xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.หวั่นสหรัฐฉุดศก.ไทยขาดดุลเดินสะพัด-NPLพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บิ๊กแบงก์ชาติแจงเหตุผลเตรียมปรับลดประมาณการ์เศรษฐกิจปี 52 เหตุปัญหาเศรษฐกิจโลกรุมเร้าส่อเค้ารุนแรงสุดในรอบ 70 ปี ชี้ปัญหาซับซ้อนในภาคการเงิน-ภาคเศรษฐกิจ ภาวนาขออย่ายืดเยื้อจนกระทบขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการก่อตัวของหนี้เสียรอบใหม่ ชี้ขึ้นกับฝีมือรัฐบาล ขณะที่ผู้บริหารทีมนโยบายการค้าและเงินทุนของ ธปท.เชื่อเศรษฐกิจไทยยังมีหวังฟื้นตัวได้ในปีหน้า ห่วงแค่บริษัทขนาดกลาง-เล็ก ระบุปีนี้เป็นปีแห่งการประคองตัวเองให้ผ่านพ้นปัญหาไปให้ได้

วานนี้ (24 มี.ค.) นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ“มาตรการการเงินและสถาบันการเงินไทยในภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน" ว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จะติดลบตามภาวะเศรษฐกิจโลก เพราะปัญหาวิกฤติในระดับโลกค่อนข้างหนักและมีความรุนแรงจากที่สหรัฐเคยประสบมาในช่วง 70 ปี โดยคาดว่า การปรับคาดการณ์จีดีพีปี 52 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไปน่าจะออกมาลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในระดับ 0-2% เนื่องจากเมื่อเทียบกับการประชุม กนง.ครั้งก่อน ภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้มีข้อมูลหลายด้านที่แย่ลง โดยเฉพาะจีดีพีไตรมาส 4/51 ที่ขยายตัวติดลบ และสถานการณ์ล่าสุดในเดือน ม.ค.-ก.พ.52 ยังไม่ดีขึ้น
"ยอมรับว่าตัวเลขแสดงถึงการชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/51 การแก้ไขต้องทำต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในหลาย ๆ เรื่อง คาดการณ์ว่าจีดีพีน่าจะต่ำกว่าเดิม และหลายสำนักมองในแง่ร้ายมากกว่าต้นปี" นายบัณฑิตกล่าวและว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 52-53 ส่วนจะฟื้นตัวได้เมื่อใดขึ้นกับความสามารถในการดูแลปัญหาและการประคับประคองและการปรับตัว
"ปัญหาครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก และมีความซับซ้อนของปัญหามาก และเป็นปัญหาจากภาคเศรษฐกิจจริงและสถาบันการเงิน เศรษฐกิจโลกที่ยืดเยื้อมา 18-19 เดือนแล้วกระทบต่อไทย เนื่องจากทำให้เงินลงทุนต่างประเทศไหลกลับ เงินบาทอ่อนค่า และกดดันราคาสินค้าส่งออกให้ลดลง และที่เห็นได้ชัดเจนคือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในปี 51 ลดไป 43% และปีนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันลดไปอีก 3%"
อีกทั้งยังมีผลกระทบสภาพคล่องในประเทศทำให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้น และจากที่บริษัทเอกชนต้องหันมาระดมในประเทศมากขึ้น แต่สภาพคล่องในไทยไม่ถึงกับมีปัญหา เพราะภาคครัวเรือนยังมีสภาพคล่อง รวมทั้งมีการอัดฉีดผ่านธปท. และการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยขณะนี้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก รวมตั๋วแลกเงินในเดือน ก.พ. อยู่ที่ 85.2%
สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย คงขึ้นกับการปรับตัวของแต่ละธนาคาร แต่ตนเห็นว่าดอกเบี้ยเงินฝากปรับลดลงมากเพียงพอกับภาวะเศรษฐกิจแล้ว การฝากเงินของเอกชนยังเป็นเสาหลักของสภาพคล่องในประเทศ การปล่อยสินเชื่อขึ้นกับสภาพคล่องที่มี เชื่อว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันให้เกิดดอกเบี้ยเงินกู้ สเปรดดอกเบี้ยน่าจะลดลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถลดดอกเบี้ยเงินกู้ได้บ้างในบางประเภท
นายบัณฑิตย้ำว่า นโยบายของภาครัฐมุ่งมั่นจะช่วยเหลือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในขณะนี้ แต่การใช้มาตรการต่าง ๆ ที่ผ่านมายังแค่ช่วยบรรเทาปัญหา ซึ่งในส่วนของ ธปท.ก็ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับลดดอกเบี้ยตาม ก็จะส่งผลให้ภาคธุรกิจมีช่องทางมากขึ้น และสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ

***หากยืดเยื้อไทยขาดดุลเดินสะพัด
นายบัณฑิตกล่าวว่า หากเศรษฐกิจโลกยังยืดเยื้อก็จะกระทบกับระดับเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งหากส่งออกแย่ลงด้วยก็อาจจะเห็นดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล จากขณะนี้ที่ยังเกินดุลอยู่ โดยอาจจะกระทบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งต่อไปยังภาพเศรษฐกิจโดยรวมให้ชะลอตัวลง กระทบการใช้จ่าย ซึ่งมีผลต่อการชำระหนี้ภาคธุรกิจ เร่งการก่อตัวของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในที่สุดจะกระทบกับฐานะธนาคารพาณิชย์ หากเศรษฐกิจชะลอตัว ผลกระทบอันดับหนึ่งคือความสามารถของการทำกำไรของภาคธุรกิจก็จะลดลง และกระทบต่อการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ซึ่งจากการศึกษาของ ธปท.พบว่าหากเศรษฐกิจชะลอตัว NPL จะเร่งตัวขึ้น โดย 2 เดือนแรกของปีนี้ NPL เร่งตัวขึ้นสูงมาอยู่ที่ 5.9% ของสินเชื่อรวม จาก 5.6% ณ สิ้น ธ.ค.51 หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่พบว่า NPL สินเชื่อส่วนบุคคลก็เร่งตัวขึ้นเช่นกัน
ช่วงต่อไปคือการบริหารจัดการ NPL ซึ่งมองว่าธนาคารพาณิชย์อยู่ในวิสัยที่จัดการได้ และส่วนใหญ่ก็ปรับตัวด้วยการให้ความสำคัญกับการดูแลลูกหนี้ ลดเป้าการเติบโตสินเชื่อปีนี้ตามเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ และดูแลลูกค้าเก่า โดยมีการปรับลดวงเงินสินเชื่อ ตั้งสายงานปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะเข้ามาเสริม เพื่อช่วยเหลือและดูแลลุกหนี้ได้ดีขึ้น ธปท.เองก็ช่วยธนาคารพาณิชย์ด้วยการให้นับ NPL เป็นรายบัญชี แทนที่จะนับทั้งบริษัท และให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแก้ไขลูกหนี้ที่มีศักยภาพด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ยังไม่เกิดปัญหา NPL
"หนี้เสียจะเร่งตัวขึ้น 2 หลักหรือไม่ขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจ หากสามารถประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้แย่ลง ก็น่าจะดูแลได้ ตอนนี้แบงก์ก็ดูแลให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มผลิตที่โยงกับการส่งออก และการบริการ เพื่อให้มีศักยภาพในการปรับตัวได้เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อหนี้เสีย" นายบัณฑิตกล่าว

***"กอร์ปศักดิ์" ห่วงบริษัทขนาดกลาง-เล็ก
วันเดียวกัน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารทีมนโยบายการค้าและเงินทุน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยภายในงานเสวนาหัวข้อ “โคตรวิกฤต ความเสี่ยงเศรษฐกิจ : ถึงเวลาเผชิญหน้าความจริง” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปีที่ผ่านมาของสหรัฐ แต่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น และปัญหายังอีกยาวไกลกว่าจะถึงจุดจบ ดังนั้น กว่าสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวได้เต็มที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี ซึ่งในส่วนของไทยเองคาดว่าจะฟื้นตัวได้ภายในปีหน้า โดยในขณะนี้ทำได้เพียงประคับประคองตัวเองและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผ่านพ้นในช่วงปลายปีนี้ไปได้
ทั้งนี้ ขณะนี้สภาพคล่องในตลาดโลกมีการปิดตัวเอง ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ของไทยเริ่มหันมาพึ่งสภาพคล่องในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะวิธีการออกหุ้นกู้ เพื่อดูแลธุรกิจของตัวเอง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ หากสภาพคล่องในระบบหมดไป บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ตอนนี้ธนาคารพาณิชย์ไม่ค่อยปล่อยกู้อาจได้รับผลกระทบไปอีก อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาสภาพคล่องในระบบขณะนี้ไม่ได้ร้ายแรงเท่าปี 40 แต่ภาครัฐควรหามาตรการรับมือสภาพคล่องในระบบที่อาจหดหายในอนาคต เพราะไม่รู้ว่าปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นจะรุนแรงหรือลุกลามได้แค่ไหน
“เศรษฐกิจโลกมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหลายช่องทางทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ความเชื่อมั่น เงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และดัชนีตลาดหุ้นให้ลดลง แต่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาปัญหาลุกลามผ่านราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การส่งออกน้อยลง และเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องในระบบ ทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นตามมา”นายกอบศักดิ์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น