้ ก็เลยหันมา “กัดไม่เลือกหน้า” โดยไม่คำนึงถึง “มารยาททางสังคม”

ประหนึ่งว่า ในสภาเป็นกระโถนใบใหญ่ ที่สถานที่พิเศษที่ สส.สามารถสำรอกความถ่อยของตนเองออกมาได้ อย่างนั้นหรือ?

4) การทำหน้าที่ของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร “พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย” ในแง่ของการควบคุมพฤติกรรมการอภิปรายของ สส. มีการวินิจฉัยว่า กรณี สส.ฝ่ายค้านใช้คำว่า “เลว-ชั่ว-อุบาทว์-สถุน-ฉิบหาย” ไม่ใช่คำหยาบคาย เสียดสี เพราะไม่ได้ระบุว่า “ไอ้” นำหน้าคำเหล่านั้น จึงไม่ใช่คำด่าหยาบคายแต่อย่างใด สามารถใช้ในสภาผู้แทนราษฎรได้

การวินิจฉัย หรือควบคุมการประชุมเยี่ยงนี้ สร้างความงุนงงให้กับประชาชนผู้มีการศึกษาอย่างยิ่ง

ไม่ต้องคำนึงว่า นี่คือการอภิปราย “ในสภาผู้แทนราษฎร” และ “ในวาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ” อย่างนั้นหรือ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ กับการพูดบนเวทีเสื้อแดง ไม่ต้องมีมาตรฐานแตกต่างกันเลยหรือ ?

การพูดของ สส.ในสภาผู้แทนราษฎร กับการพูดของโจร ในซ่องโจร ไม่ต้องมีมาตรฐานแตกต่างกันเลยหรือ?

ด้วยมาตรฐานเดียวกัน หากตั้งข้อสังเกตว่า การทำหน้าที่ควบคุมการอภิปรายในสภาของประธานฯ ครั้งนี้ “เลวจริงๆ อุบาทว์มากๆ ใช้มาตรฐานสถุนเป็นที่สุด ทำให้บ้านเมืองฉิบหายแน่ๆ” อย่างนี้ ก็มิใช่คำหยาบคาย อย่างนั้นหรือ ?

และเป็นเพราะการควบคุมด้วยมาตรฐานแบบนี้เอง จึงทำให้ สส.ฝ่ายค้านบางคนได้ใจ อุกอาจถึงขั้นลุกขึ้นด่าด้วยคำพูดหยาบช้ำว่า “ค..ย” และแสดงพฤติกรรมเสื่อมทรามถึงขั้น “ชูนิ้วกลาง” ด่ากันกลางสภา ต่อหน้าต่อตาประชาชนที่ติดตามผ่านสื่อมวลชนทั่วประเทศ

แทบไม่ต่างจากพฤติกรรมของม็อบเสื้อแดง หน้าสนามหลวง !

ถ้ามีการจัดประเภทรายการโทรทัศน์ รายการถ่ายทอดการอภิปรายฯ ก็จะต้องจัดอยู่ในรายการประเภทที่ต้องห้ามเด็กดูโดยลำพังอย่างเด็ดขาด

5) น่าเสียดายอย่างยิ่ง แม้แต่ สส.สตรี ที่ควรจะปลดแอกตัวเองจากความถ่อยเถื่อนของ สส.ชายในพรรคเดียวกัน แต่กลับทิ้งความสุภาพอ่อนโยนเอาไว้นอกสภา สวมบทบาทแสดงการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยถ้อยคำและน้ำเสียงลีลาในแบบที่ถูกเลี้ยงดูมาจากคอกเดียวกัน

ด่ากราดไม่แพ้ สส.ชาย ในขณะที่เนื้อหาสาระก็ไม่ได้มีมาตรฐานที่สูงกว่า สส.ชายเลย
น่าเวทนา... เธอยังรู้สึกยินดีไปกับคำชมของ สส.ชายเหล่านั้น และยังภูมิใจว่าเธอได้แจ้งเกิดแล้ว แม้จะเกิดในคราบของน้ำคำและน้ำลายก็ตาม

6) ผลการลงคะแนนของการอภิปรายครั้งนี้ ก็เป็นไปตามที่คาดหมายกันไว้ก่อนหน้านี้

ตอกย้ำว่า สส.ไม่ได้ตัดสินใจลงคะแนนจากเนื้อหาการอภิปรายและคำชี้แจง

แต่พิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ การหยิบยื่นประโยชน์ต่างตอบแทน การวางอนาคตทางการเมือง ฯลฯ

ดูจากกรณีที่มีการลงคะแนน “ไม่ไว้วางใจ” นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย “น้อยกว่า” รัฐมนตรีคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่ นายชวรัตน์แทบจะไม่ได้ชี้แจงตอบข้อซักถามของ สส.ฝ่ายค้านในสภาเลยด้วยซ้ำ แต่เนื่องจาก สส.ฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งมีผลประโยชน์และหนี้บุญคุณอยู่กับแกนนำพรรคภูมิใจไทย สส.พรรคฝ่ายค้านเหล่านี้จึงงดออกเสียง เพื่อตอบแทนรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย เป็นต้น

ยิ่งสะท้อนชัดว่า การอภิปรายครั้งนี้ เป็นแค่เพียงการแสดงให้คนดู

7) ที่น่าตำหนิที่สุด คือ การพยายามจะเล่นเกินเลยนอกบท ของ สส.ฝ่ายค้าน


เหมือนนักแสดงละคร ที่เล่นบทเข้าพระเข้านาง แล้วพยายามจะเล่นเกินเลยนอกบทนอกจอกับดาราสาวๆ

กรณีการแสดงอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ก็เช่นกัน เพราะ สส.ฝ่ายค้านได้พยายามจะใช้การอภิปรายในสภาไปเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางกาเมืองนอกสภา ปลุกระดมประชาชน ปลุกปั่นความแตกแยกในสังคม ตลอดจนชี้นำและบิดเบือนด้วยความข้อมูลครึ่งจริงครึ่งเท็จ เพื่อรับใช้ผลประโยชน์ทางการเมืองของ นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหลบหนีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ

พูดง่ายๆ ว่า ใช้การแสดงอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเครื่องมือปูทางไปสู่การเล่นการเมืองนอกบท-นอกจอ-นอกสภา กับกลุ่มเสื้อแดง

มีการนัดแนะและจัดตั้งให้มีการชุมนุมหลังการอภิปราย, มีการนัดหมายให้ นช.ทักษิณโทรศัพท์เข้ามาปลุกระดมในการชุมนุม, มีการเตรียมการเคลื่อนไหว เพื่อสั่นคลอนความน่าเชื่อถือหรือหวังผลล้มล้างรัฐบาล โดยวิถีทางนอกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

การแสดงอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงการหลอกประชาชนหลอกด่ารัฐบาล หลอกใช้สื่อเพื่อปลุกระดมคนเสื้อแดง สร้างความแตกแยกในสังคม สนองตัณหาของนักโทษหลบหนีคดี มากกว่าจะเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น