xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติเล็งหั่น GDP ปี 52 ห่วงปัญหา ศก.ยืดเยื้อ กระทบขาดดุลบัญชีฯ NPL

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.รับเล็งปรับลดประมาณการ GDP ปี 2552 ห่วงปัญหา ศก.โลกยืดเยื้อ กระทบขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อาจลุกลาม NPL พุ่งขึ้น หาก ศก.ไทย เกิดการชะลอดตัว

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “มาตรการการเงินและสถาบันการเงินไทยในภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน” โดยคาดว่า การปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2552 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไป น่าจะออกมาลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในระดับ 0-2% เนื่องจากเมื่อเทียบกับการประชุม กนง.ครั้งก่อน ภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้มีข้อมูลหลายด้านที่แย่ลง โดยเฉพาะจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2551 ที่ขยายตัวติดลบ และสถานการณ์ล่าสุดในเดือนมกราคม 2552 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ยังแสดงภาวะที่ไม่ดีขึ้น

“แบงก์ชาติจะพยายามดูข้อมูลเหล่านี้ ยอมรับว่า ตัวเลขแสดงถึงการชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2551 การแก้ไขต้องทำต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในหลายๆ เรื่อง คาดการณ์ว่าจีดีพีน่าจะต่ำกว่าเดิม และหลายสำนักมองในแง่ร้ายมากกว่าต้นปี”

รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า จีดีพีของไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวติดลบตามภาวะเศรษฐกิจโลก เพราะปัญหาวิกฤติในระดับโลกค่อนข้างหนักและมีความรุนแรงจากที่เคยประสบมาในช่วง 70 ปี โดยเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2552-2553 ส่วนจะฟื้นตัวได้เมื่อใดขึ้นกับความสามารถในการดูแลปัญหา และการประคับประคองและการปรับตัว

“ปัญหาครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก และมีความซับซ้อนของปัญหามาก และเป็นปัญหาจากภาคเศรษฐกิจจริงและสถาบันการเงิน”

นายบัณฑิต กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่ยืดเยื้อมา 18-19 เดือนแล้วกระทบต่อไทย เนื่องจากทำให้เงินลงทุนต่างประเทศไหลกลับ เงินบาทอ่อนค่า และกดดันราคาสินค้าส่งออกให้ลดลง และที่เห็นได้ชัดเจนคือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งในปี 2551 ลดลงไปถึง 43% และปีนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันลดไปอีก 3%

อีกทั้งกระทบสภาพคล่องในประเทศ ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้น และจากที่บริษัทเอกชนต้องหันมาระดมในประเทศมากขึ้น แต่สภาพคล่องในไทยไม่ถึงกับมีปัญหา เพราะภาคครัวเรือนยังมีสภาพคล่อง รวมทั้งมีการอัดฉีดผ่านธปท. และการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยขณะนี้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก รวมตั๋วแลกเงินในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อยู่ที่ 85.2%

นายบัณฑิต กล่าวว่า นโยบายของภาครัฐมุ่งมั่นจะช่วยเหลือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในขณะนี้ แต่การใช้มาตรการต่างๆ ที่ผ่านมา ยังแค่ช่วยบรรเทาปัญหา ซึ่งในส่วนของ ธปท.ก็ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับลดดอกเบี้ยตาม ก็จะส่งผลให้ภาคธุรกิจมีช่องทางมากขึ้น และสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ

สำหรับกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ยังปรับลดดอกเบี้ยตามไม่มากนัก รองผู้ว่าการ ธปท.มองว่า ขึ้นกับการปรับตัวของแต่ละธนาคาร แต่ขณะนี้เห็นว่า ดอกเบี้ยเงินฝากปรับลดลงมากเพียงพอกับภาวะเศรษฐกิจแล้ว การฝากเงินของเอกชนยังเป็นเสาหลักของสภาพคล่องในประเทศ ดังนั้น จากนี้ไปการปล่อยสินเชื่อขึ้นกับสภาพคล่องที่มี ดังนั้น เชื่อว่า จะทำให้เกิดการแข่งขันให้เกิดดอกเบี้ยเงินกู้ สเปรดดอกเบี้ยน่าจะลดลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถลดดอกเบี้ยเงินกู้ได้บ้างในบางประเภท

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า หากเศรษฐกิจโลกยังยืดเยื้อก็จะกระทบกับระดับเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งหากส่งออกแย่ลงด้วยก็อาจจะเห็นดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล จากขณะนี้ที่ยังเกินดุลอยู่ โดยอาจจะกระทบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งต่อไปยังภาพเศรษฐกิจโดยรวมให้ชะลอตัวลง กระทบการใช้จ่าย ซึ่งมีผลต่อการชำระหนี้ภาคธุรกิจ เร่งการก่อตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในที่สุดกจะกระทบกับฐานะธนาคารพาณิชย์

หากเศรษฐกิจชะลอตัว ผลกระทบอันดับหนึ่งคือความสามารถของการทำกำไรของภาคธุรกิจก็จะลดลง และกระทบต่อการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ซึ่งจากการศึกษาของ ธปท.พบว่าหากเศรษฐกิจชะลอตัว NPL จะเร่งตัวขึ้น โดย 2 เดือนแรกของปีนี้ NPL เร่งตัวขึ้นสูงมาอยู่ที่ 5.9% ของสินเชื่อรวม จาก 5.6% ณ สิ้น ธันวาคม 2551 หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท

ช่วงต่อไปคือ การบริหารจัดการ NPL ซึ่งมองว่า ธนาคารพาณิชย์อยู่ในวิสัยที่จัดการได้ และส่วนใหญ่ก็ปรับตัวด้วยการให้ความสำคัญกับการดูแลลูกหนี้ ลดเป้าการเติบโตสินเชื่อปีนี้ตามเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ และดูแลลูกค้าเก่า โดยมีการปรับลดวงเงินสินเชื่อ ตั้งสายงานปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะเข้ามาเสริม เพื่อช่วยเหลือและดูแลลุกหนี้ได้ดีขึ้น

ขณะที่ ธปท.เองก็ช่วยธนาคารพาณิชย์ด้วยการให้นับ NPL เป็นรายบัญชี แทนที่จะนับทั้งบริษัท และให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแก้ไขลูกหนี้ที่มีศักยภาพด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ยังไม่เกิดปัญหา NPL

“NPL จะเร่งตัวขึ้น 2 หลักหรือไม่ขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจ หากสามารถประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้แย่ลง ก็น่าจะดูแล NPL ได้ ตอนนี้แบงก์ก็ดูแลให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มผลิตที่โยงกับการส่งออก และการบริการ เพื่อให้มีศักยภาพในการปรับตัวได้เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อ NPL ขณะที่พบว่า NPL สินเชื่อส่วนบุคคลก็เร่งตัวขึ้นเช่นกัน”

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารทีมนโยบายการค้าและเงินทุน สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวในการเสวนา “โคตรวิกฤต ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย : ถึงเวลาเผชิญหน้าความจริง” โดยยอมรับว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถือเป็นโคตรวิกฤต แต่ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด เนื่องจากยังมีหลายปัญหาในสหรัฐฯ ที่รอเวลาปะทุขึ้นอีกรอบ ทั้งปัญหาหนี้เสียในสถาบันการเงิน การปลดคนงาน ทำให้เกิดการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจจริง ขณะที่การอัดเม็ดเงิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจในรอบใหม่ ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น และยังต้องจับตามองต่อว่า รัฐบาลจะสามารถระบายพันธบัตรที่ออกมาในรอบใหม่ได้หรือไม่

ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มองว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ไม่มีทางเลือก ซึ่งทุกประเทศจะต้องบริหารนโยบายทางการคลังและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดการกีดกันทางการค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น