xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตเศรษฐกิจพ่นพิษบจ. เล็งปลดคนงาน-พับแผนลงทุนเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยผลสำรวจความเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนพบสัดส่วนกว่า 30% คาดการณ์เศรษฐกิจไทยติดลบ ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกหดตัว-เสถียรภาพการเมือง พร้อมยอมรับส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนมีสัดส่วนสูงถึง 78% ทำให้มีบางส่วนจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงาน-ระงับการลงทุนขยายกิจการเพิ่ม ขณะที่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมากลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมโดนหนักสุด ขณะเดียวกันผู้บริหารส่วนใหญ่พอใจทีมเศรษฐกิจ- นโยบายรัฐบาลชุดใหม่

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (CEO Survey) ไตรมาส 1/52 ในเรื่องภาพรวมการขายตัวเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจและการจ้างงาน การบริโภค การลงทุน การส่งออก ปัญหาสภาพคล่อง ปัญหาเงินฝืดและมุมมองทางเศรษฐกิจ การเมืองต่อรัฐบาลปัจจุบัน

ทั้งนี้ มีบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม 137 บริษัท ใน 8 อุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วน 52% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ทั้งหมดของตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ส่วนใหญ่ คิดเป็นสัดส่วน 52% มองว่า เศรษฐกิจปีนี้จะเติบโตเพียง 0-2% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดการณ์ไว้ 2-2.5% ขณะที่ผู้บริหารอีก 31% คาดการณ์เศรษฐกิจจะติดลบ และอีก 17% คาดการณ์เศรษฐกิจจะเติบโตได้ 2-4%

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ มากที่สุดคือ ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตามด้วยเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ โดยผู้บริหารบจ. ในสัดส่วน 78% เห็นว่าเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวจะส่งต่อการดำเนินงานของบริษัทบ้าง ส่วนอีก 20% และ 2% เห็นว่าจะมีผลกระทบต่อบริษัทอย่างรุนแรง และไม่มีผลกระทบต่อบริษัทแต่อย่างใด

พร้อมกันนี้ ยังได้ประเมินว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และธุรกิจของบริษัทจะมีแนวโน้มที่แย่ลง จากช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มแย่ลงมากในอีก 6 เดือนข้างหน้าคือ คือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และเทคโนโลยี อสังหาริมทรัพย์ สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเกษตร

ด้านการเปรียบเทียบคำสั่งซื้อสินค้าในปัจจุบันกับช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานั้น ผู้บริหารบจ.มองว่าจะแย่ลงบ้าง 43% แย่ลงมาก 21% เหมือนเดียว 22% และดีขึ้นบ้าง 13% ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าคลังมีแนวโน้มที่มีมากเกินไปในปัจจุบันเมื่อเทียบกับ 6 เดือนที่ผ่านมา

“จากการสำรวจพบผู้บริหารบจ. แสดงความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของตนในอีก 6-12เดือนข้างหน้า เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยคือ การขยายตัวเศรษฐกิจโลก เสถียรภาพทางการเมือง แต่ลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจในครั้งที่ผ่านมาในเดือนสิงหาคม 2551 แต่ความกังวลเรื่องกำลังการซื้อขายในประเทศและการแข่งขันกับต่างประเทศกลับเพิ่มมากขึ้น”

ขณะเดียวกันผู้บริหารเห็นว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า อาจจะมีการลดจำนวนคนงานคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 21% แต่อีก 63% คิดว่าจะคงจำนวนการจ้างงานไว้เท่าเดิม และอีก 16% จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการชะลอตัวเศรษฐกิจนั้น คือ การลดการจ้างงานเพิ่ม ลดการจ้างงานล่วงเวลา ชะลอการลงทุนเพิ่ม ลดพนังงานชั่วคราว และปรับราคาสินค้า ส่วนการลดจำนวนพนักงานประจำนั้นซึ่งมีการดำเนินการลดไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการเพียง 22% แต่มีผู้ตอบถึง 78% การลดพนักงานประจำไม่ได้อยู่ในแผนงาน

ส่วนการสำรวจด้านการบริโภคมีผู้บริหารบจ.คิดเป็น 88% มองว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะลดลงอีกในช่วง 6 เดือนข้างหน้าซึ่งมีเพียง 4% ที่มองว่าจะดีขึ้นบ้างและมี 8% ที่มองว่าจะเท่าเดิม โดยนโยบายที่ผู้บริหารบจ. มองว่ารัฐบาลควรนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่สำคัญมากที่สุดคือ การเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ คิดเป็น 43% การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลคิดเป็น 17% การกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการประชานิยม 13% การลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม 11% การเร่งปล่อยสินเชื่อของธนาคารรัฐ 9% ส่วนเรื่องการลดดอกเบี้ยและการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำมีน้อยมาก

ขณะที่จากการสำรวจเรื่องการลงทุนของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า มีสัดส่วนมากถึง 39% จะลงทุนน้อยลงเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนมีสัดส่วนแค่ 17% ส่วนที่เหลืออีก 24% และ 33% จะลงทุนเท่าเดิม และเพิ่มขึ้นบ้างตามลำดับ

ส่วนแผนการระดมทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้น บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะใช้แหล่งเงินจากการขอสินเชื่อธนาคารในประเทศและกำไรสะสม แม้ว่าสถาบันการเงินจะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะที่การระดมทุนด้วยการเพิ่มทุน การขอสินเชื่อจากต่างประเทศ และการออกหุ้นกู้ ลดลงเหลือ 18% จากครั้งก่อนอยู่ที่ 35%

ด้านการส่งออก สัดส่วน 70% คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง และมีเพียง 10% มองแนวโน้มดีขึ้น พร้อมทั้งเสนอทางออกได้ด้วยการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การหาตลาดส่งออกใหม่ๆ รวมทั้งการหันมาเจาะตลาดในประเทศ

สำหรับสภาพคล่องในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่ยังมองว่าสภาพคล่องยังอยู่ในระดับปกติ คือเป็นสัดส่วน 76% สภาพคล่องตึงตัว 14% ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้การค้าของลูกค้าจะเรียกเก็บเงินได้ยากขึ้นสูงถึง 38% เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่ 32% สืบเนื่องจากไม่สามารถเสนอขายหุ้นกู้ได้ ถูกเร่งรัดหนี้สินให้คืนก่อนกำหนด ถูกปรับลดสินเชื่อที่ให้โดยธนาคารพาณิชย์ และไม่สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้

พร้อมกันนี้ ผู้บริหารบจ. ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยผู้บริหารบจ. ความพอใจกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่คิดเป็น 50% รู้สึกเฉยๆ 37% ด้านนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่น่าพอใจ 54% รู้สึกเฉยๆ 37% และหากเปรียบเทียบการความพอใจ 3 ครั้งที่ผ่านมา คือ ในเดือนพฤษภาคม สิงหาคม และมกราคม พบว่าการสำรวจครั้งนี้ผู้บริหารมีความพอใจมีสัดส่วนสูงที่สุด จากนโยบายที่รัฐบาลออกมา

สำหรับนโยบายที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ การดูแลเสภียรภาพทางการเมือง และการแก้ปัญหาสภาพคล่อง จากต่างการสำรวจครั้งก่อนที่ต้องการให้ดูแลเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุด ตามด้วยการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ขณะที่เสถียรภาพทางการเมืองในช่วง 3 เดือนข้าง ผู้บริหารคิดว่าเหมือนเดิม 45% มีเสถียรภาพมากขึ้น 36% และเสถียรภาพลดลง 18% โดยในสัดส่วน 46% เห็นว่ารัฐบาลจะมีอายุได้ 1% ขณะที่สัดส่วน 27% มั่นใจจะอยู่ได้ 2 ปีขึ้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น