xs
xsm
sm
md
lg

"ถาม-ตอบ"ว่าด้วยการเลือกตั้ง ในพรรคแกนนำรัฐบาลมาเลเซีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - รองนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค กำลังเดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายเพื่อขึ้นเป็นประมุขฝ่ายบริหารของประเทศมาเลเซีย เริ่มต้นด้วยการประชุมใหญ่ประจำปีของพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ(อัมโน) ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ (24) จนถึงวันพฤหัสบดี(26)

พรรคอัมโน เป็นแกนนำรัฐบาลผสมของมาเลเซีย อันเกิดจากการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของพรรคการเมืองต่างๆ จากหลากหลายเชื้อชาติ จนเป็น "แนวร่วมแห่งชาติ" (บาริซาน เนชันแนล) อัมโนกำหนดจะจัดการเลือกตั้งตำแหน่งผู้นำภายในพรรควันพฤหัสบดีนี้ (26) โดยที่จะมีลงมติเพื่อรับรองนาจิบ ผู้เข้าช่วงชิงตำแหน่งประธานพรรคคนใหม่แบบไร้คู่แข่ง หลังจากนั้นในราวต้นเดือนหน้า เขาก็จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของมาเลเซีย

ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ประธานและรองประธานพรรคอัมโน จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ขณะเดียวกัน ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากอัมโนก็จะครองตำแหน่งรัฐมนตรี ถึงราวๆ 2 ใน 3 ของคณะรัฐบาลผสม

แกนนำพรรคหลายคนออกคำเตือนว่า ความล้มเหลวในการปฏิรูปด้านต่าง ๆ จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลผสมของมาเลเซีย ซึ่งผูกขาดการปกครองประเทศยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยอาจเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่มีกำหนดจะจัดขึ้นในปี 2013

ต่อไปนี้คือคำถามคำตอบบางประการเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคอัมโน

**นาจิบจะได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกพรรคอย่างท่วมท้นหรือไม่?**

ว่าที่นายกรัฐมนตรีผู้นี้สามารถกุมบังเหียนพรรคอัมโนได้แข็งแกร่งเพียงใด อาจวัดได้จากว่า ตัวแทนพรรคจำนวน 2,509 คน จะลงคะแนนสนับสนุนให้พวกพันธมิตรของนาจิบขึ้นไปรั้งตำแหน่งระดับสูง ๆ ของพรรคหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วงชิงตำแหน่งรองประธานพรรค ซึ่ง มูห์ยิดดีน ยัสซิน รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศ ถูกมองว่าเป็นตัวเลือกของนาจิบ อย่างไรก็ตาม จากการที่มีผู้สมัครในตำแหน่งนี้คนหนึ่งถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติ อาจส่งผลให้ตัวแทนพรรคบางคนย้ายข้างไปสนับสนุนปรปักษ์ของนาจิบ นั่นคือ มูฮัมมัด มูฮัมมัด ตาอิบ

**อัมโนจะต้องปฏิรูปอะไรบ้าง?**

การเลือกตั้งภายในพรรคครั้งนี้ ยังคงถูกสั่นคลอนด้วยการซื้อเสียง ซึ่งทางอัมโนเองยอมรับว่า ไม่มีทางจะสกัดกั้นได้ หนทางปฏิรูปอย่างหนึ่งที่พอเป็นไปได้คือ การเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง อันจะทำให้การติดสินบนลำบากขึ้น

การปฏิรูปที่แข็งขัน อาจล้มล้างระบบอุปถัมภ์ของพรรคอัมโน โดยที่ผ่านมาบรรดาสมาชิกพรรคต่างพึ่งพาอาศัยการได้รับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยสัญญาเหล่านั้นถูกแจกจ่ายไปให้เหล่าสมาชิกพรรคเพื่อสถาปนาความจงรักภักดีทางการเมือง นอกจากนั้น เมื่อมีการกวาดล้างการคอร์รัปชั่น บ่อยครั้งก็จะถูกวิพากษ์ว่ากระทำไปอย่างเลือกปฏิบัติและอยุติธรรม

งานที่ยากที่สุด อยู่ที่การปฏิรูป"นโยบายเศรษฐกิจใหม่" (เอ็นอีพี) ซึ่งประเคนสิทธิพิเศษต่าง ๆ ให้กับชาวมาเลย์ที่เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อลดช่องว่างด้านความร่ำรวยในหมู่เชื้อชาติ ทว่านโยบายนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักว่า ก่อให้เกิดการทุจริตและฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ

แต่สำหรับผู้แทนพรรคแล้ว นโยบายเศรษฐกิจใหม่ ถือเป็นแกนกลางสำคัญในการดำรงอยู่ของพรรคอัมโน และไม่มีผู้นำคนใด รวมทั้งนาจิบด้วย กล้าที่จะล้มล้างนโบายดังกล่าว

ผู้สมัครพรรคอัมโนทุกคน ต่างอ้างต่อสาธารณชนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำการเปลี่ยนแปลง แต่เอาเข้าจริงแล้ว มีนักปฏิรูปที่สามารถชี้ตัวได้น้อยมาก ๆ ในการเลือกตั้งภายในของอัมโนคราวนี้

**มีใครที่น่าสนใจจับตาบ้างในการเลือกตั้งคราวนี้?**

อัมโนมีตำแหน่งผู้ช่วยประธานพรรครวม 3 ตำแหน่ง เนื่องจากคนที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีในอนาคต ต่างก็ต้องผ่านตำแหน่งนี้กันมาก่อนทั้งนั้น จึงเป็นที่สนใจจับตามองเช่นกัน โดยในปีนี้มีผู้ลงแข่งขันในตำแหน่งนี้รวม 8 คน

ตัวเต็งอันดับหนึ่งย่อมต้องเป็น รัฐมนตรีกระทรวงกิจการอิสลามฮาฮิด ฮามิดี ผู้นำสายอนุรักษ์นิยมและทรงพลังของพรรคอัมโน ซึ่งถูกมองว่าเป็นพันธมิตรสำคัญของนาจิบ , รัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา คอลิด นอร์ดีน จากรัฐยะโฮร์ ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศสิงคโปร์

ผู้สมัครคนอื่น ๆ คือ รัฐมนตรีกระทรวงสมานฉันท์,วัฒนธรรม,กีฬา และมรดกประเพณี ชาฟี อัคดัล ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองจากรัฐซาบาห์ และฮิชัมมุดดีน ฮุซเซน รัฐมนตรีกระทรวงศึกษา ซึ่งเป็นหลานของนาจิบ

การประชุมใหญ่ครั้งนี้ยังอาจแสดงร่องรอยบางอย่างว่า อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด จะกลับสู่สังเวียนการเมืองหรือไม่ โดยอาจจะพร้อมกับสหายคนสนิทอย่าง ดาอิม ซัยนูดดีน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

ชัยชนะอันแข็งแกร่งของมุคลิซ บุตรชายของมหาเธร์ ซึ่งกำลังช่วงชิงตำแหน่งประธานเยาวชนพรรคอัมโน อาจส่งสัญญาณว่า สมาชิกพรรคยอมรับการกลับมาของอดีตผู้นำคนสำคัญ

หากมหาเธร์ คืนสู่ถนนสายการเมืองอีกครั้ง อาจเป็นสัญญาณให้เห็นการกลับมาของ "ลัทธิมหาเธร์" - - การปกครองแบบเผด็จการเด็ดขาดของรัฐบาล ซึ่งแทบจะไม่อดทนอดกลั้นกับความขัดแย้งทางการเมือง และสนับสนุนให้ภาครัฐเข้าแทรกแซงทางเศรษฐกิจด้วยการดำเนินโครงการขนาดมโหฬาร
กำลังโหลดความคิดเห็น